วันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2560
พระอนาคตวงศ์
พระอนาคตวงศ์นี้ เป็นเรื่องกล่าวถึงประวัติย่อของพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย ผู้บำเพ็ญพระบารมีในชาติหนึ่ง
ซึ่งปรากฏเป็นยอดปรมัตถบารมีอันประเสริฐ เกิดสำเร็จผล ทรงพระอภินิหาร ประกอบด้วยพระเดชามหานุภาพ
เป็นพุทธสมบัติที่จะมาอุบัติตรัสเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิบพระองค์ในโลก ณ อนาคตกาลภายหน้า นั้นคือ
– พระศรีอาริยเมตไตรย์ พระองค์หนึ่ง
– พระราม พระองค์หนึ่ง
– พระธรรมราช พระองค์หนึ่ง
– พระธรรมสามี พระองค์หนึ่ง
– พระนารท พระองค์หนึ่ง
– พระรังสีมุนีนาถ พระองค์หนึ่ง
– พระเทวเทพ พระองค์หนึ่ง
– พระนรสีหะ พระองค์หนึ่ง
– พระติสสะ พระองค์หนึ่ง
– พระสุมงคล พระองค์หนึ่ง
ซึ่งต่อจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราไป โดยลำดับกัปป์ นับตั้งแต่ภัทรกัปป์นี้เป็นต้นไป
พระพุทธเจ้าสิบพระองค์นี้ ทรงสร้างพระบารมีสิบทัศครบบริบูรณ์แล้ว จึงทรงพระคุณ มีอภินิหารต่างๆ ยิ่งหย่อนกว่ากัน ด้วยสามารถพระบารมีนั้นๆของพระองค์ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ตรัสไว้แก่พระสารีบุตร โดยพุทธภาษิตบรรยาย จัดเป็นพุทธประวัติกาลอนาคตเรื่องหนึ่งฯ
กัณฑ์ที่ ๑
( เอกํ สมยํ ภควา สาวตฺถิยํ วิสาขาย สตฺตวีสติโกฏิธนปริจฺจาเคน การิเต
ปุพฺพาราเม วสฺสาวาสํ วสนฺโต อชิตตฺเถรํ อารพฺภ ทส โพธิสตฺตาติ อิมํ ธมฺมเทสนํ กเถสีติฯ )
( บัดนี้ จะได้วิสัชนาในเรื่อง พระอนาคตวงศ์ โดยพุทธภาษิตปริยาย มีเนื้อความตามพระบาลีว่า เอกํ สมยํ )
***บาลีและข้อความในวงเล็บทุกแห่งได้เพิ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๔ เพื่อให้เทศน์ได้สะดวก***
พระศรีอาริยเมตไตร (พระอชิตเถระ)
ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้าเสด็จยับยั้งอาศัยใกล้กรุงสาวัตถีมหานคร วสนฺโต เมื่อสมเด็จพระชินวรผู้ทรงญาณสำราญพระอิริยาบถ เข้าพรรษาอยู่ในบุพพาราม อันพระวิสาขา สร้างถวายสิ้นทรัพย์ ๒๗ โกฏิฯ
ครั้งนั้น พระองค์ทรงปรารภซึ่งพระอชิตเถระ ผู้หน่อบรมพุทธางกูรอริยเมตไตรยเจ้าให้เป็นเหตุ พระโลกเชษฐ์จึงตรัสพระธรรมเทศนา สำแดงซึ่งพระโพธิสัตว์ทั้ง ๑๐ องค์ อันจะมาตรัสเป็น องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลฯ ครั้งนั้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถรเจ้า จึงกราบทูลอาราธนา พระองค์ก็นำมาซึ่งอดีตนิทาน แห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าทั้ง ๑๐ พระองค์ ที่จะลงมาตรัสในอนาคตกาลเบื้องหน้าต่อไป
เป็นใจความว่า เมื่อศาสนาพระตถาคตครบ ๕๐๐๐ ปีแล้ว ฝูงสัตว์ก็มีอายุถอยลง คงอยู่ ๑๐ ปีเป็นอายุขัย ครั้งนั้นแล จะบังเกิดมหาภัยเป็นอันมาก มีสัตถันตะระกัปป์ มนุษย์ทั้งหลายจะวุ่นวายเป็นโกลาหล เกิดรบพุ่งฆ่าฟันซึ่งกันและกัน จะจับไม้และใบหญ้าก็กลับกลายเป็นหอก ดาบ แหลน หลาว อาวุธน้อยใหญ่ ไล่ทิ่มแทงกัน ถึงซึ่งความฉิบหายเป็นอันมาก ฝูงมนุษย์ทั้งหลายที่มีปัญญา ก็หนีไปซุกซ่อนตัวอยู่ในซอกห้วย หุบเขา เมื่อพ้น ๗ วันล่วงไปแล้ว มนุษย์ทั้งหลายที่เร้นซ่อนอยู่นั้น เห็นสงบสงัดเสียงคนก็ออกมาจากที่ซ่อนเร้น ครั้นเห็นซึ่งกันและกัน ก็มีความสงสารรักใคร่เป็นอันมาก เข้าสวมสอดกอดรัดร้องไห้กันไปมา บังเกิดมีความเมตตากรุณากันมากขึ้นไป ครั้นตั้งอยู่ในเมตตาพรหมวิหาร แล้วก็อุตสาหะรักษาศีล ๕ จำเริญกรรมฐานภาวนาว่า อยํ อตฺตภาโว อันว่าร่างกายของอาตมานี้ อนิจฺจํ หาจริงมิได้ ทุกฺขํ เป็นกองแห่งทุกข์ฝ่ายเดียว อนตฺตา หาสัญญา สำคัญมั่นหมายมิได้ ด้วยกายอาตมาไม่มีแก่นสารฯ
…..เมื่อมนุษย์ทั้งหลาย ปลงสัญญาเห็นในกระแสพระกรรมฐานภาวนาดังนี้เนืองๆ อายุของมนุษย์ทั้งหลายก็วัฒนาจำเริญขึ้นไป ที่มีอายุ ๑๐ ปีเป็นอายุขัยนั้น ค่อยทวีขึ้นไปถึง ๒๐ ปีเป็นอายุขัย ค่อยทวีขึ้นไปทุกชั้นทุกชั้น จนอายุได้ ร้อย พัน หมื่น แสน โกฏิ จนถึงอสงไขยหนึ่ง ครั้นนานไปเห็นว่าไม่รู้จักความตายแล้ว ก็มีความประมาท มิได้ปลงใจลงในกอง ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา อายุก็ถอยน้อยลงมาทุกทีจนถึง ๘ หมื่นปี ฝนก็ตกเป็นฤดูคือ ๕ วันตก ๑๐ วันตก ในชมพูทวีปทั้งปวงมีพื้นแผ่นดินราบคาบสม่ำเสมอเป็นอันดีฯ
ครั้งนั้น กรุงพาราณสีเปลี่ยนนาม ชื่อว่า เกตุมมะดี โดยยาวได้ ๑๖ โยชน์ โดยกว้างได้ ๑ โยชน์ มีไม้กัลปพฤกษ์เกิดทั้ง ๔ ประตูเมือง มีแก้ว ๗ ประการ ประกอบเป็นกำแพงแก้ว ๗ ชั้นโดยรอบพระนคร ครั้งนั้น มหานฬกาลเทวบุตร ก็จุติลงมาเกิดเป็นสมเด็จบรมจักรพรรตราธิราช ทรงพระนามว่า พระยาสังขจักร เสวยศิริราชสมบัติในเกตุมมะดีมหานคร ในท่ามกลางเมืองนั้นมีปรางค์ปราสาททองอันแล้วไปด้วยแก้ว ๗ ประการ ผุดขึ้นมาแต่มหาคงคา ลอยมายังนภาดลอากาศเวหา มาตั้งอยู่ในท่ามกลางพระนคร ปรางค์ปราสาทนี้ แต่กาลก่อนเป็นปรางค์ปราสาทแห่งสมเด็จพระเจ้ามหาปะนาท ครั้นสิ้นบุญพระเจ้ามหาปะนาทแล้ว ปรางค์ปราสาทนั้นก็จมลงไปในคงคา เมื่อสมเด็จบรมจักรจอมทวีปผู้ทรงพระนามว่า พระยาสังขจักร ได้เสวยราชสมบัติในเกตุมมะดีนั้น ปรางค์ปราสาทก็ผุดขึ้นมาแต่มหาคงคาด้วยอานุภาพแห่งบรมจักร ประดับไปด้วยหมู่พระสนมแสนสาวสุรางค์ทั้งหลายประมาณ ๘ หมื่น ๔ พัน พระองค์มีพระราชโอรสประมาณพันพระองค์ พระราชโอรสผู้ใหญ่นั้น ทรงพระนามว่า อชิตราชกุมาร เจ้าอชิตราชกุมารนั้น เป็นปรินายกแก้ว แห่งสมเด็จพระราชบิดาผู้เป็นพระยาบรมสังขจักร อันบริบูรณ์ไปด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ
จักรแก้ว ๑
นางแก้ว ๑
แก้วมณีโชติ ๑
ช้างแก้ว ๑
ม้าแก้ว ๑
คฤหบดีแก้ว ๑
ปรินายกแก้ว ๑
อันว่าสมบัติบรมจักรนั้นย่อมมีทุกสิ่งทุกประการ เป็นที่เกษมสานต์ยิ่งนัก เหลือที่จะพรรณนาในกาลนั้นฯ
ฝ่ายว่า มหาปุโรหิตผู้ใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าสังขจักรนั้น เป็นมหาพราหมณ์ประกอบไปด้วยอิสริยยศเป็นอันมาก หาผู้จะเปรียบเสมอมิได้ มีนามปรากฏว่า สุตพราหมณ์ นางพราหมณีผู้เป็นภรรยานั้นมีนามว่า นางพราหมณวดีฯ ในกาลนั้น สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ พระศรีอาริยเมตไตรยเจ้า รับอาราธนานิมนต์แห่งฝูงเทพยดาทั้งหลาย ก็จุติลงมาจากสวรรค์เทวโลก ลงมาถือเอาปฏิสนธิในครรภ์แห่งนางพราหมณวดี ภรรยาแห่งมหาปุโรหิตพราหมณ์ผู้ใหญ่ ในวันบัณณสี อุโบสถ เพ็ญเดือน ๘ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลาปัจจุสสมัยใกล้รุ่ง พร้อมด้วยอัศจรรย์ทั้งหลาย ๑๒ ประการ เทพยดาพากันกระทำสักการบูชาดังห่าฝนตกลงในกลางอากาศ แล้วก็มีปรางค์ปราสาททั้ง ๓ ผุดขึ้นมา เพื่อจะให้เป็นที่สำราญ แห่งพระบรมโพธิสัตว์เจ้า
ปราสาท ๑ ชื่อว่า ศิริวัฒนะ
ปราสาท ๑ ชื่อว่า สิทธัตถะ
ปราสาท ๑ ชื่อว่า จันทกะ
ปรางค์ปราสาททั้ง ๓ นี้เป็นที่จำเริญพระศิริสวัสดิมงคล ควรจะให้สำเร็จประโยชน์ทุกประการ ปรากฏงามดังดวงพระจันทร์ แล้วหอมฟุ้งไปด้วยกลิ่นอันหอมมิรู้ขาด เดียรดาษไปด้วยนางนาฏพระสนมประมาณ ๗ แสน ส่วนสมเด็จพระอัครมเหสีแห่งสมเด็จพระศรีอาริยเมตไตรย บรมโพธิสัตว์เจ้านั้น ทรงพระนามว่า พระจันทมุขี เป็นประธานแห่งนางบริวารทั้ง ๗ แสน มีพระราชโอรสองค์ ๑ ทรงพระนามว่า พราหมณ์วัฒนกุมาร เมื่อพระมหาบุรุษผู้ประเสริฐ ทรงพระสำราญแรมอยู่ในปรางค์ปราสาททั้ง ๓ ควรแก่ฤดูโดยนิยมดังนี้ฯ จนพระองค์มีพระชนม์ได้ ๘ หมื่นปี แล้วจึงเสด็จขึ้นสู่รถแก้วอันเป็นทิพย์วิมานมีศิริหาเสมอมิได้ เสด็จไปประพาสอุทยานทอดพระเนตรเห็นจตุรนิมิตทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นเทวทูตยังธรรมสังเวชให้เกิดขึ้น ก็มีพระทัยน้อมไปในบรรพชา พิจารณาเห็นเพศสมณะนั้นเป็นอารมณ์ ในขณะนั้นอันว่าปรางค์ปราสาทแก้วซึ่งทรงพระสำราญยับยั้งอยู่นั้น ก็ลอยไปในอากาศเวหา พร้อมทั้งพระราชโอรส และหมู่นิกรอนงค์นางกัลยาทั้งหลายก็ไปกับปรางค์ปราสาทนั้น
ครั้งนั้นเปรียบประดุจดังว่า พระยาสุวรรณราชหงส์ทองอันบินไปในอากาศเวหา ฝ่ายฝูงเทพยดาทั้งหลายในหมื่นจักรวาล ก็ชวนกันถือเครื่องสักการบูชา เหาะตามกันมากระทำสักการบูชาในอากาศเวหา แน่นเนื่องกันมาเป็นอเนกอสงไขย ทั้งท้าวพระยามหากษัตริย์ทั้งหลาย ๘ หมื่น ๔ พัน พระนครก็ดี และชาวนิคมประจันตประเทศชนบททั้งหลายก็ดี ก็ชวนกันมากระทำสักการบูชาด้วยดอกไม้และของหอม มีประการต่างๆเต็มเดียรดาษกลาดเกลื่อนไปทั้งชมพูทวีป เหล่าพวกอสูรทั้งหลาย ก็เข้าแวดล้อมพิทักษ์รักษาปรางค์ปราสาทฯ ฝ่ายพระยานาคราชนั้น กระทำสักการบูชาด้วยแก้วมณี พระยาสุวรรณราชปักษีกระทำสักการบูชาด้วยแก้ว อันเป็นเครื่องประดับตน พระยาคนธรรพ์ทั้งหลายนั้น กระทำสักการบูชาด้วยเครื่องทิพย์ดุริยางค์ ฟ้อนรำ มีประการต่างๆฯ
ปางเมื่อองค์สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรยเจ้าเสด็จออกบรรพชานั้น ฝูงเทพยดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ และ มนุษย์ นาค ครุฑ คนธรรพ์ทั้งหลาย กระทำสักการบูชา ทั้งพระยาบรมจักรพรรตราธิราชเจ้าผู้ประเสริฐ ก็พร้อมด้วยแสนสาวสนมในทั้งปวง และโยธาหาญ หมู่จตุรงค์องค์พยุหะเสนาอเนกนับมิได้ เสด็จไปที่ใกล้แห่งสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์
ครั้งนั้นมหาชนทั้งหลายทั้งปวง มีความปรารถนาจะทรงบรรพชาแล้วก็ลอยไปในอากาศ กับด้วยพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ด้วยเดชานุภาพแห่งบรมจักร และอานุภาพแห่งพระศรีอาริยเมตไตรยบรมโพธิสัตว์นั้น ครั้นเสด็จถึงควงไม้พระศรีรัตนมหาโพธิ์ คือไม้กากะทิงแล้ว ปรางค์ปราสาทแก้วก็เลื่อนลอยลงจากอากาศใกล้ในที่ปริมณฑลไม้มหาโพธินั้น ฝ่ายท้าวมหาพรหมก็เชิญซึ่งพานผ้ากาสาวพัสตร์ กับเครื่องบริขารทั้ง ๘ น้อมเข้าไปถวายสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ แล้วพระองค์จึงชักเอาพระแสงดาบแก้วตัดพระเกศเกล้าให้ขาด แล้วก็โยนขึ้นไปในอากาศเวหา ถือเครื่องบริขารทั้ง ๘ ประการ ทรงเพศบรรพชาเสร็จแล้ว ส่วนว่าบริวารทั้งหลายทั้งปวงนั้น ก็ชวนกันบรรพชา บวชตามสมเด็จพระโพธิสัตว์เจ้าเป็นอันมาก ฝ่ายพระมหาบุรุษราช องค์พระศรีอาริยเมตไตรยเจ้านั้น กระทำความเพียรอยู่ที่ใกล้พระศรีมหาโพธิสิ้นประมาณ ๗ วัน ในเมื่อเวลาเย็นพระองค์ก็เสด็จเข้าไปสู่ควงไม้พระมหาโพธิ ขึ้นทรงนั่งเหนือรัตนอปราชิตบัลลังค์พระที่นั่งแก้ว แล้วทรงพระคำนึงระลึกถึงบุพพชาติของพระองค์ด้วย บุพเพนิวาสานุสติญาณ ทรงเห็นโดยลำดับกัน ประจักษ์แจ้งในปฐมยามฯ ครั้นล่วงเข้ามัชฌิมยามทรงเห็นซึ่ง จุติ-ปฏิสนธิ แห่งสัตว์ทั้งหลาย ด้วยทิพย์จักษุญาณฯ ครั้นล่วงไปในปัจฉิมยามที่สุดนั้น พระองค์พิจารณาซึ่งปัจจัยการ อันประกอบไปด้วยองค์ ๒ ประการ ตามกระแสพระปฏิจจสมุปบาทธรรม ด้วยสามารถอนุโลม ตรัสรู้ตลอดกัน ในลำดับนั้นก็ได้สำเร็จแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ ทรงพระนามว่า อรหังสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอาทิ ปรากฏเป็นพระพุทธคุณทั่วโลกธาตุ แล้วพระองค์ก็ยังมนุษย์ทั้งหลายประมาณแสนโกฏิ ให้ดื่มกินซึ่งน้ำอมฤตรสคือพระสัทธรรม
เห็นพระนิพพานอันมิได้รู้แก่ รู้ตาย เป็นธรรมาภิสมัย ให้บังเกิดแก่ฝูงเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย ได้ตรัสรู้มรรคและผลหาประมาณมิได้ฯ – และองค์พระศรีอาริยเมตไตรยเจ้าผู้ทรงพระภาคมีประเภทเป็นอันงามนั้น
– พระองค์มีพระวรกายสูงได้ ๘๘ ศอก
– พระองค์ใหญ่กว้างได้ ๒๕ ศอก
– ตั้งแต่พระบาทถึงพระชานุมณฑลมีประมาณ ๒๒ ศอก
– ตั้งแต่พระชานุมณฑลขึ้นไปถึงพระนาภีประมาณ ๒๒ ศอก
– ตั้งแต่พระนาภีขึ้นไปถึงพระรากขวัญทั้ง ๒ ประมาณ ๒๒ ศอก
– ตั้งแต่พระรากขวัญขึ้นไปถึงพระเศียรเกล้า ที่สุดยอดพระอุณหิส เปลวพระพุทธรัศมีนั้น ประมาณ ๒๒ ศอก เสมอกันทั้ง ๔ส่วน
– พระรากขวัญทั้ง ๒ แต่ละอันนั้นยาวได้ ๕ ศอก
– อันว่าพระหัตถ์ทั้ง ๒ ซ้าย-ขวานั้น ยาวได้ ๔๐ ศอก ( เข้าใจว่าความยาวจากหัวไหล่ถึงปลายนิ้วมือแต่ละข้าง ยาวได้ ๔๐ ศอก…..พีรจักร )
– ในระหว่างภายในแห่งพระพาหาทั้ง ๒ ซ้าย-ขวา นั้นมีประมาณ ๒๕ ศอก
– พระอังคุลีแต่ละอันยาวได้ ๕ ศอก
– ฝ่าพระหัตถ์แต่ละข้างกว้างได้ ๕ ศอก
– พระศอโดยกลมรอบมีประมาณ ๕ ศอก โดยยาวก็ ๕ ศอก
– พระโอษฐ์เบื้องบนเบื้องล่างกว้าง ๑๐ ศอกเสมอกัน เป็นอันดี
– พระชิวหาอยู่ภายในพระโอษฐ์ยาว ๑๐ ศอก
– พระนาสิกสูงยาวลงมาได้ ๗ ศอก
– ดวงพระเนตรทั้ง ๒ โดยกว้างได้ ๗ ศอก
– แววพระเนตรทั้ง ๒ ที่ดำ กลม เป็นปริมณฑลอยู่นั้น มีประมาณ ๕ ศอก
– พระขนงแต่ละข้าง ยาวได้ ๕ ศอก
– ในระหว่างพระขนงทั้ง ๒ กว้างได้ ๔ ศอก
– พระกรรณทั้ง ๒ แต่ละข้าง ยาวได้ ๗ ศอก
– ดวงพระพักตร์นั้นเป็นปริมณฑล กลมดังดวงพระจันทร์เมื่อวันเพ็ญ มีประมาณกลมได้ ๒๕ ศอก
– พระอุณหิสที่เวียนเป็นทักขิณาวัฏรอบพระเศียร เป็นเปลวพระพุทธรัศมีขึ้นไปนั้น โดยกลมรอบได้ ๒๕ ศอกฯ
…..ลำดับนี้ จะพรรณนาไม้พระศรีรัตนมหาโพธิต่อไป อันว่า ต้นไม้กากะทิง ที่เป็นไม้ศรีมหาโพธินั้น
– มีปริมณฑลไปได้ ๑๒๐ ศอก
– มีกิ่งทั้ง ๕ โดยรอบครอบนั้นก็ได้ ๑๒๐ ศอก
– แต่ต้นขึ้นไปปลายสุดกิ่งนั้นได้ ๒๔๐ ศอก โดยสูง โดยสะกัดเป็นปริมณฑลเหมือนกัน
– มีใบสดเขียวอยู่เป็นนิจจกาล
– ทรงดอกและเกสรหอมฟุ้งขจรมิรู้ขาด เปรียบประดุจดอกปาริชาติ ในดาวดึงสาสวรรค์ก็เหมือนกันฯ
สมเด็จพระสัพพัญญูองค์พระศรีอาริยเมตไตรยเจ้า ทรงทวัตติงสามหาปุริสลักษณะประกอบไปด้วยพระฉัพพรรณรังสี พระพุทธรัศมี ๖ ประการ สว่างออกจากพระสรีรกายเป็นอันงาม ประดุจดังท่อธารสุวรรณ ธาราน้ำทองอันไหลหลั่งออกมา เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ไปด้วยสุขทุกเมื่อ มีสติระลึกถึงพระพุทธคุณเป็นอารมณ์เนืองๆ ด้วยเดชานุภาพพระพุทธคุณนั้น มนุษย์ทั้งหลายได้บริโภคซึ่งโภชนาหารแต่เนื้อแห่งข้าวสาลี อันบังเกิดมีมาเอง ได้ประดับประดาสรีรกายและผ้านุ่งผ้าห่ม เครื่องอาภรณ์ต่างๆ แต่ต้นไม้กัลปพฤกษ์ ประพฤติเลี้ยงชีวิตเป็นบรมสุขฯ ปางเมื่อพระองค์ผู้ทรงสวัสดิภาคเป็นอันงาม ทรงพระนามว่า พระศรีอาริยเมตไตรยเจ้า ตรัสแสดงพระสัทธรรมเทศนา
พระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น มนุษย์และเทพยดาทั้งหลายได้ซึ่งธรรมาภิสมัย มรรคและผลธรรมวิเศษ ประมาณ ๓ แสนโกฏิฯ
อันว่าองค์พระศรีอาริยเมตไตรยเจ้า ทรงสร้างพระบารมีมาสิ้นกาลช้านานถึง ๑๖ อสงไขยกำไรแสนมหากัปป์ มีศีลบารมี ทานบารมี เป็นต้น เต็มบริบูรณ์ กองพระบารมีทั้งหลายที่สำเร็จเป็นองค์พระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้า นั้นคือ พระบารมีจองพระองค์ครั้ง ๑ ปรากฏชัดเจนเป็นปรมัตถบารมี อันยิ่งยอดกว่าพระบารมีทั้งปวงฯ สมเด็จพระพุทธเจ้าของเราจึงนำมาซึ่งอดีตนิทาน แห่งกองพระบารมีของสมเด็จพระศรีอาริยเมตไตรยมาตรัสพระสัทธรรมเทศนาแก่พระสารีบุตรเถรเจ้าว่า อตีเต กาเล ในกาลล่วงลับมาแล้วช้านาน มีองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระสิริมิตร ได้ตรัสในโลก
ครั้งนั้น องค์พระศรีอาริยเมตไตรย ได้เสวยศิริราชสมบัติ ในเมืองอินทปัตต์มหานคร ทรงพระนามว่าบรมสังขจักร มีแก้ว ๗ ประการ อยู่มาในกาลวันหนึ่ง พระเจ้าสังขจักรเสด็จทรงนั่งอยู่ภายใต้เศวตฉัตร มีพระทัยปรารถนาว่า ผู้ใดมาบอกข่าวว่า พระพุทธรัตนะพระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ บังเกิดมีแล้ว พระองค์จะสละศิริราชสมบัติบรมจักร พระราชทานให้แก่บุคคลผู้นั้นแล้ว พระองค์ก็จะเสด็จพระราชดำเนินไปยังองค์สมเด็จพระพุทธเจ้า ในกาลนั้น ยังมีกุลบุตรเข็ญใจผู้หนึ่ง ไปบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ในพระพุทธศาสนา ด้วยมารดาของสามเณรเป็นทาสทาสีอยู่ในตระกูลหนึ่ง สามเณรนั้นคิดแสวงหาทรัพย์จะไปให้แก่มารดา ให้พ้นจากทาสทาสี จึงเที่ยวไปโดยลำดับจนถึงกรุงอินทปัตต์มหานคร ฝูงมหาชนชาวพระนคร ไม่รู้จักว่าสามเณรเป็นอย่างไร ครั้นเห็นเข้าก็สงสัยว่าเป็นมหายักษ์ ก็พากันจับไม้ไล่ทุบตีสามเณรฯ สามเณรนั้นก็กลัว วิ่งหนีมหาชนเข้าไปจนถึงพระราชวัง ไปยืนอยู่ตรงพระพักตร์ของพระองค์ พระองค์จึงตรัสถามว่ามาณพนี้มีนามชื่อใด เจ้าสามเณรกราบทูลว่า อาตมภาพมีนามว่าสามเณร จึงตรัสถามว่าสามเณรนั้นด้วยเหตุดังฤา สามเณรจึงทูลว่าข้าพเจ้ามีนามว่าสามเณรนั้น ด้วยเหตุว่าข้าพเจ้ามิได้กระทำบาปในภายนอก แล้วตั้งอยู่ภายในแห่งกุศล เหตุดังนั้นจึงมีนามว่าสามเณร พระองค์ก็ทรงตรัสถามว่า นามกรของท่านนั้นบุคคลผู้ใดให้แก่ท่าน สามเณรจึงทูลว่า พระอาจารย์ของข้าพเจ้าให้แก่ข้าพเจ้า พระองค์จึงตรัสถามว่า อาจารย์ของท่านนั้นชื่อดังฤา สามเณรจึงทูลว่าอาจารย์ของอาตมามีนามว่าภิกษุ จึงทรงตรัสถามต่อไปว่าพระอาจารย์ของท่านนั้นมีนามว่าภิกษุนั้นด้วยเหตุดังฤา สามเณรจึงทูลว่าอาจารย์ของข้าพเจ้านั้น ชื่อรัตนะเป็นแก้วอันหาค่ามิได้
ครั้นทรงสดับว่าพระสังฆรัตนะในพระพุทธศาสนาหาได้เป็นอันยากยิ่งนัก พระองค์ก็มีความชื่นชมยินดีหาที่จะอุปมามิได้ คำนึงอยู่ในพระราชหฤทัยว่า จะเสด็จลงจากอาสน์ไปนมัสการเจ้าสามเณรที่ใกล้ ด้วยความปิติกายของพระองค์ก็ลอยไปตกลงตรงหน้าเจ้าสามเณร เดชะที่พระองค์มีพระราชหฤทัยเลื่อมใสในพระสังฆรัตนะ ดอกประทุมชาติก็บังเกิดผุดขึ้นรองรับพระองค์ไว้มิได้เป็นอันตราย จึงถวายนมัสการเจ้าสามเณรโดยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วจึงตรัสถามเจ้าสามเณรต่อไปว่า พระสังฆรัตนะอาจารย์ของท่านนั้นบุคคลผู้ใดให้นามกร เจ้าสามเณรก็ทูลว่า อาจารย์ของข้าพเจ้านั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงนามว่า พระสิริมิตรสัพพัญญู พระองค์โปรดประทานให้นามว่าพระสังฆรัตนะแก่อาจารย์ของข้าพเจ้า
เมื่อสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ผู้ทรงอุตสาหะในพระศาสนา ได้ทรงฟังสามเณรออกวาจาว่า องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ก็ถึงวิสัญญีภาพลงอยู่กับที่ ครั้นพระองค์ได้พระสติขึ้นมา จึงตรัสถามสามเณรอีกว่า ดูก่อนเจ้าสามเณรผู้เจริญ บัดนี้องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าเสด็จยับยั้งอยู่ในที่ดังฤา สามเณรจึงทูลว่า สมเด็จพระมหากรุณาธิคุณเจ้าเสด็จยับยั้งอยู่ในบุพพารามวิหาร อันมีอยู่ในอุตตรทิศแต่กรุงอินทปัตต์มหานครนี้ไปไกลกันมีประมาณ ๑๖ โยชน์ ได้ทรงฟังสามเณรแจ้งความว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าบังเกิดแล้วในโลก จึงตรัสว่าดูก่อนสามเณร ผิว่าองค์สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าเสด็จอยู่ในฐานทิศใด เราก็จะไปในประเทศทิศนั้นฯ
สมเด็จพระเจ้าสังขจักรบรมบพิตรผู้ประเสริฐ หาความเอื้อเฟื้อในศิริราชสมบัติบรมจักรของพระองค์มิได้ ด้วยมีพระทัยนั้นผูกพันอยู่ในการที่จะได้พบเห็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าเป็นที่ยิ่งอย่างอุกฤษฏ์ ก็กระทำการราชาภิเษกเจ้าสามเณรนั้น ให้สึกออกเสวยศิริราชสมบัติแทนพระองค์ เป็นพระยาอันประเสริฐ ครั้นกระทำการราชาภิเษกเจ้าสามเณรแล้ว ก็เสด็จออกแต่พระองค์เดียวโดยอุตตราภิมุขมีพระทัยเฉพาะต่ออุตตรทิศ ตั้งพระทัยไปสู่บุพพารามวิหาร อันเป็นที่ประทับแห่งองค์สมเด็จพระสิริมิตรสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้า
สมเด็จบรมสังขจักรจอมทวีปเป็นสุขมาลชาติ พระสรีรกายนั้นละเอียดอ่อนเป็นอันดี เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปตามมรรคาหนทางแต่พระบาทเปล่า เวลาวันเดียวพระบาททั้ง ๒ ข้างก็ภินทนาการแตกออก จนพระโลหิตไหลตามฝ่าพระบาททั้ง ๒ เมื่อพระบาททั้ง ๒ ทำลาย จะเดินไปมิได้แล้ว ในกาลนั้น พระองค์ก็ลงนั่งคุกเข่าคลานไปทีละน้อยค่อยคมนาการไปตามหนทางที่เจ้าสามเณรชี้แจงบอกมานั้น จะได้ละความเพียรเสียหามิได้ ครั้นล่วงไปถึง ๔ วัน พระหัตถ์ซ้าย-ขวา และพระชงฆ์ทั้ง ๒ ข้างนั้นก็แตกช้ำโลหิตไหลออกมา จะคลุกคลานไปก็มิได้ ให้เจ็บปวดแสนสาหัส เห็นขัดสนพระทัยนักแล้ว ถึงกระนั้นพระองค์จะได้คิดท้อถอยย้อนรอยกลับคืนมาหามิได้ อาตมาต้องไปให้ถึงสำนักองค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคเจ้าให้จงได้ ครั้นพระองค์คุกคลานไปมิได้แล้วก็ลงพังพาบไถลไปแต่ทีละน้อยด้วยพระอุระของพระองค์ ประกอบไปด้วยทุกขเวทนาเหลือที่จะอดกลั้น พระองค์ยึดหน่วงเอาพระพุทธคุณของสมเด็จพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ ด้วยพระเจตนาจะใคร่พบเห็นพระผู้เป็นอธิบดีอันใหญ่ยิ่ง แล้วก็ทรงอดกลั้นซึ่งทุกขเวทนานั้นเสีย หาเอื้อเฟื้ออาลัยในร่างกายของพระองค์ไม่ฯ
ครั้งนั้น สมเด็จพระสิริมิตรสัพพัญญูผู้ประเสริฐ พระองค์ทรงพระมหากรุณาเล็งดูสัตว์โลกทั้งหลายด้วยสัพพัญญุตาญาณ ก็รู้แจ้งเห็นด้วยกำลังความเพียรแห่งบรมสังขจักรนั้นเป็นอุกฤษฏ์ยิ่งโดยวิเศษ แล้วก็มิใช่อื่นมิใช่ไกล เป็นหน่อพุทธางกูร พุทธพงศ์อันเดียวกันกับพระตถาคต สมควรที่พระตถาคตจักเสด็จไปสู่ที่ใกล้แห่งบรมสังขจักร เมื่อพระองค์ทรงพระดำริแล้ว ก็เสด็จพระพุทธดำเนินมาด้วยพระศิริวิลาสเป็นอันงาม แล้วพระองค์กระทำอิทธิฤทธิ์นิรมิต พระบวรกายของพระองค์ให้อันตรธานสูญหายกลับกลายเป็นมาณพหนุ่มน้อย ขึ้นขับรถทวนมรรคามาเฉพาะหน้าแห้งสมเด็จบรมสังขจักรนั้น แล้วพระพุทธสัพพัญญูเจ้าจึงร้องถามไปว่า ผู้ใดมานอนอยู่กลางทางขวางหน้ารถเราจงหลีกไปเสียเราจะขับรถไปฯ ฝ่ายพระบรมโพธิสัตว์จึงตรัสตอบพระพุทธฎีกาว่า ดูก่อนนายสารถีผู้ขับรถ ท่านจะมาขับเราไปให้พ้นจากหนทางนั้นด้วยเหตุดังฤา ตัวเราผู้รู้จักคุณสมเด็จพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ยิ่งนัก ชอบแต่นายสารถีจะยั้งรถของท่านให้หลีกเราเสียจึงจะสมควร ถ้าท่านไม่หลีกก็ให้ท่านขับรถไปเหนือหลังเราเถิด ซึ่งจะให้เราหลีกนั้นเราหาหลีกไม่ แล้วจึงมีพระพุทธฎีกาว่าถ้าแหละท่านจะไปยังสำนักพระพุทธเจ้าแล้ว จงมาขึ้นรถไปกับเราเถิด เราจะพาท่านไปให้ถึงสำนักสมเด็จพระพุทธเจ้าให้สมดังความปรารถนา พระจอมขัตติยาจึงตอบว่า ถ้าท่านเอ็นดูกรุณาแก่เรา เราก็มีความยินดีสาธุอนุโมทนาด้วยท่าน
ว่าแล้วหน่อพระพิชิตมารก็อุตสาหะดำรงทรงพระกายขึ้นสู่รถแห่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็หันหน้ารถไปตามมรรคา พาพระยาสังขจักรไป
ครั้นถึงกึ่งกลางมรรคาหนทางแล้ว สมเด็จพระอมรินทราธิราชกับองค์ดวงสุชาดาผู้เป็นอัครมเหสีนั้น นำเอาโภชนาหารอันเป็นทิพย์กับทั้งน้ำทิพย์ลงมา จำแลงเพศเป็นบุรุษยืนอยู่ตรงหน้ารถแล้วร้องว่า ดูก่อนนายสารถีผู้เจริญเอ๋ย ท่านอยากข้าวน้ำโภชนาหารหรือ เราจะให้ เมื่อโกสีย์อมรินทราธิราชกับนางสุชาดากล่าวดังนั้น สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าซึ่งแปลงเพศเป็นนายสารถีขับรถจึงว่า มาณพผู้เจริญ บุรษทุพลภาพผู้หนึ่งมาในรถด้วยเรา มีความลำบากเวทนานัก ท่านจะให้ข้าวน้ำโภชนาหารแก่เราก็ให้เถิด เราจะได้ให้แก่บุรุษทุพลภาพนั้นบริโภค ท้าวโกสีย์อมรินทร์กับนางสุชาดาก็ให้ข้าวน้ำโภชนาหารอันเป็นทิพย์แก่องค์สมเด็จพระมหาบุรุษสัทธรรมสารถีผู้ประเสริฐ พระองค์ก็ประธานให้แก่พระบรมโพธิสัตว์บรมสังขจักรเสวยข้าวน้ำโภชนาหารอันเป็นทิพย์ ครั้นพระองค์เสวยอิ่มหนำสำเร็จแล้ว ด้วยเดชะข้าวน้ำโภชนาหารอันเป็นทิพย์อุปัทวโทมนัสทุกขเวทนาในสรีรกาย ก็อันตรธานหาย พระองค์ก็มีสรีรกายเป็นสุขเสมอเหมือนแต่ก่อน
องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าก็พาพระยาสังขจักรไปใกล้บุพพารามวิหาร แล้วพระองค์ก็นิสีทนาการนั่งบนพระบวรพุทธอาสน์ในพระวิหาร ส่วนสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ก็เสด็จลงจากรถ เข้าไปสู่บุพพารามวิหาร ทอดพระเนตรแลไปได้ทัศนาการเห็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้า ผู้ประกอบไปด้วยทวัตติงสมหาบุรุษลักษณะอสีตยานุพยัญชนะประดับ ทั้งพระพุทะรัศมีอันโอภาสสว่างรุ่งเรืองออกจากพระวรกายอันเสด็จทรงนั่งอยู่ในที่นั้น
พระองค์ก็ทรงวิสัญญีภาพลงตรงพระพักตร์แห่งสมเด็จพระผู้ทรงพระภาคด้วยความโสมนัสสาการ เกิดความปิติยินดีหาที่สุดมิได้ ส่วนสมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าจึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูก่อนมหาบุรุษราชผู้เป็นอภิชาตชายอันประเสริฐ พระตถาคตเสด็จอยู่ในที่นี้แล้ว
ครั้งนั้น สมเด็จพระบรมสังขจักรก็ได้ซึ่งอัสสาสประสาท เกิดความยินดีชื่นชมก้มเศียรเกล้า คลานเข้าไปในสำนักสมเด็จพระพุทธองค์เจ้า เสด็จนั่งยังที่อันสมควรแล้วจึงยกพระกรขึ้นประนมบังคมเหนือศิโรตม์กระทำอภิวาทนมัสการ กราบทูลว่า ภนฺเต ภควา ข้าแต่สมเด็จพระพุทธองค์เจ้า บัดนี้ข้าพระบาทถึงสำนักพระองค์เจ้าแล้ว ขอจงทรงพระกรุณาเป็นที่พึ่งแก่ข้าพระพุทธเจ้า โปรดตรัสแสดงพระธรรมเทศนาอันอุดม ให้ข้าพระบาทฟังในกาลบัดนี้ฯ
ปางนั้น สมเด็จพระชินศรีจึงตรัสพระสัทธรรมเทศนาโปรดแก่พระยาสังขจักร เมื่อพระองค์ได้ทรงสดับพระสัทธรรมเทศนาบทหนึ่งสิ้นเนื้อความลงแล้ว ก็ทูลห้ามสมเด็จพระพุทธเจ้าว่า ขอพระองค์จงหยุดพระธรรมเทศนาเสียเถิด อย่าทรงสำแดงต่อไปเลยฯ
***มีปุจฉาว่า เหตุไฉนพระเจ้าสังขจักรจึงทูลห้ามสมเด็จพระพุทธเจ้าเสียดังนี้ เดิมทีสิมีพระทัยผูกพันในพระพุทธศาสนา ระลึกถึงซึ่งคุณพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้าเป็นอันมาก ทรงสู้สละศิริราชสมบัติบรมจักรเสด็จมาด้วยความลำบากแทบถึงซึ่งชีวิต ครั้นมาประสพพบพระภควันตบพิตร พระองค์ประทานธรรมเทศนาแล้วห้ามเสียด้วยเหตุประการใดฯ
***วิสัชนาว่า สมเด็จบรมสังขจักรทรงคิดเห็นว่า ถ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าโปรดประทานพระสัทธรรมเทศนาเป็นอันมาก แล้วพระองค์ก็เสด็จมาแต่พระองค์เดียวเปลี่ยวพระทัยนัก จะหาเครื่องไทยธรรมอันสมควรที่จะสักการบูชา ให้สมควรแก่รสพระสัทธรรมนั้นหามีไม่ บัดนี้เราได้สดับรับรสพระธรรมเทศนาแต่บทเดียว เครื่องสักการบูชาของอาตมานี้มิพอสมควรกันกับพระสัทธรรมแล้ว พระองค์ทรงคิดดังนี้ จึงทรงห้ามสมเด็จพระพุทธเจ้าเสีย
พระองค์จึงกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าเกล้ากระหม่อมฉันได้สดับฟังพระสัทธรรมของพระองค์ในกาลบัดนี้ พระองค์ทรงพระมหากรุณาตรัสพระสัทธรรมเทศนาสำแดงพระนิพพานอันเดียวเป็นที่สุดพระสัทธรรมอยู่แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าจะตัดเศียรเกล้า อันเป็นที่สุดแห่งสรีรกายแห่งข้าพเจ้า ออกกระทำสักการบูชาพระสัทธรรมเทศนาของสมเด็จพระพุทธองค์ก่อน ตรัสดังนั้นแล้ว พระเจ้าสังขจักรผู้มีอัธยาศัยอันยิ่ง จึงทรงอธิษฐานขอให้เล็บของพระองค์คมดังพระแสงดาบ เด็ดซึ่งพระศอให้ขาดแล้ววางไว้บนฝ่าพระหัตถ์ ตั้งปณิธานความปรารถนา ออกพระโอษฐ์ตรัสด้วยวาจาว่า ภนฺเต ภควา ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงศิริเป็นที่เฉลิมโลก เชิญพระองค์เสด็จเข้าสู่เมืองแก้วอันเกษมสานต์ คือพระอมตมหานิพพานอันสำราญก่อนข้าพระบาทเถิด ข้าพระบาทจะขอตามเสด็จไปสู่พระนิพพานอันสำราญต่อภายหลัง ด้วยข้าพระพุทธเจ้าได้ถวายเศียรเกล้าบูชาพระสัทธรรมเทศนาของพระองค์ในกาลบัดนี้ ในที่สุดขาดพระวาจาปณิธานปรารถนาลง พระบรมโพธิสัตว์ก็จุติจิตต์สิ้นชีวิตไปบังเกิดในดุสิตาสวรรค์เทวโลกฯ
ดูก่อนสำแดงสารีบุตร ครั้นเมื่อพระบรมโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรยเจ้าได้ตรัสเป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จึงมีพระองค์สูงได้ ๘๘ ศอก ด้วยผลทานที่เด็ดพระเศียรกระทำสักการบูชาพระสัทธรรม พระองค์ทรงพระรัศมีสิ้นทั้งกลางวันกลางคืนมิได้ขาดนั้น ด้วยผลอานิสงส์ที่พระองค์ทรงอุตสาหไปในมรรคาหนทาง ปรารถนาจะพบเห็นสมเด็จพระพุทธเจ้าจนพระโลหิตไหลออกจากพระบาท และพระชงฆ์ พระหัตถ์ พระอุระของพระองค์เมื่อเป็นบรมสังขจักรนั้นฯ อนึ่ง พระพุทธรัศมีของพระองค์แผ่ซ่านตลอดไปเบื้องบนจนถึงพรหมโลก เบื้องต่ำตลอดลงไปจนถึงมหาอเวจีนรก ด้วยผลอานิสงส์ที่พระองค์เด็ดพระเศียรออกกระทำสักการบูชาพระสัทธรรมโลหิตไหลออกจากพระเศียร อนึ่ง ในพระศาสนาพระศรีอาริยเมตไตรยเจ้า บังเกิดมีไม้กัลปพฤกษ์นึกได้สำเร็จความปรารถนานั้น ด้วยผลอานิสงส์ที่พระองค์เสด็จไปตามมรรคหนทาง จะใคร่พบองค์สมเด็จพระพุทธเจ้า ถ้วนถึง ๗ วันเป็นกำหนด จึงได้ประสพพบปะฯ
ดูก่อนสำแดงสารีบุตร ผู้เป็นพระยาธรรมของพระตถาคต ฝูงคนทั้งหลายที่มิได้เห็นรูปกายของพระตถาคตนี้ แล้วได้กระทำทานรักษาศีลจำเริญเมตตาภาวนาด้วยเดชะผลานิสงส์ ฝูงคนทั้งหลายเหล่านั้นจักได้บังเกิดทันพระพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระศรีอาริยะเมตไตรย อันจะมาบังเกิดเป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตฯ สำแดงมาด้วยเรื่องพระศรีอาริยเมตไตรยบรมโพธิสัตว์ ก็ยุติแต่เท่านี้ฯ
เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้
กัณฑ์ที่ ๒
( ภควา “เมตฺเตยฺยสฺส สาสนฺกาเล อติกฺกนฺเต ตสฺส สทฺธมฺมปชฺโชโต อนฺตรธายิ
มณฺฑกปฺเป ราโมจ ธมฺมราชา จ เทฺว พุทธา อุปฺปชฺชิสฺสนฺตีติ อิมํ สทฺธมฺมเทสนํ กเถสีติฯ )
( อนุสนธิพระสัทธรรมเทศนา มีปุพพาปรสืบเนื่องมาโดยลำดับ บัดนี้จะได้วิสัชนาในประวัติกาลแห่งสมเด็จพระสัพพัญญูบรมครูพระพุทธเจ้าสามพระองค์ ทรงพระนามว่า พระราม พระธรรมราชา พระธรรมสามี เป็นลำดับต่อไป ดำเนินเนื้อความว่า )
พระรามเจ้า
ภควา สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเทศนาแก่พระสารีบุตรสืบต่อไปว่า ในกาลเมื่อพระพุทธศาสนา แห่งองค์สมเด็จพระศรีอาริยเมตไตรยเสื่อมสูญสิ้นแล้ว อันว่าประทีปแก้ว คือพระสัทธรรมนั้น ก็สูญสิ้น ฝูงสัตว์ทั้งหลายก็มืดมัวไม่รู้จักบาปและบุญ คุณและโทษ ประโยชน์และไม่ประโยชน์ ประการใด จนถึงไฟประลัยโลกล้างวินาศฉิบหายสิ้นทั้งแสนโกฏิจักรวาล เพลิงประลัยกัลป์เกิดขึ้นไหม้แผ่นดินภัทรกัปอันนี้ฉิบหายหมดแล้ว สิ้นกาลช้านาน จึงบังเกิดแผ่นดินใหม่ขึ้นมา มีมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายบังเกิดมีมาสำหรับแผ่นดิน ก็มีมาเสียเปล่า กัปป์แผ่นดินที่มีมาในเบื้องหน้านั้นเป็นสุญญกัปนับได้อสงไขยแผ่นดิน จะได้มีสมเด็จพระพุทธเจ้า ปัจเจกพุทธเจ้า และพระยาจักรผู้ประเสริฐบังเกิดมีมานั้นหามิได้ จึงมีนามว่าสุญญกัปป์ เกิดมีแต่มนุษย์ทั้งหลายหาบุณหาวาสนาบารมีมิได้ฯ เมื่อแผ่นดินเกิดขึ้นมา สูญเสียจากท่านผู้ทรงพระคุณแล้ว ฉิบหายไปด้วยไฟ ด้วยน้ำ ด้วยลม แล้วเกิดขึ้นใหม่อีกเล่าจนถ้วนอสงไขย แผ่นดินล่วงลับไปนับด้วยอสงไขยแผ่นดินแล้วฯ
ในกาลนั้น บังเกิดแผ่นดินขึ้นมาใหม่เรียกชื่อว่ามัณฑกัปป์ พระพุทธเจ้าจักได้บังเกิด ๒ พระองค์ คือ
– พระรามโพธิสัตว์ ๑
– พระเจ้าปเสนทิโกศล ๑
แรกปฐมกัปป์เกิดก็มีอายุยืนได้อสงไขยหนึ่ง แล้วลดน้อยถอยลงมาอยู่เพียง ๙ หมื่นปีฯ ครั้งนั้นพระรามโพธิสัตว์ จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าก่อนพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์มีพระชนม์อายุได้ ๙หมื่นปี พระสรีรกายสูงประมาณ ๘๐ ศอก ไม้จันทร์เป็นไม้พระศรีมหาโพธิ มีพระรัศมีส่องสว่างไปในอากาศอยู่เป็นนิจจกาล ปรากฏงามเปรียบด้วยรัศมีของพระจันทร์สว่างทั่วโลกธาตุ ด้วยเดชะพระพุทธานุภาพนั้น โลกทั้งปวงบังเกิดมีไม้กัลปพฤกษ์ มหาชนได้อาศัยไม้ทิพย์นั้นประพฤติเลี้ยงชีวิต เป็นบรมสุขทุกเมื่อมิได้ขาด ครั้งเมื่อพระพุทธศาสนาพระรามโพธิสัตว์สัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ฝูงสัตว์ทั้งหลายได้บังเกิดในสวรรค์เป็นอันมาก
ดูก่อนสารีบุตร พระรามโพธิสัตว์เจ้าได้บำเพ็ญกองบารมีทั้งหลายมาช้านานเป็นอันมากแล้ว แต่กองบารมีธรรมครั้งหนึ่งนั้น ปรากฏเป็นยอดปรมัตถบารมีอันประเสริฐ เพราะเหตุดังนั้นพระรามสัพพัญญูเจ้า จึงได้พระพุทธสมบัติเห็นปานดังนี้สมเด็จพระศรีสรรเพ็ชญ์จึงตรัสพระสัทธรรมเทศนาแก่พระสารีบุตรว่า ในเมื่อครั้งพระศาสนาพระพุทธกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระรามองค์นี้เป็นบรมโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ มีนามว่านารทมาณพ วันหนึ่งนารทมาณพได้ทัศนาการเห็นองค์พระพุทธกัสสปสัพพัญญูบรมครูเจ้าครั้งนั้น ก็มีความโสมนัสยินดีปรีดา คิดว่าจะกระทำสักการบูชาแก่พระองค์ให้เห็นศรัทธาของอาตมา มิได้คิดแก่ชีวิตอินทรีย์ คิดแล้วจึงเอาผ้า ๒ ผืนชุบน้ำมัน พันสรีรกายตั้งแต่เศียรเกล้าตลอดปลายเท้าทั้ง ๒ แล้วก็จุดไฟขึ้นบนศีรษะเป็นประทีปกระทำสักการบูชา ถวายแก่องค์สมเด็จพระพุทธเจ้า แล้วตั้งปณิธานความปรารถนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระภาคเป็นอันงาม อันว่าองค์อวัยวะน้อยใหญ่ในสรีรกายของข้าพระพุทธเจ้า คือเลือดเนื้อเป็นอาทิ กระทำเป็นทานถวายแก่พระองค์ในกาลบัดนี้ ปัจจโย โหตุ จงบังเกิดมีเป็นปัจจัย ให้อุปการคุณอุปถัมภกยกชูข้าพระพุทธเจ้าให้ได้สำเร็จแก่พระสร้อยสรรเพชุดาญาณ ในอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้นเถิด
ครั้งนั้นองค์สมเด็จพระพุทธกัสสปเจ้า จึงตรัสพยากรณ์ทำนายนารทมาณพนั้นในท่ามกลางบริษัททั้ง ๔ มีพระพุทธฎีกาว่า ดูก่อนมาณพผู้เจริญ ในเมื่อภัทรกัปนี้ฉิบหายไปแล้ว บังเกิดมีกัปป์ตั้งขึ้นมาใหม่ เป็นสุญญกัปอยู่สิ้นกาลช้านาน นับได้อสงไขยแผ่นดินล่วงไปแล้ว ครั้งนั้นจึงบังเกิดมัณฑกัปป์ ในกาลเบื้องหน้าคือตัวของมาณพนี้จะได้บังเกิดเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระรามสัพพัญญูในมัณฑกัปป์อันนั้น พระองค์ทรงพยากรณ์ทำนายมาณพดังนี้แล้ว ครั้นเวลาราตรียังรุ่ง ก็กระทำกายของมาณพเป็นประทีปถวายต่างเครื่องสักการบูชาสมเด็จพระพุทธเจ้าเป็นอันดี ครั้นนารทมาณพดับจิต ก็ได้ไปบังเกิดในดุสิตาสวรรค์เทวโลก ในที่เผาสรีรกายกระทำสักการบูชาแห่งมาณพนั้นก็บังเกิดดอกบัวผุดขึ้นมา มหาชนเห็นเป็นอัศจรรย์จึงกล่าวสรรเสริญชมว่า จะหามนุษย์ผู้ใดเปรียบเสมอสองหามิได้ นานไปจะได้บังเกิดเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง
– ด้วยผลอานิสงส์ที่ท่านมิได้เอื้อเฟื้อแก่สรีรกายและชีวิตของอาตมากระทำเป็นมหาบริจาค เจตนาอันใหญ่ยิ่งกว่าบารมีทั้งหลายทั้งปวง
– ด้วยเดชะอานิสงส์ที่บูชาสรีรกายของอาตมานั้นเมื่อได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้า มีสรีรกายสูง ๘๐ ศอก
– สละชีวิตเป็นทาน เป็นปรมัตถบารมีอันอุดมอุกฤษฏ์นั้น จะมีพระชนมายุได้ ๙ หมื่นปีเป็นกำหนด
– เวลาราตรียังรุ่งตามประทีปแล้ว คือ สรีรกายของอาตมากระทำสักการบูชานั้น จะบังเกิดพระรัศมีรุ่งเรืองงามสว่างไปทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นนิจจกาล อาจปกปิดเสียซึ่งแสงพระจันทร์และพระอาทิตย์ กระทำให้อัปภาคย์แพ้พระรัศมีของพระองค์ฯ
สำแดงมาด้วยเรื่องราวพระรามโพธิสัตว์คำรบ ๒ ก็ ยุติแต่เพียงนี้ฯ
พระธรรมราชา (พระเจ้าปเสนทิโกศล)
ลำดับนั้น พระผู้ทรงพระภาคเจ้าจึงตรัสพระสัทธรรมเทศนาแก่พระสารีบุตรสืบต่อไปว่า ในกาลเมื่อสิ้นศาสนาของพระรามเจ้าแล้ว มนุษย์ทั้งหลายในมัณฑกัปก็มีอายุเรียวน้อยถอยลดลงไปพ้นจาก ๘ หมื่นปีลงมา กำหนดอายุของมนุษย์ทั้งหลายในกาลครั้งนั้นได้ ๕ หมื่นปีเป็นอายุขัย แล้วพระเจ้าปเสนทิโกศลราชบรมโพธิสัตว์นี้ จักได้บังเกิดเป็นพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า พระธรรมราชา มีพระองค์สูงได้ ๑๖ ศอก พระชนมายุยืนได้ ๕ หมื่นปีเป็นกำหนด ไม้กากะทิงเป็นพระมหาโพธิ เมื่อเสด็จพระพุทธดำเนินไปนั้น จะบังเกิดดอกบัวทองทั้งสองผุดขึ้นมาจากแผ่นดินเข้ารับรองเอาพระบาท อนึ่ง จะบังเกิดดอกบัวแก้ว ๗ ประการผุดขึ้นมาจากแผ่นดินเข้ารับพระองค์ไว้ เป็นอาสนะของพระองค์เมื่อทรงนั่งและยืนและไสยาสน์นั้น ประการหนึ่งเล่าในพระพุทธศาสนาพระเจ้าปเสนทิโกศลสัพพัญญูผู้ประเสริฐนั้น บังเกิดมีไม้กัลปพฤกษ์ต้นหนึ่งให้สำเร็จประโยชน์เป็นเครื่องบริโภคแห่งมนุษย์ทั้งหลาย มนุษย์ทั้งหลายได้อาศัยซึ่งไม้กัลปพฤกษ์นั้นแล้วก็ประพฤติเลี้ยงชีวิตอาตมาเป็นสุขสบาย มิได้กระทำการถากไร่ไถนาค้าขาย ด้วยพระพุทธานุภาพแห่งสมเด็จพระเจ้าปเสนทิโกศลสัพพัญญูนั้น
ดูก่อนสำแดงสารีบุตร พระเจ้าปเสนทิโกศลราช ได้ก่อสร้างพระบารมีทั้งหลายมาเป็นอันมากแล้ว แต่กองบารมีครั้งหนึ่งปรากฏเป็นปรมัตถบารมีอันยิ่ง จึงได้พระพุทธสมบัติเห็นปานดังนี้ พระองค์จึงนำมาซึ่งอดีตนิทานแห่งกองบารมีของพระเจ้าปเสนทะโกศลราชว่า อตีเต กาเล ในกาลเมื่อครั้งพระศาสนาพระโกนาคมน์สัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลราชได้บังเกิดเป็นมาณพผู้หนึ่ง มีนามว่าสุททมาณพ ไปรักษาสระบัวอยู่แห่งหนึ่ง แล้วเก็บเอาดอกบัวนั้นมาวันละสองดอกเอามาขายเลี้ยงชีวิตทุกวัน
มาวันหนึ่ง สุททมาณพไปเก็บดอกบัวมาสองดอก เดินมาตามมรรคาเพื่อว่าจะขายดอกบัวนั้น ในกาลนั้นเป็นเวลาเช้า สมเด็จพระโกนาคมน์สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จพระพุทธดำเนินไปเที่ยวโคจรบิณฑบาต ทอดพระเนตรเห็นสุททมาณพ พระองค์พิจารณาเห็นในขณะนั้น ก็ทรงทราบด้วยพระญาณว่า สุททมาณพคนนี้เป็นวงศ์แห่งสมเด็จพระพุทธเจ้า ได้บำเพ็ญพระบารมีมามากอยู่แล้ว จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาล บัดนี้ควรพระตถาคตจะให้พยากรณ์ทำนายแก่สุททมาณพในท่ามกลางมหาชนเถิด ทรงพระจินตนาดังนี้แล้วก็เกิดโสมนัสจิตต์อันประกอบกับพระญาณ แย้มพระโอษฐ์อันงามทรงพระสรวลในดวงพระพักตร์ สุททมาณพเห็นสมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าเบิกบานแย้มพระโอษฐ์ดังนั้น จึงกระทำนมัสการกราบทูลถามว่า ข้าแต่พระโลกนาถผู้ประเสริฐ ข้าพระบาทนี้มิใช่ญาติวงศ์พงศ์ตระกูลของพระผู้ทรงพระภาคเจ้า อนึ่งเล้าจะได้เป็นมิตรสหาย วิสาสะคุ้นเคยกันกับพระองค์มาก็หามิได้ เหตุประการดังฤา พระองค์ทอดพระเนตรแล้วจึงแย้มพระโอษฐ์ดังนี้ สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าจึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูก่อนสุททมาณพเอ๋ย ท่านหารู้ไม่หรือประการใด ตัวของท่านนี้แหละเป็นน้องของพระตถาคต ท่านร่วมบิดาร่วมมารดาเดียวกันกับพระตถาคตเป็นไรเล่า สุททมาณพได้สดับพระพุทธฎีกาดังนั้น ก็ยิ่งบังเกิดความพิศวงงงงวยไป แล้วกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระบาทนี้เป็นน้องของพระพุทธองค์ในกาลเมื่อครั้งใด
จึงทรงพยากรณ์ทำนายว่า ดูก่อน สุททมาณพ ในเมื่อภัทรกัปป์อันนี้ล่วงไปแล้วช้านาน บังเกิดมีกัปอันหนึ่งชื่อว่ามัณฑกัปป์ ในมัณฑกัปป์นั้น พระพุทธเจ้าบังเกิดสองพระองค์ คือ พระรามพระองค์หนึ่ง จักได้บังเกิดเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้าก่อนท่าน ในเมื่อสิ้นพระศาสนาพระรามเจ้าแล้วได้พุทธันดรหนึ่ง ตัวท่าน สุททมาณพ ครั้งนั้นจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าพระธรรมราชาผู้ประเสริฐพระองค์หนึ่ง บัดนี้พระตถาคตเป็นพระพุทธเจ้าเสียก่อนท่านแล้ว นานไปในอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้น ตัวท่านก็จักได้เป็นพระพุทธเจ้าเหมือนดังพระตถาคตต่อภายหลัง เหตุดังนั้น พระตถาคตจึงว่า ตัวท่านเป็นน้องของพระตถาคตฯ
เมื่อสุททมาณพได้สดับพระพุทธฎีกาพยากรณ์ทำนายดังนั้น ก็เกิดความปสันนาการเลื่อมใสโสมนัสเป็นที่ยิ่ง จึงดำริว่า บัดนี้มีชีวิตอยู่ด้วยมูลค่าแห่งดอกบัว ๒ ดอกเท่านี้จะได้มีสิ่งอื่นนอกจากดอกบัวหามีไม่แล้ว ควรอาตมาจะเสียสละชีวิต ยกดอกบัวสองดอกนี้กระทำเป็นสักการบูชาถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าเถิด สุททมาณพคิดดังนี้แล้ว ก็ก้มเศียรเกล้าลงน้อมนำดอกบัวเข้าไปถวายแก่สมเด็จพระโกนาคมน์เจ้า ด้วยเจตนาของอาตมานั้นเป็นสิ้นสุดศรัทธาแต่เท่านั้น สมเด็จพระโกนาคมน์เจ้าจึงเสด็จขึ้นทรงนั่งในเบื้องบนแห่งดอกบัวทั้งสองนั้น ส่วนว่าสุททมาณพได้เห็นพระพุทธปาฏิหาริย์ก็พิศวงว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จขึ้นทรงนั่งเหนือดอกบัวนี้ ในเบื้องบนหาสิ่งจะปิดบังแสงพระอาทิตย์ไม่ จะคิดเป็นประการใดจึงจะมิให้แสงพระอาทิตย์อันร้อนมาถูกต้องพระผู้ทรงพระภาคได้ สุททมาณพจึงเอาไม้อ้อมาสี่ลำ กระทำเป็นเสาดาดด้วยผ้าสองผืนบังแสงพระอาทิตย์ไว้ให้สมเด็จพระโกนาคมน์เจ้า ทรงนั่งอยู่ในที่นั้นประมาณสิ้นกลางวันกลางคืนยังรุ่ง แล้วกระทำปณิธานความปรารถนาว่า ข้าพระพุทธเจ้าได้ถวายดอกบัวสองดอกกับผ้าสองผืนนี้เป็นเครื่องสักการบูชาแก่พระองค์ตามยากตามมี เดชะผลทานนี้ขอให้เป็นปัจจัยได้สำเร็จแก่พระสร้อยสรรเพชุดาญาณในอนาคตกาลโน้นเถิดฯ
ครั้งนั้น สมเด็จพระโกนาคมน์เจ้า จึงตรัสพระสัทธรรมเทศนาพยากรณ์ทำนาย เป็นใจความว่า ความปรารถนาของท่านที่คิดไว้ประการฉันใด จงสำเร็จแก่ท่านโดยเร็วด้วยประการฉันนั้น พระสุรสำเนียงพระสัพพัญญูเจ้าที่ตรัสว่า จงสำเร็จ นั้นดังสนั่นถึงภายใต้ที่อยู่แห่งพระยาภุชงค์นาคราช เบื้องบนจนกระทั่งพรหมโลก ฝูงเทพยดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ ทั้งหลายได้ยินทั่วกันแล้วออกจากพิภพของอาตมามายังสำนักพระโกนาคมน์เจ้า แล้วก็ถวายนมัสการกราบทูลถามว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้สดับพระสุรสำเนียงของพระองค์ตรัสพระธรรมเทศนาว่าสำเร็จนั้น ด้วยเหตุผลสิ่งไร บุคคลดังฤาสำเร็จพระพุทธเจ้าข้า จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่าดูก่อนฝูงเทพยดาผู้เจริญ สุททมาณพผู้นี้ได้ถวายดอกบัวกับผ้าแก่พระตถาคต ยังพระตถาคตให้นั่ง ได้บังแสงแดดสิ้นเวลากลางวัน ได้บังน้ำค้างสิ้นเวลาราตรียังรุ่ง มีความปรารถนาจะให้ได้พระสัพพัญญุตญาณในอนาคตกาลเบื้องหน้า พระตถาคตทำนายว่า อิจฺฉิตํ อิจฺฉิตํ จงสำเร็จตามความปรารถนาของสุททมาณพเถิด ฝ่ายฝูงเทพยดามหาพรหมทั้งหลายก็กระทำสักการบูชา พากันโถมนาการด้วยองค์สมเด็จพระโกนาคมน์เจ้าเป็นอันมากฯ
นี่แหละ ดูก่อนสารีบุตร เมื่อพระธรรมราชาสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสนั้น
– จึงบังเกิดดอกบัวทองทั้งคู่ประมาณเท่าจักรรถ ผุดขึ้นมาแต่พื้นแผ่นดินเข้ารองรับฝ่าพระบาทไว้ในเมื่อยกย่างไปมาทุกก้าวพระบาทนั้น ด้วยอานิสงส์ที่ได้ถวายดอกบัวแก่องค์สมเด็จพระโกนาคมน์เจ้า
– ที่บังเกิดมีไม้กัลปพฤกษ์นั้น ด้วยอานิสงส์ขันติอดใจของสุททมาณพบรมโพธิสัตว์
– เมื่อพระธรรมราชาสัพพัญญูเจ้าจะเสด็จทรงนั่งก็ดี ยืนก็ดี ไสยาสน์ก็ดี ณ ที่นั้นๆบังเกิดมีห้องแก้ว ๗ ประการควรจะชื่นชมยินดี ด้วยผลทานที่กระทำเพดานผ้าบังแดดและน้ำค้างถวายแก่พระโกนาคมน์เจ้า ในกาลเมื่อยังเป็นสุททมาณพ
– เมื่อพระองค์ได้ตรัสนั้น มีชนมายุยืนได้ ๕ หมื่นปี แล้วจึงล่วงลับดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพานฯ
แสดงมาด้วยเรื่องราวแห่งพระเจ้าปเสนทิโกศลราชบรมโพธิสัตว์คำรบ ๓ ก็ยุติเพียงเท่านี้ฯ
พระธรรมสามี (พระยามาธิราช)
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสแสดงพระธรรมเทศนาแก่พระสารีบุตรว่า ในกาลเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าสองพระองค์ คือพระรามเจ้าและพรเจ้ากรุงโกศลราช ได้ตรัสในมัณฑกัปป์เดียวกัน ล่วงลับดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพานแล้วในมัณฑกัปอันนั้น ตั้งอยู่ถ้วนกำหนดกาลช้านานครบ ๖๔ อันตรากัปป์เข้าแล้ว แผ่นดินนั้นก็บังเกิดกัปวินาศฉิบหายไปด้วยไฟ ไฟไหม้อยู่สิ้นกาลช้านาน จนถึง ๓ อสงไขย ล่วงไปได้ ๖๔ อันตรากัปป์ ๓ หนแล้ว ในกาลนั้นมีแผ่นดินตั้งขึ้นใหม่เป็นกัปป์อันหนึ่ง ชื่อว่าสารกัปป์ ในสารกัปแผ่นดินนานได้ ๖๔ อันตรากัปนั้น บังเกิดมีพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งมาตรัสในสารกัปนั้นคือ พระยามาราธิราช จักได้ตรัสเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทะเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระธรรมสามีสัพพัญญูผู้ประเสริฐ
– พระองค์มีพระชนมายุได้ ๑๐ หมื่นปีเป็นกำหนด
– พระวรกายสูงได้ประมาณ ๘๐ ศอก
– มีไม้รังเป็นพระมหาโพธิ
– ประกอบไปด้วยพระพุทธรัศมีรุ่งเรืองสว่างประดุจดวงพระจันทร์ พระอาทิตย์ และสายฟ้าแลบ
– ในเมื่อพระองค์ทรงพระดำเนินก็ดี ทรงนั่งก็ดี ไสยาสน์ก็ดี อยู่ในที่ใดๆ บังเกิดมีพระบวรเศวตฉัตร สูงและกว้างใหญ่ได้ประมาณ ๓๐ โยชน์ ผุดขึ้นมาในประเทศกลางเวหา
– ด้วยเดชานุภาพพระสัพพัญญูเจ้า บังเกิดมีขุมทองอันหนึ่งใหญ่สำเร็จในโลก มนุษย์ทั้งหลายในพระพุทธศาสนาพระยามาราธิราชนั้น ได้อาศัยขุมทองประพฤติเลี้ยงชีวิตเป็นสุข
ดูก่อนสำแดงสารีบุตร พระยามาราธิราชบรมโพธิสัตว์ ได้ก่อสร้างบารมี ๑๐ ประการ มีทานและศีลเป็นอาทิมามากแล้ว แต่กองบารมีอันหนึ่ง ปรากฏเป็นยอดยิ่งมิ่งมงกุฎบารมี เป็นปรมัตถคุณควรจะได้สำเร็จซึ่งพระพุทธสมบัติทั้งปวง พระองค์ตรัสดังนี้แล้ว จึงนำมาซึ่งอดีตนิทานแห่งพระยามาราธิราชบรมโพธิสัตว์ เป็นใจความว่า เมื่อครั้งพระพุทธศาสนาพระพุทธกัสสปทศพลญาณเจ้านั้น พระยามาราธิราชองค์นี้ได้บังเกิดเป็นมหาเสนาบดีใหญ่แห่งสมเด็จพระเจ้ากิงกิสสมหาราชา มีนามว่า โพธิอำมาตย์ อยู่มาวันหนึ่งองค์สมเด็จพระพุทธกัสสปสัพพัญญูเจ้าเข้าสู่ผลสมาบัติเชยชมพระนิพพานเป็นบรมสุข ถ้วนกำหนดกาลแล้วออกจากผลสมาบัติในที่ภายใต้ต้นไทรใหญ่ ส่วนสมเด็จบรมกษัตริย์พระเจ้ากิงกิสสราชทรงพระจินตนาในพระหฤทัยว่า แท้จริงอันว่า พระมหากรุณาธิคุณเจ้าเสด็จออกจากผลสมาบัติใหม่ๆนี้ ถ้าแม้นบุคคลผู้ใดได้ถวายทานแก่พระพุทธองค์เจ้าแล้ว จะบังเกิดผลอานิสงส์หาที่สุดมิได้ บัดนี้ควรเราจะทำทานรักษาศีลสดับตรับฟังพระสัทธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระพุทธเจ้า ทรงพระจินตนาดังนี้แล้วจึงมีพระราชโองการดำรัสสั่งราชบุรุษทั้งหลาย ให้ตีกลองร้องป่าวชาวเมือง ให้ทั่วกันว่า ถ้าบุคคลผู้ใดไปถวายทานแก่สมเด็จพระพุทธเจ้าก่อนเรา จะให้ลงพระราชอาญาผู้นั้น แล้วตรัสสั่งสหชาติโยธาทั้งหลาย ไปแวดล้อมพิทักษ์รักษาพระเชตุพนมมหาวิหารไว้โดยรอบ
ในกาลครั้งนั้น โพธิอำมาตย์ ได้ทราบเหตุดังนั้นแล้ว ก็มีความปรารถนาจะถวายทานแก่องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าบ้าง ถึงว่าราชบุรุษทั้งหลายจะจับตัวอาตมาไปถวายพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์จะประหารชีวิตเราเสียด้วยความเพียรในการกุศลครั้งนี้ เสยฺโย ประเสริฐโดยวิเศษอันยิ่งแล้วเราจะคิดเกรงกลัวพระราชอาญานั้นด้วยเหตุใด โพธิอำมาตย์คิดดังนี้แล้ว ก็ไปบอกกับบุตร ภรรยา ให้แจ้งดังพรรณนามานี้ว่า เจ้าจงจัดแจงแต่งอาหารเครื่องไทยทาน กระทำเป็นห่อใหญ่ให้แก่เราสักห่อหนึ่ง กับผ้าสักผืนหนึ่ง ฝ่ายภรรยาได้ฟังสามีบอกดังนั้น ก็เกิดมีศรัทธารับวาจาว่าสาธุแล้ว ครั้นเวลารุ่งเช้า นางก็ไปจัดแจงแต่งเครื่องไทยทานทั้ง ๒ สิ่งนั้น เสร็จแล้วนำมาให้แก่สามี แล้วกระทำเครื่องไทยทานอีกส่วนหนึ่งให้เป็นของแห่งตน ฝากสามีให้ไปถวายทานด้วย ครั้นโพธิอำมาตย์ได้เครื่องไทยทานดังปรารถนาแล้ว ก็ตรงไปยังพระวิหารโดยเร็ว ครั้งนั้นพวกเสนาทั้งหลายที่แวดล้อมอยู่นั้นเห็นโพธิอำมาตย์เดินตรงมา จึงถามว่า โภเสนาบดี ดูก่อนท่านเสนาบดี เหตุดังฤาท่านจึงองอาจมายังสำนักสมเด็จพระพุทธเจ้า โพธิอำมาตย์ได้ฟังก็คิดว่า ถ้าเราจะบอกแก่คนทั้งหลายด้วยถ้อยคำมุสาวาทว่า พระมหากษัตริย์ใช้ให้เรามาอาราธนาองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าเข้าไปยังพระราชนิเวศน์ก็จะได้ แต่ทว่าหาควรที่เราจะกล่าวมุสาไม่ เราก็ตั้งใจว่าจะถวายทานแก่สมเด็จพระพุทธเจ้า เมื่อเรากล่าวมุสาวาทแล้ว ทานของเราจะมีผลานิสงส์หามิได้ ควรแก่เราจะบอกแก่คนทั้งหลายโดยความจริงเถิด เสนาบดีคิดแล้วก็บอกแก่ราชบุรุษทั้งหลายว่า เราจะไปถวายทานแก่องค์สมเด็จพระพุทธเจ้า ราชบุรุษได้ฟังถ้อยคำแห่งโพธิอำมาตย์ ก็มีความขึ้งโกรธ กรูกันเข้าจับเอาตัวโพธิอำมาตย์ มัดมือไพล่หลัง ไปถวายแก่พระมหากษัตริย์ กราบทูลเหตุนั้นให้ทรงทราบ พระเจ้ากิงกิสสราชก็ทรงพระพิโรธ สั่งให้นายเพชฌฆาตเอาตัวไปตัดศีรษะเสียให้สิ้นชีวิต ฝ่ายเพชฌฆาตและนักการทั้งหลายก็พาเอาตัวโพธิอำมาตย์ไปตามรับสั่ง ถึงที่ป่าช้าเข้าเพื่อว่าจะฆ่าเสียฯ
ขณะนั้นองค์สมเด็จพระกัสสปทศพลญาณเจ้า ทรงทราบประพฤติเหตุดังนั้นแล้ว ทรงคิดว่าโพธิอำมาตย์นี้ เป็นหน่อบรมโพธิสัตว์ เสมอวงศ์แห่งพระตถาคต มีอภินิหารเหตุได้กระทำมาแต่ก่อน จะกระทำกาลกิริยาตายเสียในเวลาวันนี้ สมเด็จพระกัสสปสัพพัญญูเจ้า ทรงพระมหากรุณาแก่โพธิอำมาตย์จึงนิรมิตเป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้า ให้สถิตอยู่ในพระเชตวันวิหาร ส่วนพระองค์ยังพระพุทธรูปขององค์ให้อันตรธานหายเสด็จไปประดิษฐานอยู่ในที่สุสานประเทศ ครั้งนั้นบังจักษุแห่งนายเพชฌฆาตไว้ให้เป็นมหาละลวยละลายไป นายเพชฌฆาตเห็นรูปสมเด็จพระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนกับเหล่าราชบุรุษทั้งหลายที่มานั่งอยู่นั้น กระทำแต่จักษุโพธิอำมาตย์ผู้เดียวให้เห็นเป็นรูปพระพุทธองค์ จึงมีพุทธฎีกาตรัสว่า ดูก่อนโพธิอำมาตย์ผู้เจริญ ท่านจงละชีวิตของท่านเสียเถิด อย่ากระทำอาลัยในชีวิตอยู่เลย อันว่าปัจจัยทานของท่านมีประการใด ท่านจงให้ทานยังน้ำจิตให้เลื่อมใสในพระตถาคตเถิด อันว่าเครื่องปัจจัยทานของโพธิอำมาตย์นั้น ราชบุรุษทั้งหลายเอามาวางไว้ตรงหน้าแห่งโพธิอำมาตย์ด้วยเดชะพุทธานุภาพ โพธิอำมาตย์ได้สดับฟังพระพุทธฎีกาดังนั้น ก็บังเกิดมีจิตโสมนัสหาที่จะอุปมามิได้ ก็ถือเอาเครื่องปัจจัยทานของอาตมาส่วนหนึ่ง ของภรรยาส่วนหนึ่ง ถวายแก่สมเด็จพระพุทธกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วกราบทูลว่าข้าแต่พระองค์เป็นที่พึ่งแก่สรรพสัตวโลกทั้งหลาย อันว่าชีวิตข้าพระบาทเสียสละแล้ว ด้วยเดชะผลทานของข้าพระพุทธเจ้าในกาลบัดนี้ ขอให้ได้บังเกิดเป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าเห็นปานดังพระองค์ ในอนาคตกาลโน้นเถิด
โพธิอำมาตย์กระทำปณิธานความปรารถนาดังนั้น สมเด็จพระภควันตบพิตรผู้ประเสริฐ ทรงพระอนุเคราะห์ยื่นพระหัตถ์ไปปรามาสเหนือศีรษะแห่งโพธิอำมาตย์ แล้วมีพระพุทธฎีกาว่า ตัวท่านยังความสุขเป็นอันมากให้บังเกิดแก่ตน จะได้พ้นจากวัฏฏทุกข์ในสงสาร ท่านปรารถนาประการใด ความปรารถนานั้นจงพลันสำเร็จแก่ท่านเถิด ดูก่อนโพธิอำมาตย์ผู้เจริญเอ๋ย ในอนาคตเบื้องหน้าโน้น ท่านจะได้บังเกิดเป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง สมดังความปรารถนาของท่าน ทรงพยากรณ์ทำนายโพธิอำมาตย์แล้วก็เสด็จกลับยังเชตวันมหาวิหาร กระทำภัตตกิจซึ่งปัจจัยทานบิณฑบาต ที่โพธิอำมาตย์ถวายสำเร็จแล้ว ขณะนั้นนายเพชฌฆาตก็ตัดศีรษะโพธิอำมาตย์ผู้เป็นเจ้าของทาน ขาดตกลงกระเด็นไปจากกาย โพธิอำมาตย์กระทำกาลกิริยาตาย มหาปฐพีอันใหญ่ก็ไหวหวาดเป็นมหัศจรรย์โกลาหล ครั้งนั้นเศวตฉัตรแห่งสมเด็จพระเจ้ากิงกิสสราชก็หักทบลง พระองค์เห็นเศวตฉัตรหักก็ประหลาดพระทัยนักให้สะดุ้งพระทัยไหวหวั่น สั่งให้ปิดประตูพระทวารให้มั่นฯ
ลำดับนั้น อันว่าทิพย์วิมานทอง อันประกอบไปด้วยนางเทพอัปสรสาวสวรรค์ประมาณพันนาง ก็บังเกิดผุดขึ้นมาในสุสานประเทศที่กระทำกาลกิริยาตายแห่งโพธิอำมาตย์นั้น กับขุมทองทั้งหลาย ๑๖ ขุม และไม้กัลปพฤกษ์ด้วยต้นหนึ่ง ประกอบไปด้วยสรรพสิ่งสาระพันต่างๆ บังเกิดขึ้นในที่นั้น อันว่าบุตร ภรรยา โพธิอำมาตย์นั้น ก็ได้อาศัยอยู่ในวิมานทอง ได้บริโภคซึ่งขุมทอง และไม้กัลปพฤกษ์ประพฤติเลี้ยงชีวิตสืบมา ถ้วนถึง ๕๐๐ ปีเป็นกำหนด ฝ่ายโพธิอำมาตย์ก็ได้ขึ้นไปบังเกิดในดุสิตาสวรรค์เสวยทิพยสมบัติด้วยเดชะผลทานนั้นฯ
ดูก่อนสำแดงสารีบุตร เมื่อครั้งศาสนาของพระยามาราธิราชนี้
– มหาชนทั้งหลายได้บริโภคซึ่งข้าวสาลีเป็นนิจจกาล ด้วยเดชะผลทานข้าวสุกห่อหนึ่งถวายแก่พระพุทธกัสสป ในกาลเมื่อเป็นโพธิอำมาตย์
– เมื่อพระยามาราธิราชได้ตรัสแล้ว บังเกิดมีเศวตฉัตรแก้วสูงได้ ๓ โยชน์ ด้วยเดชะผลทานถวายผ้าผืนหนึ่ง
– และพระองค์มีพระชนมายุประมาณถึงแสนปีนั้น ด้วยเดชะผลทานที่สละซึ่งชีวิตฯ
ดูก่อนสำแดงสารีบุตร พระยามาราธิราชองค์นี้ ต่อไปในอนาคตกาลจักได้ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า พระธรรมสามี
สำแดงมาด้วยเรื่องราวพระยามาราธิราชบรมโพธิสัตว์คำรบ ๔ ก็ยุติแต่เพียงนี้ฯ
กัณฑ์ที่ ๓
( สฺตถา สารีปุตฺต ธมฺมสามีสมฺมาสมฺพุทธสฺ สสาสนกาเล อติกฺกนฺเต มหาปฐวิยา โยชนมตฺตํ
อภิรุฬฺหาย มณฺฑกปฺเป นารโท จ รงฺสิมุนิ จ เทฺว พุทฺธา อุปปชฺชิส สฺนตีติ อิมํ ธมฺมเทสนํ กเถสีติฯ )
( อนุสนธิพระสัทธรรมเทศนา มีปุพพาปรสืบเนื่องมาโดยลำดับ บัดนี้จะได้วิสัชนาในประวัติกาลแห่งสมเด็จพระบรมศรีสุคตทศพลญาณ สี่พระองค์ทรงพระนามว่า พระนารท, พระรังสีมุนีนาถ, พระเทวเทพ, พระนรสีหะ เป็นลำดับต่อไป ดำเนินเนื้อความว่า )
พระนารทะ (พระยาอสุรินทราหู)
สตฺถา สมเด็จพระบรมครูสัพพัญญูเจ้าของเราตรัสพระธรรมเทศนาว่า ในกาลเมื่อสิ้นศาสนาพระยามาราธิราช ผู้เป็นธรรมสามีสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว โลกทั้งหลายจะสูญจากสมเด็จพระพุทธเจ้าสิ้นกาลช้านานถึง ๘ กัปป์ แผ่นดินตั้งขึ้นมาใหม่ได้แสนแผ่นดิน แผ่นดินนั้นสูญเปล่าเป็นสุญญกัปป์ หาบังเกิดสมเด็จพระพุทธเจ้าไม่ ในเมื่อสุญญกัปนับได้แสนแผ่นดินล่วงไปแล้ว จึงบังเกิดแผ่นดินมาใหม่ มีชื่อว่ามัณฑกัปนั้น เป็นแผ่นดินทรงพระพุทธเจ้าได้ตรัส ๒ พระองค์ คือ
– พระยาอสุรินทราหู ๑
– โสณพราหมณ์ ๑
อันว่าพระยาอสุรินทราหูจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน ลำดับนั้นโสณพราหมณ์จักได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าสืบไปฯ
เมื่อพระยาอสุรินทราหูได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทรงพระนามว่าพระนารทะ
– มีพระองค์สูงได้ ๒๐ ศอก
– มีพระชนมายุยืนได้หมื่นปีเป็นกำหนด
– มีไม้จันทร์เป็นพระมหาโพธิ
– ประกอบไปด้วยรัศมีสว่างรุ่งเรืองทั้งกลางวันและกลางคืน เปรียบประดุจดังว่าสายฟ้าในกลีบเมฆ พระพุทธรัศมีที่เป็นแผ่นแผ่ทึบเป็นแท่งเดียวนั้น ปรากฏสัณฐานดุจดอกปทุมชาติอันตั้งขึ้นมา
– ครั้นศาสนาพระยาอสุรินทราหูนั้น ในแผ่นดินประเทศทั้งปวงเกิดรสภักษาหาร ๗ ประการ มนุษย์ทั้งหลายได้บริโภคภักษาหาร ๗ ประการ อันเกิดแก่แผ่นดิน ก็ประพฤติเลี้ยงชีวิตของอาตมาเป็นสุขสำราญมิได้ขาด
ดูก่อนสำแดงสารีบุตร อันว่าพระนารทผู้ทรงพระภาคนั้น มีพระรัศมีเห็นปานดังนี้ คือพระยาอสุรินทราหูแต่ก่อนได้สร้างบำเพ็ญพระบารมีทั้งหลาย ๑๐ ประการมาเป็นอันมากแล้ว จึงได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลฯ แต่กองบารมีอันหนึ่ง พระยาอสุรินทราหูได้กระทำเป็นปรมัตถบารมีอันยิ่ง ปรากฏเป็นอัศจรรย์ พระองค์มีพระพุทธฎีกาดังนั้นแล้ว จึงนำมาซึ่งอดีตนิทานมาตรัสพระธรรมเทศนาว่า อตีเต กาเล ในอดีตกาลล่วงแล้วช้านาน ในเมื่อพระสาสนาพระพุทธกัสสปทศพลญาณ พระยาอสุรินทราหูนี้ได้เสวยพระชาติเป็นบรมกษัตริย์ เสวยศิริราชสมบัติอยู่ในมัลลนคร เป็นเอกราชอันประเสริฐ ทรงพระนามว่า พระยาสิริคุตตมหาราช มีพระราชอัครมเหสีพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า ลัมภุราชเทวี มีพระราชบุตร พระราชธิดา ๒ พระองค์ พระราชบุตรมีนามว่า เจ้านิโครธกุมาร พระราชธิดามีนามว่า นางโคตมี อยู่มาวันหนึ่งยังมีพราหมณ์ ๘ คน พากันมาสู่สำนักแห่งพระยาสิริคุตต์ กราบทูลขอพระนคร พระองค์ก็ทรงโสมนัสบังเกิดพระราชศรัทธาโปรดพระราชทานพระนครให้แก่พราหมณ์ทั้ง ๘ ยังแต่พระราชอัครมเหสีและพระราชโอรสกับพระราชธิดาทั้ง ๒ ก็พากันออกจากพระนครเข้าไปในอรัญประเทศ กระทำอาศรมอาศัยอยู่บนยอดเขาใหญ่ พร้อมกันทั้งสี่กษัตริย์ทรงเพศเป็นบรรพชิตอยู่ในอาศรมบทฯ
ในกาลครั้งนั้นยังมียักษ์ตนหนึ่ง มีนามว่ายันตะ ยักษ์ใหญ่สูงได้ ๑๒๐ ศอก ออกจากประเทศราวป่ามาเฉพาะต่ออาศรมแห่งกษัตริย์ทั้ง ๔ องค์ ยืนอยู่ในที่นั้นแล้วจึงกล่าววาจาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์อันประเสริฐ ข้าพเจ้านี้เกิดมาเป็นยักษ์รักษาพนาลี มีแต่เลือดและเนื้อเป็นภักษาหารเลี้ยงชีวิต ข้าพเจ้ามาทั้งนี้ ปรารถนาจะขอพระราชโอรสและพระราชธิดา ทั้ง๒องค์ เป็นภักษาหาร ถ้าพระองค์ทรงพระราชศรัทธาโปรดพระราชทานให้แล้ว ไปในอนาคตเบื้องหน้า พระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งเป็นแม่นมั่น เมื่อหน่อพระชินวงศ์ได้ทรงฟังยันตะยักษ์ทูลขอพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง ๒ นั้น พระยาสิริคุตตราชฤาษีผู้แสวงหาพระโพธิญาณก็ชื่นบานในกมลหฤทัยแสนทวี ท้าวเธอจึงมีสุนทรสารทีตรัสแก่ยันตะยักษ์ว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญเอ๋ย พระราชกุมารและพระราชกุมารีทั้ง ๒ องค์นี้ ใช่ว่าเราจะไม่มีความเสน่หาอาลัยหามิได้ ด้วยเรารักใคร่ในพระโพธิญาณยิ่งกว่ากุมารทั้ง ๒ ได้ แสนเท่าพันทวี เราจะสละพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง ๒ ศรี ให้เป็นทานแก่ท่านในกาลบัดนี้ ตรัสแล้วเท่านั้นก็เสด็จลุกจากอาสน์ จูงเอาข้อพระหัตถ์พระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง๒ ผู้ร่วมพระราชหฤทัย มาพระราชทานให้แก่ยันตะยักษ์ แล้วหล่อหลั่งอุทกธาราให้ตกลงเหนือมือแห่งยักษ์ พระองค์จึงประกาศแก่ฝูงเทพเจ้าและนางพระธรณีให้เป็นสักขีพยานว่า เดชะแห่งผลทานนี้จงสำเร็จแก่พระสร้อยเพชุดาญาณในอนาคตกาลด้วยเถิด พอสิ้นความปรารถนาก็บังเกิดมหัศจรรย์ทั่วโลกทุกห้องจักรวาล ปานแผ่นพสุธาจะทรุดจะทำลายฯ
เบื้องหน้ายันตะยักษ์ครั้นได้รับพระราชทานพระราชกุมารและพระราชกุมารีแล้ว ก็บังเกิดมีความชื่นชมยินดี พาตรุณสองศรีไปยังหลังพระบรรณศาลา ก็ก้มศีรษะลงกัดเอาคอกุมารและกุมารีทั้งสองให้ขาดด้วยอำนาจของอาตมา แล้วก็ดื่มโลหิตกินเป็นภักษาหาร แล้วก็เคี้ยวซึ่งเนื้อและกระดูกกลืนเข้าไป เสียงเคี้ยวนั้นดังกร้วมๆ พระฤๅษีผู้เป็นบิดาและมารดาเห็นเห็นหยาดเลือดย้อยลงจากปากยันตะยักษ์ในขณะเมื่อเคี้ยวนั้น มิได้มีพระทัยไหวหวาดด้วยโลกธรรม จึงร้องประกาศแก่ฝูงเทพเจ้าทุกหย่อมหญ้าลดาวัลย์ทั้งปวงจงมาชื่นชม ด้วยทานของเราบัดนี้เป็นอันประเสริฐแล้วฯ
ดูก่อนสำแดงสารีบุตร ในเมื่อพระศาสนาของของพระยาอสุรินทราหูได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
– ฝูงชนทั้งปวงประกอบไปด้วยรูปศิริวิลาสเป็นอันงาม ควรจะนำมาซึ่งความสิเนหา ด้วยเดชะผลานิสงส์ที่ให้ลูกทั้งสองเป็นทานฯ
– ซึ่งพระองค์ประกอบได้ด้วยพระพุทธรัศมีส่องสว่างสิ้นทั้งกลางวันและกลางคืนนั้นด้วยเดชะผลานิสงส์ที่เห็นโลหิตกุมารทั้ง ๒ หยดย้อยลงจากปากยักษ์ มิได้มีความหวาดหวั่นไหวในมหาทานเลย
แสดงมาด้วยเรื่องราบพระยาอสุรินทราหูบรมโพธิสัตว์คำรบ ๕ ก็ยุติแต่เพียงนี้ฯ
พระรังสีมุนีนาท (โสณพราหณ์)
ลำดับนั้น โสณพราหมณ์จะได้บังเกิดเป็นพระพุทธเจ้าสืบต่อไปในอนาคตกาล ทรงพระนามว่าพระรังสีมุนีนาถศาสดาจารย์เจ้านั้น
– พระองค์มีพระวรกายสูงได้ ๖๐ ศอก
– มีพระชนมายุยืนได้ ๕ พันปีเป็นกำหนด
– คัมภีร์หนึ่งว่าไม้เลียบ คัมภีร์หนึ่งว่าไม้ดีปลี เป็นพระมหาโพธิ
– ประกอบไปด้วยพระพุทธรัศมีดุจสีทองรุ่งเรืองสว่างทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นอันงาม
– ในศาสนาพระพุทธรังสีมุนีนั้น มนุษย์ทั้งปวงกระทำการงานเลี้ยงชีวิตของอาตมาเหมือนมนุษย์ทุกวันนี้
พระพุทธเจ้าผู้ทรงพระนามว่า รังสีมุนี นั้น ได้สร้างพระบารมีทั้ง ๑๐ ประการมาเป็นอาทิ คือทานและศีล แต่กองพระบารมีครั้งหนึ่ง เป็นปรมัตถบารมีปรากฏอัศจรรย์หวั่นไหวจึงได้พระพุทธสมบัติทั้งปวง พระองค์ตรัสดังนั้นแล้วจึงนำมาซึ่งอดีตนิทาน ของพระรังสีมุนีนาถว่า อตีเต กาเล ในอดีตกาลล่วงลับไปแล้วช้านาน ในเมื่อพระศาสนาพระกุกกุสันธสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสในโลก
.ครั้งนั้นโสณพราหมณ์บรมโพธิสัตว์ บังเกิดเป็นมาณพผู้หนึ่งมีนามว่า มาฆมานพ เป็นมหาวาณิชพ่อค้าสำเภา มีความปรารถนามักมาก ไปค้าสำเภาเป็นปฐมนั้น ราคาสินค้าอันหนึ่งขายได้กำไร ๑๐ เท่าแล้วประมวญทรัพย์กลับสำเภาแล่นมานาวาก็จมลงในน้ำแต่ตัวนั้นรอดมาได้ มาฆมานพก็จัดแจงสำเภาไปใหม่เป็นคำรบ ๒ สินค้าอันเดียวขายได้กำไร ๑๐ เท่า ได้ทรัพย์แล้วกลับมาสู่บ้านเรือนได้ ๗ วันก็เกิดเพลิงไหม้เรือนสิ้นข้าวของทั้งหลายเป็นอันมาก จึงจัดแจงสำเภาไปค้าขายอีกเป็นคำรบ ๓ ก็ขายของสิ่งเดียวได้กำไรอีก ๑๐ เท่า ได้ทรัพย์แล้วกลับมายังบ้านเรือนก็มีโจรทั้งหลายเข้าสะกดหลับเก็บเอาทรัพย์สิ่งของทองเงินทั้งปวงไปสิ้น ในขณะนั้นมฆมานพจัดแจงแต่งสินค้าไปขายเป็นคำรบ ๔ ก็ได้ราคาขายของสิ่งเดียวบังเกิดผลถึง ๑๐ เท่า ได้ทรัพย์แล้วกลับถึงบ้านเรือน ในวันนั้นพระมหากษัตริย์ให้ราชบุรุษทั้งหลายไปเก็บเอาทรัพย์สิ่งของแห่งมาฆมาณพนั้น มาเข้าท้องพระคลังจนหมดจนสิ้น ตกลงว่ามาฆมาณพผู้เป็นมหาวาณิชนั้น ได้ซึ่งความพินาศฉิบหายถึง ๔ ครั้ง มาฆมาณพกับภรรยาสองคนผัวเมีย ก็เกิดความทุกข์ยากวิวาทกับภรรยาเมื่อคราวจนแล้ว ส่วนตัวได้ผ้าแดงผืนหนึ่งกับทองแสนหนึ่ง หย่ากันกับภรรยาเสียแล้วก็ลงจากเรือนไปเที่ยวค้าขาย คิดว่าครั้งนี้เราจะไปกระทำวาณิชกรรมในที่ดังฤา ก็เที่ยวไปในประเทศจนถึงเมืองโกสัมพี ในกาลนั้นเป็นวันปัณณรสีอุโบสถ มาณพนั้นก็รักษาศีลสำรวมจิตปรกติ ฝ่ายว่าชาวเมืองโกสัมพีและชาวนิคมชนบททั้งหลายก็ชวนกันเดินไปมาในท่ามกลางพระนครตามความปรารถนา
ในกาลนั้น พระสาวกองค์หนึ่งแห่งพระกุกกุสันธสัพพัญญูพระผู้เป็นเจ้าพระองค์นั้นเข้าสู่ผลสมาบัติ ครั้นว่าออกจากษมาบัติแล้วพระผู้เป็นเจ้าจินตนาว่า ใครหนอมีความทุกข์เบียดเบียนเป็นอันมาก เล็งแลดูด้วยทิพยจักษุญาณก็เห็นแจ้งว่ามาฆมาณพผู้เป็นบรมโพธิสัตว์นั้นประกอบด้วยมหันตทุกข์มากนัก ควรอาตมาจะยังมาณพผู้นี้ให้บังเกิดผลเห็นเป็นทิฏฐธรรมเวทนีย์ ให้ได้เสวยผลในอัตภาพชาตินี้ พระผู้เป็นเจ้าคิดแล้วก็จับบาตรและจีวรประดับกายพร้อมแล้วเหาะมาโดยอากาศ ลงในท่ามกลางเมืองโกสัมพี ยืนอยู่ในที่ใกล้มรรคาหนทาง พอมาฆมาณพเดินมาตามมรรคาเห็นพระสาวกแล้วก็เข้าไปกราบไหว้ถามว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าจะปรารถนาสิ่งดังฤา ดูก่อนมาณพ อาตมาภาพมายืนอยู่เพื่อจะรับทานของท่าน มาณพได้ฟังดังนั้นก็มีจิตเลื่อมใสศรัทธา ประกอบไปด้วยความโสมนัส เปรียบเหมือนบุรุษยากไร้เข็ญใจ ได้ซึ่งถุงทรัพย์พันตำลึงอันท่านมาวางลงในมือแห่งตน จึงกล่าวว่าข้าแต่พระผู้เจริญศีลาธิคุณ ตัวของข้าพเจ้าเป็นปุถุชนวาณิช เที่ยวค้าขายได้กำไรถึง ๔ หน ก็บังเกิดมหันตทุกข์เป็นอันมาก บัดนี้ข้าพเจ้าขอกระทำพระนิพพานเป็นวาณิชกรรมแห่งข้าพเจ้าแล้ว จะยังจิตให้เที่ยวไปค้าขายในเมืองแก้ว ให้ได้สมบัติโลกุตระในเบื้องหน้า ครั้นว่าแล้วก็เอาทองแสนหนึ่งกับผ้าแดงผืนหนึ่งถวายแก่พระสาวก ด้วยจิตโสมนัสศรัทธาเลื่อมใสเป็นอันดี แล้วก็กระทำความปรารถนาว่า เดชะผลทานในกาลบัดนี้จงเป็นปัจจัยให้สำเร็จแก่พระสัพพัญญุตญาณเถิด พระสาวกเจ้าก็รับเอาไทยทานแล้วก็อนุโมทนาว่า ดูก่อนอุบาสกผู้รู้พระไตรสรณาคุณแก้วสามประการ อันว่าความปรารถนาของท่านมีประการใด ขิปฺปํ สมิจฺฉตุ จงสำเร็จเป็นอันเร็วแก่ท่านดังความปรารถนานั้นเถิด พระผู้เป็นเจ้ากล่าวอนุโมทนาแล้วก็เหาะไปในอากาศเวหา ในเมื่อพระสาวกนั้นหายไปลับจักษุมาณพแล้ว ในที่ถวายทานแห่งมาณพนั้นก็บังเกิดมีไม้กัลปพฤกษ์ขึ้นมาต้นหนึ่ง ฝ่ายมาณพก็ขึ้นอาศัยไม้กัลปพฤกษ์นั้น เปรียบเหมือนเทพบุตรผู้มีฤทธิ์ไปนั่งอยู่บนยอดเขายุคนธรบรรพต
ครั้งนั้นพระเจ้าโกสัมพีเสด็จแวดล้อมมาด้วยมหาชนเป็นบริวาร ออกมาถึงสถนที่นั้น ทอดพระเนตรเห็นมาณพนั่งอยู่ใต้ต้นกัลปพฤกษ์นั้น ประดุจดังทิพยพิมาน จึงเสด็จเข้าไปใกล้ต้นกัลปพฤกษ์ ฝ่ายว่าเทพารักษ์ที่รักษาต้นกัลปพฤกษ์นั้น ก็จับเอาพระศอพระยาโกสัมพีเสือกไสออกมา จึงทรงพิโรธ สั่งให้ราชบุรุษทั้งหลายเอาไฟมาเผาทิพยพิมานนั้นเสีย ในที่นั้นก็บังเกิดเป็นดอกประทุมชาติผุดขึ้นมารองรับเอามาณพนั้นไว้ให้นั่งอยู่บนดอกบัวเป็นอันงาม ฝ่ายพระยาโกสัมพีทรงเห็นเป็นอัศจรรย์ จึงสั่งให้จับตัวมาณพบรมโพธิสัตว์ให้เอาไปถ่วงน้ำเสีย เมื่อมหาชนเอามาณพไปถ่วงน้ำครั้งนั้นดอกบัวใหญ่ก็ผุดขึ้นมารับเอามาณพไว้มิได้เป็นอันตราย ครั้นพระยาโกสัมพีเห็นอัศจรรย์ดังนั้น จึงถามมาณพว่า ไม้กัลปพฤกษ์ต้นนี้บุคคลดังฤาให้แก่ท่าน มาณพจึงทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐไม้วิมานทิพย์นี้พระสาวกให้แก่ข้าพระบาท จึงตรัสว่าท่านจงไปหาพระสาวกให้มายังสำนักแห่งเรา เราจึงจะเชื่อถ้อยฟังคำของท่าน ครั้งนั้นมาฆมาณพจึงตั้งจิตอธิษฐาน เพื่อจะให้พระผู้เป็นเจ้ามา ด้วยวาจาว่าข้าแต่พระผู้เจริญคุณเป็นอันมาก บัดนี้จงอนุเคราะห์แก่ข้าพเจ้ากลับมายังสำนักข้าพเจ้าก่อนเถิด พอขาดคำอธิษฐานลง องค์พระสาวกผู้ประเสริฐก็เล็งแลด้วยทิพยจักษุญาณ รู้แจ้งแล้วก็เหาะลอยลงมายืนประดิษฐานอยู่ณที่ใกล้แห่งมาณพนั้น พระผู้เป็นเจ้าจึงบอกแก่กษัตริย์กรุงโกสัมพีว่า ดูก่อนพระองค์ผู้ทรงเป็นสมมติเทวราช ถ้าแลพระองค์ขืนกระทำประทุษร้ายแก่มาณพหน่อพุทธางกูรผู้นี้ ในพระนครของพระองค์ก็จะทรุดจมลงไปในแผ่นปฐพีหมดสิ้น พระผู้เป็นเจ้ากล่าวดังนั้นแล้ว ก็กลับเหาะไปในอากาศเวหา ลงยังสำนักของพระผู้เป็นเจ้า พระยาโกสัมพีได้ฟังพระมหาเถระกล่าวดังนั้น ก็ตกใจสะดุ้งกลัวแต่ภัยยิ่งนัก จึงตรัสว่าดูก่อนมาณพผู้เจริญ เราขออภัยโทษแก่ท่านเสียเถิด ตั้งแต่วันนี้ไปท่านจงเป็นที่อนุชาธิราชของเรา พระยาโกสัมพีกตั้งมาฆมาณพบรมโพธิสัตว์ไว้ในที่เป็นอนุชาธิราชของพระองค์ฯ
ดูก่อนธรรมเสนาบดีสารีบุตร อันว่ามาณพนั้นได้ซึ่งมหาสมบัติทั้งปวงเป็นอันมาก เมื่อได้ตรัสเป็นพระสัพพัญญูเจ้า ทรงพระนามว่าพระรังสีมุนี จึงมีพระพุทธรัศมี และได้ซึ่งสมบัติบริบูรณ์อันประเสริฐยิ่งนัก แสดงมาด้วยเรื่องราวโสณพราหมณ์บรมโพธิสัตว์ คำรบ ๖ ก็ยุติแต่เพียงนี้
พระเทวเทพ (สุภพราหมณ์)
ในกาลเมื่อสิ้นพระศาสนาของพระรังสีมุนีแล้ว มัณฑกัปป์ที่ทรงพระพุทธเจ้าทั้งสองพระองค์นั้นก็ล่วงลับดับสูญไป เกิดแผ่นดินขึ้นมาใหม่ ก็ชื่อว่ามัณฑกัปทรงพระพุทธเจ้าสองพระองค์เหมือนกัน คือสุภพราหมณ์บุตรแห่งโตไทยพราหมณ์นั้นคนหนึ่ง เป็นบรมโพธิสัตว์ จะได้ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า พระเทวเทพสัพพัญญูฯ กับโตไทยพราหมณ์นั้นคนหนึ่งเป็นบรมโพธิสัตว์จะได้ตรัสเป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระนรสีหสัพพัญญู ในมัณฑกัปป์อันเดียวกันฯ
สุภพราหมณ์บรมโพธิสัตว์จะได้ตรัสเป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าก่อนนั้นทรงพระนามว่า พระเทวเทพ
– มีสรีรกายสูงได้ ๘๐ ศอก
– มีพระชนมายุยืนได้ ๘ หมื่นปี
– ไม้จำปาเป็นพระมหาโพธิ
– ประกอบด้วยพระพุทธรัศมียังโลกธาตุทั้งปวงให้สว่างรุ่งเรืองอยู่เป็นนิจจกาล ปราศจากฤดูเย็นและร้อน อันว่าฉัพพรรณรังสีทั้ง ๖ ประการ มีสัณฐานเปรียบเหมือนช่อฝักบัวเมื่อยังอ่อนๆอยู่นั้น
– ด้วยเดชะพุทธานุภาพ พื้นแผ่นปฐพีบังเกิดข้าวสาลี มีกลิ่นโอชารสหอมวิเศษ
– และต้นไม้กัลปพฤกษ์ ประกอบไปด้วยสรรพสิ่งต่างๆ มนุษย์ทั้งหลายได้อาศัยบริโภคข้าวสาลีและประดับประดาสรีรกาย มิได้กระทำการถากไร่ไถนาค้าขาย ผิวพรรณแห่งมนุษย์ทั้งหลายนั้นก็งามผุดผ่องเป็นสีทองโดยปรกติ ถึงไม่แต่งตัวก็งามอยู่เองเป็นอัตรา ด้วยสรีรกายนั้นเหลืองเป็นสีทองเนื้อละเอียดเป็นอันดีงามฯ
ดูก่อนสำแดงสารีบุตร พระเทวเทพสัพพัญญูเจ้า ครั้งเมื่อเป็นบรมโพธิสัตว์ ได้สร้างพระบารมี ๑๐ ประการ บริบูรณ์ด้วยทานและศีล แต่กองพระบารมีครั้งหนึ่งเป็นยอดพระบารมี ปรากฏเป็นปรมัตถบารมีมกุฏทาน เหตุดังนั้นพระองค์จึงได้ซึ่งพระพุทธสมบัติเป็นอันมาก ตรัสดังนั้นแล้วจึงนำซึ่งอดีตนิทานมาตรัสพระสัทธรรมเทศนาว่า อตีเต กาเล ในอดีตกาลล่วงลับไปแล้วช้านาน สุภพราหมณ์นี้เมื่อครั้งศาสนาสมเด็จพระโกนาคมน์สัมมาสัมพุทธเจ้า ได้บังเกิดเป็นพระยาฉัททันต์ตัวประเสริฐ อาศัยอยู่แทบฝั่งฉัททันต์สระที่ป่าหิมพานต์ ครั้งหนึ่งพระอัญญาโกณฑัญญเถระเจ้า ผู้เป็นพระสาวกแห่งสมเด็จพระโกนาคมน์เจ้า มีพระชนมายุสังขารจวนจะสิ้นแล้ว เข้าสู่นิพพานแทบฝั่งฉัตรทันต์สระ ในกาลครั้งนั้น อันว่าพระยาช้างศรีเศวตมงคลขาวขาวสะอาดดังไกลาสเงินยวงเป็นอันงาม ก็มีความปรารถนาซึ่งพระสัพพัญญุตญาณ พระบรมฉัตรทันตชาติคชสารตัวประเสริฐ บังเกิดเป็นโพธิสัตว์เสพอาศัยอยู่ในขอบฝั่งสระนั้น ครั้นเที่ยวไปได้ทัศนานุตตริยาคุณเห็นกองบุญก็บังเกิดความยินดีโสมนัสที่ได้พบเห็นพระสรีรกายแห่งองค์พระขีณาสพ พระอัญญาโกณฑัญญเถระ พระยาช้างเผือกผู้โพธิสัตว์จึงตั้งจิตอธิษฐานลงว่า เราจะกระทำการปลงพระสรีรกายพระมหาสาวกนั้นในประเทศนี้ แล้วก็ร้องประกาศแก่ฝูงเทพยดาทั้งหลายว่า เชิญท่านมาช่วยด้วย อันว่ากองกุศลใดเราได้กระทำไว้แต่ชาติปางก่อนแม้นมีอยู่แล้วขอจงมาอุปถัมภกยกเอาเลื่อยทิพย์อันหนึ่งมาให้ในสำนักแห่งเรา ด้วยเดชะกองกุศลของพระยาช้างตั้งจิตอธิษฐานดังนั้น อันว่าเลื่อยทิพย์ก็บันดาลลอยมาตกลงตรงหน้าแห่งพระยาช้าง พระยาช้างก็ตัดงาทั้งสองให้ขาดแล้วก็เอางาของตัวข้างหนึ่งกระทำเป็นโกศ อีกข้างหนึ่งกระทำเป็นรูปนกยูงทองประดับเป็นอันงาม จะกระทำฌาปนกิจเผาสรีรกายพระขีณาสพนั้นฯ
จึงมีคำพระอาจารย์กล่าวโจทย์ว่า พระยาช้างฉัตรทันต์เป็นชาติเดียรฉาน เหตุดังฤาจึงเอางาของอาตมากระทำเป็นโกศ มีรูปนกยูงทองประดับเป็นอันงามได้ พึงให้นักปราชญ์ผู้มีปัญญากล่าววิสัชนาแก้ด้วยประการดังนี้ว่า พระยาช้างฉัตรทันต์นั้นเป็นสัตว์เดียรัจฉานก็จริงแล แต่ว่าเป็นบรมโพธิสัตว์ก่อสร้างพระบารมีมามากแล้ว เดชะพระบารมีทั้งหลายของพระยาช้างก็ร้อนขึ้นไปถึงอาสน์แห่งสมเด็จอมรินทราธิราช จึงมีเทวบัญชาสั่งพระวิษณุกรรมเทพบุตร ให้ลงมานิรมิตสรรพการเครื่องฌาปนกิจทั้งปวงสำเร็จแล้ว
ครั้งนั้นพระยาช้างแก้วก็ถอนเอาผมในศีรษะของอาตมากระทำเป็นไส้ประทีปตามถวายเป็นเครื่องสักการบูชา ฝ่ายว่าช้างบริวารทั้งหลายก็มาประชุมแวดล้อมพร้อมกันทั้ง ๘ หมื่น ๔ พัน กระทำสมโภชรื่นเริงบันเทิงใจเล่นเป็นโกลาหลด้วยพวกพลช้างนั้นถ้วนถึง ๗ วัน แล้วก็เชิญอสุภกัมมัฏฐาน คือพระกเฬวระสรีรกายพระขีณาสพเจ้าออกจากโกศยกขึ้นวางในรูปนกยูงทอง จึงเอาแก่นจันทร์แดงมีกลิ่นอันหอมลงรองเรียบไว้เป็นอันดี แล้วก็ตั้งลงซึ่งพระอสุภกัมมัฏฐานแห่งองคืพระขีณาสพเจ้า แล้วจึงเชิญขึ้นวางไว้บนเศียรเกล้าของอาตมา แล้วก็เอาเพลิงจุดเผาพระศพสรีร ณ เบื้องบนแห่งศีรษะตนนั้น ครั้นเตโชธาตุเผาผลาญสังหารพระสรีรศพย่อยยับลงแล้ว รูปนกยูงทองที่เป็นเชิงตะกอนซึ่งตั้งอยู่บนศีรษะพระยาช้างนั้น ก็ประดุจดังว่ามีจิตวิญญาณแล้วก็บินไปบนอากาศเวหา อันว่าอสุภกัมมัฏฐานแห่งองค์พระขีณาสพเจ้านั้นก็อันตรธานสาบสูญหายไปสิ้น มิได้มีเศษแต่พระสรีรธาตุทั้งหลายนั้นตกลงเรี่ยรายอยู่บนแผ่นดิน ในที่นั้นฝูงเทพยดาทั้งหลายก็ตกแต่งเจดีย์บรรจุพระสรีรธาตุไว้
ในกาลนั้นพระยาช้างฉัตรทันต์จึงกระทำปณิธานความปรารถนาว่า เดชะที่ข้าพเจ้าได้เลื่อยงาทั้ง ๒ ของข้าพเจ้ากระทำเป็นเครื่องสักการบูชาพระอสุภกัมมัฏฐานของพระสาวกเจ้านี้ ขอให้เป็นปัจจัยได้สำเร็จแก่พระสร้อยเพชชุดาญาณ ในอนาคตกาลเถิดฯ ครั้นพระยาช้างสิ้นชีวิตก็ได้ขึ้นไปบังเกิดในดุสิตเทวโลก เป็นเทพบุตรเสวยทิพยสมบัติในวิมานอันเกษมนิราศภัยฯ
ดูก่อนสำแดงสารีบุตรผู้เจริญ อันว่าสุภพราหมณ์นี้ แต่ครั้งพระโกนาคมน์เจ้าได้ก่อสร้างพระบารมีดังนี้ จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระเทวเทพสัพพัญญูผู้ประเสริฐในอนาคตกาลโน้น
แสดงมด้วยเรื่องราวพระสุภพราหมณ์บรมโพธิสัตว์คำรบ ๗ ก็ยุติแต่เพียงนี้ฯ
พระนรสีหะ (โตไทยพราหมณ์)
ในเมื่อพระศาสนาแห่งพระเทวเทพสัพพัญญูเจ้านั้นเสื่อมสูญสิ้นแล้ว ในมัณฑกัปนั้น โตไทยพราหมณ์ผู้เป็นบรมโพธิสัตว์จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าสืบต่อไปทรงพระนามว่า พระนรสีหสัพพัญญู สมเด็จพระพุทธเจ้านรสีหะนั้น มีพระกายสูงได้ ๖๐ ศอก ประกอบไปด้วยพระพุทธรัศมีรุ่งเรืองสว่างเป็นอันงาม ประดุจดังดวงแก้วมณีโชติแห่งสมเด็จบรมจักร พระองค์มีพระชนมายุ ๘๐ ปี เป็นกำหนดอายุขัย มีไม้แคฝอยเป็นพระมหาโพธิ ด้วยเดชานุภาพของพระองค์แผ่นดินบังเกิดมรข้าวสาลีอันหอม ประกอบไปด้วยโอชารสเป็นปรกติ มนุษย์ทั้งหลายได้อาศัยบริโภคข้าวสาลีเลี้ยงชีวิต แล้วเกิดมีไม้กัลปพฤกษ์ต้นหนึ่ง ประกอบไปด้วยสิ่งของมีประการต่างๆบังเกิดมีในไม้กัลปพฤกษ์นั้น มนุษย์ทั้งหลายก็มีรูปงามมีผิวพรรณเหลืองดังสีทอง ถึงมิได้ตกแต่งสรีรกายด้วยเครื่องประดับก็งามอยู่เองเป็นปรกติ มนุษย์ทั้งหลายมีความสุขเป็นอันมาก สมเด็จพระนรสีหะนั้นแม้เสด็จอยู่ในที่ใดแล้ส เศวตฉัตรแก้วก็บังเกิดขึ้นมากางกั้นพระองค์อยู่เป็นนิจจกาล จะได้เปล่าจากเศวตฉัตรแก้วนั้นหามิได้ ด้วยพระบารมีคุณของพระองค์ ทรงพระอุตสาหะก่อสร้างมาพร้อมทั้ง ๑๐ ประการ แต่กองพระบารมีครั้งหนึ่งปรากฏเป็นมหัศจรรย์ยกขึ้นเป็นยอดมิ่งมงกุฎพระบารมีเป็นปรมัตถคุณ ควรนักปราชญ์ทั้งหลายจะกล่าวสรรเสริญ เหตุดังนั้นพระนรสีหสัพพัญญูจึงได้พระพุทธสมบัติเห็นปานดังนี้ฯ
ดูก่อนสารีบุตรผู้เป็นพระยาธรรมของพระตถาคต ในเมื่อว่างพระศาสนาแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ คือพระกัสสปสัพพัญญู และศาสนาพระตถาคตต่อกันนั้น เป็นกาลควรพระพุทธเจ้าจวนจะมาตรัสอยู่แล้ว ในท่ามกลางระหว่างศาสนานั้น โตไทยพราหมณ์ผู้นี้เกิดเป็นวาณิชผู้หนึ่ง มีชื่อว่านันทมาณพ ไปเที่ยวค้าขายในประเทศต่างๆ ครั้งหนึ่งยังมีพระปัจเจกโพธิเจ้าองค์หนึ่ง เสด็จไปเที่ยวโคจรบิณฑบาต นันทมาณพเห็นองค์พระปัจเจกโพธิเจ้าก็บังเกิดมีความเลื่อมใสศรัทธายกเอาผ้ากำพลสีแดงผืนหนึ่งกับทองแสนตำลึง กระทำเป็นเครื่องไทยธรรมถวายแก่พระปัจเจกโพธิเจ้าเป็นมหาบริจาค แล้วจึงตั้งปณิธานความปรารถนาว่า ข้าแต่พระปัจเจกโพธิผู้ตรัสรู้ธรรมวิเศษต่างๆ พระคุณเจริญมากหาที่สุดมิได้ ข้าพเจ้าถวายทานบัดนี้ ขอจงเป็นปัจจัยแก่พระสัพพัญญุตญาณในเบื้องหน้า ด้วยเดชะผลทานนี้ พระปัจเจกโพธิเจ้ารับเอาผ้ากำพลผืนนั้นมาคลุมพระองค์ลง ผ้ากำพลนั้นปกปิดพระองค์โดยรอบคอบยังเหลือแต่พระหัตถ์และพระบาทในเบื้องบนนั้นมีประมาณศอกหนึ่ง นันทมาณพเห็นดังนั้นจึงตั้งความปรารถนาเป็นสองประการอีกเล่าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นานไปในอนาคตเบื้องหน้าโน้น ขอให้ข้าพระพุทธเจ้ามีเดชานุภาพแผ่ทั่วอาณาจักรไปในภายใต้แผ่นพื้นปฐพีนั้นโยชน์หนึ่ง ด้วยเดชะผลทานในครั้งนี้ ครั้นนันทมาณพตั้งความปรารถนาแล้ว พระปัจเจกโพธิเจ้าจึงอนุโมทนาทานของนันทมาณพแล้วคมนาการไปจากที่นั้น ไปถึงกลางมรรคา ยังมีนางกุมารีสาวน้อยผู้หนึ่งเห็นพระปัจเจกโพธิเจ้าห่มผ้าแดงเดินมา นางจึงถามว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญพระเจ้าข้า ผ้าผืนนี้ที่พระผู้เป็นเจ้าห่มมีสีแดงงามบุคคลผู้ใดถวายแก่พระผู้เป็นเจ้า พระปัจเจกโพธิจึงบอกว่า ดูก่อนสีกา ผ็าแดงผืนนี้พาณิชนันทมาณพถวายแก่อาตมา พระเจ้าข้าพระผู้เป็นเจ้าเขาถวายผ้ากัมพลแล้วเขากระทำความปรารถนาดังฤา พระปัจเจกโพธิบอกว่าดูก่อนสีกา มาณพนั้นถวายผ้าแล้วกระทำความปรารถนาสองประการ คือ ปรารถนาพระสัพพัญญูประการหนึ่ง ปรารถนาศิริราชสมบัติประการหนึ่ง นางกุมารีได้สดับดังนั้นจึงยกเอาผ้าของอาตมาถวายแก่พระปัจเจกโพธิเจ้า แล้วก็ตั้งความปรารถนาว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพระคุณอันยิ่ง ถ้าแม้ว่ามาณพพาณิชนั้นได้เสวยศิริราชสมบัติเป็นบรมกษัตริย์แล้ว ข้าพเจ้าขอปรารถนาเป็นนางพระยาราชมเหสีแห่งพาณิชผู้นั้น ด้วยเดชะนาง
กุมารีพลอยกระทำบุญตามพาณิชนั้น คนทั้งสองนั้นก็ได้สมัครสังวาสอยู่กินเป็นภรรยาสามีในปัจจุบันชาตินั้นมาแล้ว ก็คิดอ่านการกุศลสร้างศาลาหลังหนึ่งไว้ในที่นั้น ยังให้นายช่างสลักเป็นรูปพระปัจเจกโพธิเจ้า ประดิษฐานตั้งไว้ในศาลา ฝ่ายว่านางกุมารีจึงโกนซึ่งเกศ เอาเกศามาชุบน้ำมันหอมกระทำสักการบูชาพระปัจเจกโพธิเจ้า กระทำผมของต่างไส้ประทีปตามถวาย
ครั้งนั้น คนทั้งสองได้กระทำกุศลด้วยประการดังนี้ ครั้นกระทำกาลกิริยาตายก็ได้ไปบังเกิดในดาวดึงสพิภพเทวโลกเสวยทิพยสมบัติอยู่ช้านาน จนประมาณนับด้วยปีในมนุษย์นี้ได้ ๓ โกฏิ ๖๐ แสนปีเป็นกำหนด ครั้นสิ้นอายุแล้วจุติลงมาเกิดเป็นบรมกษัตริย์ทรงทศพิธราชธรรมทั้ง ๑๐ ประการ เสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงทวารวดีมหานคร ส่วนว่านางฟ้ากุมารีนั้น ก็จุติลงมาเกิดในสกุลมหาเศรษฐี อันประกอบไปด้วยสมบัติมากในกรุงทราวดี ครั้นนางกุมารีธิดาจำเริญชันษาได้ ๑๖ ปี ก็ได้มาเป็นพระราชอัครมหาเศรษฐีแห่งบรมกษัตริย์นั้นทรงพระนามว่า พระมงคลราชเทวี มีแสนสาวสุรางค์แวดล้อมเป็นยศศักดิ์บริวารประมาณ ๑๐ แสน วันหนึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงทราวดีเสด็จแวดล้อมพร้อมด้วยพระสนมข้างในประมาณ ๑๖ แสน ประสงค์พระทัยจะทดลองบุญแห่งพระมงคลราชมเหสีนั้น ให้ปรากฏแก่หมู่สาวสนมทั้งหลาย จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งแก่หมู่นางทั้งหลาย ให้จัดแจงแต่งสำรับเข้าคนละสำรับให้ถ้วนทุกตัวนาง แล้วพระองค์ให้นั่งบริโภคอยู่ตรงหน้าพระที่นั่ง เหล่านางทั้งหลายก็นั่งบริโภคโภชนาหารเป็นปรกติ จะได้เห็นประหลาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งหามิได้ แต่องค์พระมงคลราชมเหสีนั้น นางนั่งอยู่ในที่สุวรรณภาชน์ ล้างพระหัตถ์ลงในที่สุวรรณภาชน์นั้นแล้วก็รับเอาอาหารกระทำเป็นคำขึ้นเข้าไปในพระโอษฐ์ อันว่านิ้วพระหัตถ์ของนางที่จับเอาคำข้าวไว้นั้นก็กลายเป็นทองทุกนิ้วพระหัตถ์ ทุกคำเสวยในที่นั้น ด้วยเดชะผลทานที่พระนางได้ตกแต่งเป็นการกุศลอันประณีตบรรจงแต่บุพพชาติหนหลัง เหล่านางสนมทั้งหลายได้เห็นนิ้วพระหัตถ์พระลงคลราชมเหสี เป็นทองปรากฏแก่อาตมา ก็รู้แจ้งว่านางพระยาเจ้ามีบุญหาควรที่เราท่านทั้งหลายจะเกิดความริษยาหึงหวงไม่ ตั้งแต่วันนั้นมาก็ยำเกรงพระราชมเหสีเป็นอันมากฯ
สมเด็จพระเจ้ากรุงทราวดีนั้นก็มีความเสน่หาในพระมงคลราชมเหสี เสด็จบรรทมเหนือแท่นอันเดียวกัน ก็ได้ทรงตั้งพระนางนั้นไว้ในที่เป็นเอกอัครราชเทวี ผู้มีบุญหานางจะเปรียบเสมอสองมิได้ ด้วยเดชะผลทานของพระนางและของพระองค์ได้กระทำมาเสมอกันแต่บุพพชาติจึงได้เสวยศิริราชสมบัติดังนั้นฯ สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าของเรา ตรัสพระสัทธรรมเทศนาแก่พระสารีบุตรว่า โตไทยพราหมณ์ได้กระทำบุญมาแต่ก่อน จึงได้เสวยสมบัติในสวรรค์และมนุษย์ บัดนี้จึงได้บังเกิดเป็นพราหมณ์ในศาสนาของตถาคต นานไปเบื้องหน้าโน้น โตไทยพราหมณ์จักได้เกิดเป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่านรสีหะ ด้วยเดชะผลทานอันเป็นปรมัตถบารมีปรากฏดุจกล่าวมาฉะนี้
แสดงมาด้วยเรื่องราวโตไทยพราหมณ์ บรมโพธิสัตว์คำรบ ๘ ก็ยุติแต่เพียงนี้ฯ
เอวํ ก็มี ด้วยประการฉะนี้
กัณฑ์ที่ ๔
( สตฺถา สารปุตฺต นรสีหสฺส สาสนากาเล อติกฺกนฺเต มหาปฐวิยา โยชนมตฺตํ
อภิรุฬฺหาย มณฺฑกปฺเป ติสฺโส จ สุมงฺคโล จ เทฺว พุทฺธา อุปฺปชฺชิสฺสนฺตีติ อิมํ ธมฺมเทสนํ กเถสีติฯ )
( อนุสนธิพระสัทธรรมเทศนา มีปุพพาปรสืบเนื่องมาโดยลำดับ บัดนี้จะได้วิสัชนา
ในประวัติกาลแห่งสมเด็จพระพิชิตมารญาณสัพพัญู ทรงพระนามว่า ติสสะ ต่อไป ดำเนินเนื้อความว่า สตฺถา )
พระติสสะ (ช้างนาฬาคีรี)
สมเด็จพระจอมโมลีศรีสรรเพ็ชร์พุทธเจ้าของเรา ตรัสแก่พระสารีบุตรเถระเจ้าว่า ในเมื่อสิ้นศาสนาพระนรสีหะแล้ว แผ่นอินมัณฑกัปก็เกิดไฟประลัยโลกพินาศสังหารล้างผลาญโลกให้ฉิบหาย จนเกิดกัปป์ตั้งแผ่นดินขึ้นมาใหม่ในกาลนั้นเป็นสุญญกัปแผ่นดินหนึ่ง ในเมื่อสุญญกัปฉิบหายล่วงแล้วและเกิดแผ่นดินขึ้นมาใหม่มรนามว่ามัณฑกัปอีกเล่า พระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ จะบังเกิดในมัณฑกัปป์นั้น
– คือช้างนาฬาคีรีหัตถี ที่พระเทวทัตให้พระเจ้าอชาตศัตรูปล่อยออกมา ปรารถนาจะให้แทงองค์สมเด็จพระพุทธเจ้านั้น ก็เป็นบรมโพธิสัตว์สัพพัญญูพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระติสสะสัพพัญญู
– คือช้างปาลิไลยหัตถีนั้นตัวหนึ่ง ก็เป็นบรมโพธิสัตว์จักได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่าพระสุมงคลพระพุทธเจ้า
สองพระองค์นั้นได้ตรัสในมัณฑกัปป์อันเดียวกัน แต่ช้างธนบาลหัตถีคือนาฬาคีรีนั้นจักได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าก่อน ทรงพระนามว่าพระติสสะสัพพัญญูพุทธเจ้า เมื่อพระติสสะสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสนั้น
– พระองค์มีพระวรกายสูงได้ ๘๐ ศอก
– ไม้ไทรเป็นไม้พระศรีรัตนมหาโพธิ
– มีพระชนมายุยืนได้ ๘ หมื่นปี เป็นกำหนด
– พระพุทธรัศมีสว่างเสมอดังเปลวเพลิง อันสุกรุ่งเรืองยังโลกธาตุทั้งปวงให้สว่างไปสิ้นทั้งกลางวันกลางคืน
– พระพุทธรัศมีที่พุ่งผุดออกจากพระสรีรกายเป็นเกลียวอันเดียวกัน แล้วก็แตกออกไปเป็นสีต่างๆ ก็มี
– พระพุทธรัศมีอย่างหนึ่งเวียนเป็นทักขิณาวัฏ เวียนขวาขาวดุจสีสังข์
– พระพุทธรัศมีอย่างหนึ่ง ปรากฏเป็นพุ่มกลุ่มออกไป เปรียบประดุจเศวตฉัตรก็มี
– พระพุทธรัศมีอย่างหนึ่งพุ่งพวยเรียวรีดเร็วออกไปนั้น เปรียบเหมือนชายธงก็มี
– พระพุทธรัศมีที่ออกจากพระสรีรกายแล้วล้อมพระองค์ไว้นั้น ห้อยย้อยแพรวพราวเป็นสายงามประดุจดังว่าระบายสายเศวตฉัตร ประมาณพันหนึ่งก็มี
– ตกว่าพระพุทธรัศมีทั้งหลาย ที่ออกจากพระสรีรกายนั้น ดูเป็นช่อพัวพันพระองค์อยู่โดยรอบคอบ ควรจะเกิดมหัศจรรย์ยิ่งนัก
– ครั้งนั้นด้วยเดชาพระพุทธานุภาพ เกิดไม้กัลปพฤกษ์ขึ้นมา ให้สำเร็จประโยชน์แก่หมู่มนุษย์ทุกสิ่งทุกประการ มิได้ขัดสนได้บริโภคเลี้ยงชีวิต ประดับประดาสรรพาภรณ์ทั้งหลายทั้งปวงเป็นผาสุกภาพโดยสะดวกฯ
ดูก่อนสำแดงธรรมเสนาบดีสารีบุตร อันว่าช้างนาฬาคีรีหัตถีบรมโพธิสัตว์นั้น ได้กระทำกุศลสร้างพระบารมีมาเป็นอันมากอยู่แล้ว แต่กองพระบารมีครั้งหนึ่งปรากฏเป็นยอดยิ่งพระบารมี เป็นปรมัตถคุณอันล้ำเลิศประเสริฐในโลกนี้ มีพระพุทธฎีกาฉะนี้แล้วจึงนำมาซึ่งอดีตนิทานมาตรัสพระสัทธรรมเทศนาว่า อตีเต กาเล ในอดีตกาลล่วงลับไปแล้วช้านาน เมื่อครั้งศาสนาพระโกนาคมน์เจ้านั้น ช้างนาฬาคีรีหัตถีตัวนี้เป็นพระราชโอรสผู้ใหญ่แห่งสมเด็จบรมกษัตริย์พระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระยาธรรมราชผู้ประเสริฐ เสวยศิริราชสมบัติในจำปากนคร บรมกษัตริย์พระธรรมราชนั้น มีโอรสผู้ชาย ๕ พระองค์ ช้างธนบาลหัตถีนาฬาคีรีตัวนี้ เป็นบรมโพธิสัตว์ได้เป็นพระราชโอรสผู้ใหญ่มีนามว่า ธรรมเสนกุมาร ๑ น้องรองลงไปชื่อว่า ภัททกุมารองค์ ๑ ชื่อว่ารามกุมารองค์ ๑ ชื่อว่าปมาทกุมารองค์ ๑ ชื่อว่าธัชชกุมารองค์ ๑ เป็นพระราชกุมาร ๕ พระองค์ด้วยกัน
ครั้งนั้นสมเด็จพระราชบิดาสั่งให้พระราชโอรสทั้ง ๕ พระองค์นั้น ไปเรียนศิลปศาสน์ในสำนักแห่งทิศาปาโมกข์อาจารย์ ณ เมืองตักศิลา พระราชกุมารทั้งหลายก็ไปเรียนได้วิชชาศิลปะศาสตร์คนละอย่างละอย่าง
– เจ้าธรรมเสนกุมารผู้เป็นพระเชษฐาพี่ชายใหญ่นั้น รู้วิชชาการกล่าวแก้ในทานและศีลเป็นศิลปศาสตร์ฯ
– เจ้าภัททกุมารนั้น รู้วิชชาศรธนูอันมีพิษเป็นศิลปศาสตร์ฯ
– เจ้ารามกุมารนั้น รู้วิชชาดอกไม้ไฟเป็นศิลปะศาสตร์ฯ
– เจ้าปมาทกุมารนั้น รู้วิชชาช่างทองเป็นศิลปะศาสตร์ฯ
– เจ้าธัชชกุมารนั้น รู้วิชชามนต์บำราบอสรพิษเป็นศิลปะศาสตร์ฯ
อันว่าพระราชกุมารทั้ง ๕ พระองค์เรียนได้ชำนิชำนาญแล้ว ก็ลาอาจารย์ออกจากเมืองตักศิลามาถึงกรุงจำปากนครแล้ว ก็เข้าไปยังสำนักสมเด็จพระราชบิดา ถวายบังคมแล้งจึงกราบทูลสำแดงศิลปะศาสตร์แห่งตนที่เรียนมา ถวายแก่สมเด็จพระบิดาต่างๆกัน สมเด็จพระบิดาได้ทัศนาเห็นศิลปศาสตร์ของพระราชโอรสก็ดีพระทัยนัก ตรัสสรรเสริญพระราชกุมารทั้งหลาย แล้วก็พระราชทานบำเหน็จรางวัลให้พระราชโอรสตามสมควร
อยู่จำเนียรกาลมา พระราชโอรสมีวัยเจริญขึ้น สมควรที่จะครอบครองศิริราชสมบัติได้แล้ว ส่วนสมเด็จพระราชบิดานั้นทรงคิดว่าเรามีความเสน่หาในลูกทั้งหลายเป็นอันมาก เมื่ออยู่พร้อมกันทั้ง ๕ คนนี้แม้เรายกสมบัติให้แก่ลูกผู้ใดแล้ว ลูกทั้งหลายที่ไม่ได้ราชสมบัติ ก็จะเกิดรบพุ่งฆ่าฟันกันชิงเอาราชสมบัติเป็นอันแท้ ด้วยว่าราชกุมารทั้งหลายนี้ ล้วนมีศิลปศาสตร์เรียนมาแต่สำนักอาจารย์ทั้งสิ้น ถ้าชาวเมืองทั้งหลายอื่นๆสรรเสริญซึ่งศิลปศาสตร์ของกุมารคนใดแล้ว เราก็จะยกศิริราชสมบัติให้แก่กุมารคนนั้น เมื่อพระองค์ทรงจินตนาดังนี้แล้ว ก็สั่งให้จัดแจงแต่งนาวาไว้พร้อม จึงได้หาพระราชกุมารทั้ง ๕ พระองค์มา แล้วตรัสว่าดูก่อนเจ้าทั้งหลาย ผู้เป็นลูกรักของบิดา บิดาได้ทรงทราบว่าเจ้าทั้งหลายเรียนศิลปะศาสตร์ได้คนละอย่างต่างๆกัน บิดาก็มีความยินดี บัดนี้เจ้าจงพากันไปในพระนครอื่น แล้วจงสำแดงศิลปศาสตร์ให้มนุษย์ชาวเมืองเห็น ถ้ามหาชนทั้งหลายในเมืองอื่นนั้น กล่าวชมสรรเสริญศิลปศาสตร์ ของเจ้าคนใด บิดาจะยกศิริราชสมบัติให้แก่เจ้าผู้นั้นมีพระราชโองการตรัสดังนั้นแล้ว ก็ให้พระราชกุมารทั้งหลายไปในสาคร
.เมื่อพระราชกุมารทั้งหลายไปถึงท่ามกลางมหาสมุทรเข้าแล้ว ฝ่ายพระราชกุมารมีเจ้าภัททกุมารเป็นอาทิ ซึ่งเป็นพระอนุชาแห่งเจ้าธรรมเสนบรมโพธิสัตว์ทั้ง ๔ พระองค์ ไม่มีสติปัญญาสำคัญผิดคิดมิชอบ หลงใหลไปในท้องสมุทร
– ครั้งนั้นเจ้าภัททกุมารเข้าใจว่าลูกศรอันเป็นพิษ ที่อาจารย์สั่งสอนมานั้นว่า มีอยู่ภายใต้ท้องพระมหาสมุทร โดยคิดว่าเราจะโจนลงไปในน้ำ สำแดงศิลปศาสตร์ภายใต้ท้องพระมหาสมุทร มีชัยชนะได้ลูกศรอันมีพิษขึ้นมา เมื่อพระบิดาได้ทรงฟังว่าเรามีชัยก็จะยกศิริราชสมบัติให้แก่เรา เจ้าภัททกุมารคิดดังนี้แล้ว ก็โจนลงไปในท้องมหาสมุทร ครั้งนั้นมหามัจฉาปลาใหญ่ก็กินกุมารนั้นเสียฯ
– ครั้นสำเภาแล่นไปในเบื้องหน้า จนถึงเวลาเที่ยงคืน น้ำในท้องมหาสมุทรเป็นสีพราย เปรียบเหมือนดอกไม้ไฟ เจ้ารามกุมารสำคัญในใจว่าเพลิงดอกไม้ไฟนั้น มีอยู่ในท้องมหาสมุทรถ้าเราลงไปเอาขึ้นมา ทราบถึงพระบิดาก็จะยกศิริราชสมบัติให้แก่เรา คิดแล้วก็โจนลงไปในท้องมหาสมุทร ปลาใหญ่ก็กินกุมารนั้นเสียฯ
– ครั้นเวลารุ่งสว่างขึ้นมา ถึงตะวันเที่ยงสำเภาแล่นไป เจ้าปมาทกุมารนั้น เห็นดวงพระอาทิตย์ปรากฏในท้องพระมหาสมุทร ก็สำคัญว่าทองคำเนื้อบริสุทธิ์ปราศจากราคีมีอยู่ในน้ำ ถ้าเราลงไปดำเอาขึ้นมาได้ เห็นว่าชัยชนะจะพึงมีแก่อาตมา พระบิดาทรงทราบแล้วก็จะยกศิริราชสมบัติให้แก่เรา คิดแล้วก็โจนน้ำดำลงไป ปลาใหญ่ก็กินกุมารนั้นเสียฯ
– สำเภาแล่นไปจนถึงเมืองหนึ่งเข้า เจ้าธัชชกุมารนั้นขึ้นไปในเมือง เพื่อจะสำแดงศิลปะศาสตร์ของตน จึงร่ายมนต์แล้วก็แปลงกายเป็นอสรพิษเลื้อยไปในท่ามกลางมหาชนทั้งหลาย ชาวเมืองเห็นงูร้ายเลื้อยมาดังนั้นก็ชวนกันกลุ้มรุมตีด้วยไม้ค้อนก้อนดิน กระทำให้พินาศฉิบหายตายอยู่ในที่นั้นฯ
ตกว่าพระราชกุมารทั้ง ๔ ตายสิ้น ด้วยศิลปะศาสตร์ของอาตมาอันหาปัญญาสำคัญมิได้ ด้วยคิดวิปลาสผิดไป ก็ได้ซึ่งความฉิบหายดังนั้น
ยังเหลืออยู่แต่เจ้าธรรมเสนกุมารผู้เป็นพี่ชาย อาศัยอยู่ในเมืองนั้น ยังมีพระฤๅษีทั้งหลายประมาณ ๘ หมื่น มาแต่ป่าหิมพานต์ เหาะมาโดยอากาศเวหาลงในเมืองนั้น แล้วก็เข้าไปโคจรบิณฑบาตในท่ามกลางเมือง เจ้าธรรมเสนกุมารทัศนาเห็นพระดาบสทั้งหลายเดินตามกันมาเป็นอันมาก จึงคิดว่าเรารู้วิชาการศิลปศาสตร์มาแต่สำนักตักศิลา ก็เรียนมามากอยู่แล้วยังไม่เหาะไปในอากาศได้ พระดาบสทั้งหลายเหล่านี้ ล้วนแต่เหาะได้ด้วยกันสิ้นทุกองค์ จะเป็นเหตุดังฤาหนอ จำจะเข้าไปไต่ถามพระดาบสดูสักหน่อย คิดแล้วเจ้าธรรมเสนก็เข้าไปหาพระดาบสทั้งหลายถามว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้านี้เหาะได้ด้วยเหตุดังฤา พระดาบสทั้งหลายจึงตอบว่า ดูก่อนมาณพพระฤาษีทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมไปอาศัยอยู่ในมหาวันต์ราวป่าใหญ่ แล้วได้ซึ่งวิชาการเหาะได้ในอากาศ เหตุดังนั้นเราจึงได้มาถึงเมืองนี้ฯ เจ้าธรรมเสนกุมารจึงว่า ข้าพเจ้าก็มีศิลปะศาสตร์เชี่ยวชาญชำนาญอยู่ ในเมืองจำปากนครหาผู้จะเสมอมิได้ เหตุไรข้าพเจ้าจึงมิอาจเหาะไปได้ฯ ถ้าข้าพเจ้ารู้วิชชาศิลปะศาสตร์เหาะได้ด้วยอุบายของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะขอเป็นทาสของพระผู้เป็นเจ้า ขอพระผู้เป็นเจ้าจงได้กรุณาข้าพเจ้าด้วยเถิดฯ พระดาบสได้ฟังพระราชกุมารว่าดังนั้นก็มีความเอ็นดูกรุณา แล้วจึงแสดงอิทธิฤทธิ์พากุมารธรรมเสนนั้น เหาะไปยังป่าหิมพานต์ ให้ธรรมเสนราชกุมารบวชเป็นดาบส แล้วก็สอนให้กระทำสมถะบริกรรมภาวนาเจริญฌาน ยังอภิญญาสมาบัติให้บังเกิดบริบูรณ์ ได้ซึ่งตาทิพย์ รู้จิตผู้อื่น ระลึกชาติหนหลังได้ ทรงอิทธิฤทธิ์ เป็นศิลปศาสตร์อันประเสริฐ
พระดาบสธรรมเสนนั้น ได้ซึ่งของอันวิเศษแล้ว ก็คิดว่าเราจะไปแสดงศิลปศาสตร์ให้พระราชบิดาเห็นเป็นอัศจรรย์ คิดแล้วก็ลาพระดาบสทั้งหลายด้วยวาจาว่าจะไปแสดงศิลปศาสตร์แก่พระราชบิดา กราบนมัสการลาพระดาบสแล้วก็เข้าฌานกระทำอิทธิฤทธิ์เหาะมา ในอากาศเวหา มีเฉพาะหน้าเมืองจำปากะฯ ชาวเมืองเห็นพระดาบสธรรมเสนก็ชวนกันสรรเสริญยิ่งนักหนา ฝ่ายพระดาบสธรรมเสนก็เข้าไปสู่สำนักพระราชบิดา พระธรรมราชาธิราชทอดพระเนตรเห็นพระโอรสทรงเพศเป็นบรรพชิตดาบสเข้ามาหาดังนั้น ก็บังเกิดความเสน่หาเป็นอันมาก ยังพระธรรมเสนดาบสราชโอรสให้นั่งบนตัก แล้วก็ตรัสไต่ถามประพฤติเหตุทั้งปวงว่า ดูก่อนพ่อพระกนิษฐ กุมารทั้ง ๔ คนนั้น ไปอยู่ในที่ดังฤา จึงมาแต่พ่อผู้เดียวดังนี้ฯ พระดาบสธรรมเสนจึงเล่าความแต่หนหลัง ตั้งแต่ต้นจนอวสานให้พระบิดาฟังสิ้นทุกสิ่งทุกประการฯ สมเด็จพระเจ้าธรรมราชาธิราชได้ทรงฟัง จึงตรัสว่า ดูก่อนพ่อธรรมเสนผู้ลูกรัก บัดนี้บิดาแก่ชราอายุมากแล้ว บิดาจะยกศิริราชสมบัติมิ่งมไหศวรรย์เศวตฉัตรมอบให้ในกาลบัดนี้ฯ เมื่อพระธรรมเสนดาบสได้สดับฟังพระบิดาตรัสดังนั้นก็รับเอาศิริราชสมบัติไว้ตามพระบิดาให้ฯ
จึงมีโจทย์เข้ามาว่า พระธรรมเสนดาบสนั้น ทรงเพศบรรพชิต สำเร็จอิทธิฤทธิ์อภิญญาสมาบัติทุกประการอยู่แล้ว เหตุไรเล่าจึงรับเอาศิริราชสมบัติในครั้งนี้ฯ
พระอรรถกถาจารย์เจ้าผู้เป็นปราชญ์วิสัชนาแก้ว่า พระธรรมเสนนั้นเป็นหน่อพุทธางกูร จะใคร่ก่อสร้างพระบารมีแสวงหาพระโพธิญาณ ถ้ายับยั้งอยู่ด้วยเพศบรรพชิตดังนี้แล้ว ก็มิอาจจะกระทำทานมหาบริจาคอันใดได้ ด้วยไม่มี บุตร ภรรยายอดรัก ข้าทาสหญิงชาย และ โค มหิงส์ ช้าง ม้า ราชรถ สรรพสิ่งทั้งปวง ซึ่งจะสละเป็นมหาบริจาค แม้อยู่เป็นฆราวาสประกอบไปด้วยบุตร ภรรยาแล้ว จึงอาจสามารถยังมหาทานให้บังเกิดกองทานบารมี เป็นปรมัตถมงกุฏได้โดยสะดวก เหตุดังนั้นพระธรรมเสนดาบสบรรพชิตบรมโพธิสัตว์ จึงรับเอาศิริราชสมบัติที่สมเด็จพระราชบิดายกให้ฯ
ครั้งนั้นพระบรมโพธิสัตว์ธรรมเสนก็เปลื้องเครื่องบริขารบรรพชิตออกเสียจากสรีรกาย ทรงเพศเป็นคฤหัสถ์ แล้วก็กล่าวประกาศถ้อยคำเป็นอธิษฐาน ดูก่อนอัฐบริขารผู้เจริญเอ๋ย ท่านจงไปยังสำนักพระดาบสทั้งหลายเถิด ในขณะขาดคำอธิษฐานแห่งพระบรมโพธิสัตว์เจ้าครั้งนั้น เครื่องบริขารทั้ง ๘ ก็ปลิวลอยไปในอากาศเวหา ลงยังสำนักแห่งพระดาบสทั้งหลาย ส่วนสมเด็จพระธรรมราชาธิราชผู้เป็นพระบิดา ก็ให้ตีกลองร้องป่าวชาวพระนคร ให้มหาชนทั้งหลายสันนิบาตประชุมพร้อมกันแล้ว จึงกระทำอภิเษกสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ผู้เป็นพระราชโอรส กับด้วยนางลัมภุสสราชเทวี เป็นอัครมเหสีครอบครองกรุงจำปากมหานครเป็นสุขสำราญมา ตนพระราชเทวีอัครมเหสีทรงพระครรภ์ ถ้วนทศมาสแล้วก็คลอดพระราชบุตร เมื่อพระราชบุตรบทจรยกย่างได้ถนัดแล้ว นางก็ทรงครรภ์อีก ประสูติพระราชธิดา ลำดับนั้น พระเจ้าธรรมเสนผู้เป็นบรมกษัตริย์แสวงหาพระโพธิญาณ เสด็จด้วยพระราชโอรส พระราชธิดา และพระราชมเหสี ไปประพาสนอกพระนคร เพื่อจะลงสรงสาครเล่นให้สุขสำราญ กับด้วยราชบริวารสาวสนมกรมในทั้งปวง และหมู่มุขมนตรีทั้งหลายก็ลงเล่นน้ำสำราญใจฯ
ครั้งนั้น ยังมียักษ์ตนหนึ่งได้ทัศนาการเห็นพระกุมาร และกุมารีทั้งสองพระองค์ ก็มีความปรารถนาเพื่อจะกินเป็นภักษาหาร บ่มิอาจอดกลั้นความอยากอยู่ได้ จึงเดินมาสำแดงกานให้ปรากฏเฉพาะหน้าแห่งพระเจ้าธรรมเสนบรมกษัตริย์ แล้วก็ร้องขอด้วยคำว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์อันประเสริฐ ข้าพเจ้ามาบัดนี้มีความปรารถนาจะขอรับพระราชทาน พระกุมาร และพระกุมารี ทั้ง ๒ ของพระองค์ พระองค์จงทรงพระกรุณาข้าพเจ้า โปรดเกล้าพระราชทานกุมาร และกุมารี ให้แก่ข้าพเจ้ากินเป็นภักษาหารในกาลบัดนี้เถิดฯ เมื่อพระเจ้าธรรมเสนบรมโพธิสัตว์ ได้ทรงฟังยักษ์ทูลขอพระลูกรักทั้ง ๒ ดังนั้น ก็เกิดความกรุณาจิตขึ้นมา จึงตรัสว่า ดูก่อนยักษ์ผู้เจริญ ท่านกล่าวถ้อยคำดังนี้เพราะนักเป็นสุนทรวาจาอันยิ่ง ตรัสแล้วก็เสด็จอุฏฐาการ จูงเอาข้อพระหัตถ์กุมาร และกุมารีทั้ง ๒ องค์มาส่งให้แก่ยักษ์ แล้วตรัสว่าเชิญท่านมารับเอาปิยบุตรทานของเรา แล้วก็จับเอาพระเต้าทอง มาหล่อหลั่งอุทกวารีลงเหนือมือยักษ์ จึงตรัสว่า ราชกุมาร และราชกุมารีทั้ง ๒ องคืนี้ ใช่เราจะไม่มีความเสน่หาอาลัยหามิได้ แต่เรามีความรักพระสัพพัญญุตญาณนั้นยิ่งกว่ากุมารทั้ง ๒ ได้ร้อยเท่าพันทวี ด้วยเดชะผลทานของเราที่สละกุมารทั้ง ๒ องค์ให้เป็นทานแก่ท่านบัดนี้ บอให้บังเกิดมีผลเป็นที่สุดถึงพระสัพพัญญูสรรเพชุดาญาณ ในอนาคตกาลเบื้องหน้า พระองค์ประกาศแก่ฝูงเทพเจ้าทั้งหลายแล้ว มหัศจรรย์ก็บังเกิดมีต่างๆนาๆ เป็นต้นว่าแผ่นดินไหวทั่วโลกธาตุฯ ครั้นว่ายักษ์ได้รับพระราชทานแล้ว ก็กินกุมารทั้ง ๒ องค์เป็นอาหาร แล้วก็เข้าสู่อรัญญราวป่าฯ ฝ่ายพระเจ้าธรรมเสนบรมกษัตริย์กับพระราชมเหสีก็เสด็จกลับเข้าพระนครฯ
ในกาลเมื่อเสด็จถึงประตูเมือง พระองค์ทอดพระเนตรบุรุษแก่คนหนึ่งนั่งเป็นทุกข์อยู่ในที่นั้น จึงมรพระราชโองการตรัสถามว่า เหตุไฉนบุรุษแก่ท่านจึงมานั่งเป็นทุกข์อยู่ในที่นี้ บุรุษนั้นจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ จำเดิมแต่เกล้ากระหม่อมเกิดมา จนอายุถึงเพียงนี้แล้ว บุตร ภรรยา ก็หามีไม่ ข้าพระบาทจึงมานั่งเศร้าโศกอยู่ในที่นี้ฯ พระองค์ได้สดับฟังบุรุษแก่กราบทูลดังนั้นฯ จึงตรัสว่าเราจะยกพระราชมเหสีให้เป็นทานบารมีอันยิ่งแก่ท่าน ตรัสแล้วก็จับเอาข้อพระหัตถ์พระราชมเหสีลงจากยานุมาศ พาพระนางเข้าไปให้ใกล้บุรุษแก่นั้นแล้วตรัสว่า ท่านจงมารับเอาองค์พระราชมเหสีของเราไปโดยเร็วเถิด เรายกให้เป็นทานแก่ท่านบัดนี้ แล้วก็หลั่งอุทกวารีให้ตกลงเหนือมือบุรุษแก่ แล้วก็ประกาศด้วยวาจาปรารถนาว่า เดชะผลทานที่เราได้ยกนางลัมภุสสราชเทวีอัครมเหสีให้แก่ท่านครั้งนี้ ขอให้เป็นปัจจัยแก่พระสร้อยสรรเพชุดาญาณเถิดฯ ในกาลครั้งนั้น อัศจรรย์ก็บังเกิดมีแผ่นดินไหวเป็นอาทิ ดุจสำแดงมาแล้วแต่หนหลังฯ ครั้นบุรุษแก่ได้รับพระราชทานพระราชมเหสีแล้ว จึงมีวาจาปราศรัยกับพระนางว่า ดูก่อนเจ้าผู้เจริญ ตัวของเรานี้เป็นคนแก่เฒ่า อนึ่งเล่าทรัพย์สมบัติทั้งปวงก็ไม่มี ดังฤาเจ้าจะอยู่ด้วยพี่ได้ฯ
ครั้นพระเจ้าธรรมเสนได้ทรงฟังบุรุษแก่กล่าววาจากับด้วยพระนางดังนั้น จึงทรงคิดว่าเราจะยกราชสมบัติให้กับบุรุษแก่เสียแล้วจะออกทรงบรรพชาเป็นดาบสเห็นว่าจะประเสริฐ ดำริดังนี้แล้วจึงให้หาตัวบุรุษผู้นั้นมา แล้วก็พระราชทานราชสมบัติทั้งปวงให้แก่บุรุษนั้น แล้วก็ร้องประกาศตั้งความปรารถนาดุจในหนหลัง อัศจรรย์ก็บังเกิดเหมือนแต่ก่อนฯ แล้วก็ทรงพระอธิษฐานว่า ดูก่อนอัฐบริขารทั้ง ๘ ประการ เชิญมายังสำนักแห่งเราในกาลบัดนี้ ในขณะนั้นอันว่าเครื่องบริขารบรรพชิตทั้ง ๘ ประการ ก็เลื่อนลอยมาตกลงตรงพระพักตร์ดุจดังว่ามีจิตวิญญาณ พระบรมโพธิสัตว์ก็ทรงเพศบรรพชาเป็นดาบส เจริญบริกรรมภาวนา ยังอภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ ให้บังเกิดขึ้นเหมือนครั้งก่อน แล้วก็เหาะไปในอากาศลงยังป่าพระหิมพานต์ เข้าไปสู่สำนักแห่งหมู่พระฤาษีทั้งหลายฯ
ในกาลครั้งนั้น ยังมีพระอริยะสาวกองค์หนึ่ง แห่งพระโกนาคมนเจ้า เข้าไปสำราญอยู่ในป่าพระหิมพานต์ พระฤาษีทั้งหลายได้ทัศนาเห็นพระอรหันต์อันวิเศษมาก็มีความเลื่อมใสไหว้กราบสักการบูชาพระอริยสาวกเจ้า นิมนต์ให้ยับยั้งอยู่สิ้นราตรีหนึ่ง ครั้นรุ่งขึ้นเป็นเวลาเช้าพระดาบสธรรมเสนบรมโพธิสัตว์นั้น ก็เหาะมายังสำนักสมเด็จพระโกนาคมนเจ้าพร้อมด้วยพระอริยสาวก แล้วก็เข้าไปกราบนมัสการแทบพระบาทมูลแห่งสมเด็จพระสัพพัญญู พิจารณาดูทวัตติงสมหาบุรุษลักษณะ แล้วก็เกิดความโสมนัสยินดีขึ้นมา จึงกราบทูลอาราธนาพระโกนาคมนเจ้าให้ตรัสพระสัทธรรมเทศนาฯ ครั้งนั้นสมเด็จพระผู้ทรงพระภาคเจ้าจึงทรงพระมหากรุณาตรัสพระสัทธรรมเทศนาว่าฯ ดูก่อนธรรมเสนดาบสผู้เจริญ บัดนี้สมควรตัวท่านจะพินิจพิจารณาซึ่งกิริยาอันจะให้ไปสู่เมืองแก้ว คือพระอมตมหานครนิพพาน จึงจะชอบแก่ตัวท่านฯ จึงมีพระพุทธฎีกา ตรัสเป็นนัยคัมภีรภาพด้วยประการดังนั้น
พระธรรมเสนดาบสได้สดับก็บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธา คิดว่าจะตัดซึ่งเศียรเกล้าออกกระทำสักการบูชาพระสัทธรรมเทศนา แห่งสมเด็จพระโกนาคมนเจ้าเถิด จึงกระทำอธิษฐานเล็บของพระองค์ให้คมดุจดาบ ตรัสซึ่งเศียรเกล้าให้ขาด แล้วก็วางไว้ในฝ่าพระหัตถ์ ชูขึ้นกระทำสักการบูชาสมเด็จพระพุทธเจ้า กล่าวเป็นพระคาถาตั้งความปรารถนาว่า พระองค์ทรงพระนามว่าพระโกนาคมนเจ้า ได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูผู้ประเสริฐแล้ว นานไปในอนาคตกาลเบื้องหน้า ข้าพระบาทขอปรารถนาให้ได้สำเร็จพระศรีสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ด้วยศีลทานของข้าพระบาทนี้ อนึ่งเล่าพระองค์ผู้ทรงพระมหากรุณาเป็นที่พึ่งแก่ไตรโลกแล้ว จะล่วงลับดับขันธ์เข้าสู่เมืองแก้วก่อนข้าพระบาทเล่า ข้าพระบาทขอปรารถนาให้สำเร็จพระนิพพานในกาลเบื้องหน้า ด้วยเดชะผลศีลทานของข้าพระบาทในครั้งนี้ฯ กล่าวพระคาถาเป็นใจความสองข้อด้วยประการดังนี้แล้ว ดาบสธรรมเสนก็จุติไปบังเกิดในดุสิตาสวรรค์ อัศจรรย์ก็บังเกิดมีดุจในหนหลังฯ
อันว่าช้างนาฬาคีรีเป็นบรมโพธิสัตว์แต่ครั้งสาสนาพระโกนาคมน์ ได้สร้างพระบารมีมาเป็นอันยิ่ง นานไปเบื้องหน้าจะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระติสสะสัพพัญญูฯ
แสดงมาด้วยเรื่องราว ช้างนาฬาคีรีหัตถีบรมโพธิสัตว์คำรบ ๙ ก็สิ้นเนื้อความยุติลงแต่เท่านี้ฯเอวํ ก็มี ด้วยประการฉะนี้
กัณฑ์ที่ ๕
( ภควา โภ สาริปุตฺต ติสฺสสฺส พุทฺธสฺส สาสนกาเล อติกฺกนฺเต ตตฺถ กปฺเป
หตฺถีปาลิเลยฺโย อนาคเต สุมงฺคโล นาม พุทฺโธ ภวิสฺสตีติ อิมํ ธมฺมเทสนํ กเถสีติฯ )
( อนุสนธิ พระสัทธรรมเทศนา มีปุพพาปรสืบเนื่องมาโดยลำดับ บัดนี้จะได้วิสัชนา ในประวัติกาลแห่งองค์สมเด็จศรีสรรเพ็ชญ์สัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า สุมงคลต่อไป ดำเนินความว่า )
พระสุมงคล (ช้างปาลิไลยกะ)
ภควา อันว่าองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าแห่งเรา ตรัสพระสัทธรรมเทศนาว่า เมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงพระนามว่า พระติสสะสัพพัญญูพุทธเจ้า เสด็จล่วงลับดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพานสิ้นกาลช้านานแล้วฯ ในลำดับนั้น อันว่าช้างปาลิไลยหัตถีตัวรี้ก็เป็นพระบรมโพธิสัตว์สร้างพระบารมีมาเป็นอันมาก จักได้ตรัสเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าพระสุมงคลในอนาคตกาล พระสุมงคลทศพลญาณเจ้านั้น
– มีพระองค์สูงได้ ๖๐ ศอก
– พระชนมายุมีประมาณแสนปีเป็นกำหนด
– ไม้กากะทิงเป็นพระศรีมหาโพธิ
– ประดับด้วยพระพุทธรัศมีรุ่งเรืองสว่าง ดังสีทองเป็นอันงามประดุจกลางวัน
– แล้วจะบังเกิดมีไม้กัลปพฤกษ์ต้นหนึ่ง ห้อยย้อยไปด้วยสิ่งของเครื่องประดับ มีประการต่างๆด้วยพระพุทธานุภาพ
ฝูงมนุษย์ทั้งหลายในพระศาสนาของพระสุมงคล มิได้กระทำซึ่งกสิกรรม วาณิชกรรม ได้อาศัยซึ่งต้นกัลปพฤกษ์นั้น ประพฤติเลี้ยงชีวิตแห่งอาตมา มนุษย์ทั้งหลายมีความผาสุกสบาย ขวนขวายแต่การเล่นเต้นรำแต่งตัวอยู่เป็นนิจ เสมอเหมือนเทพบุตร เทพธิดา ซึ่งได้ทิพยสมบัติในสวรรค์เทวโลกฯ สมเด็จพระสุมงคลทศพลญาณเจ้า ก่อสร้างพระบารมีมาทั้ง ๑๐ ประการ จึงสำเร็จแก่พระพุทธสมบัติเห็นปานดังนี้ฯ อันว่ากองพระบารมีครั้งหนึ่ง พระองค์กระทำมาแต่ยังเป็นพระบรมโพธิสัตว์อยู่นั้น ปรากฏเป็นปรมัตถบารมีอันยิ่งยอดอย่างเอกอุดมทานฯ
ดูก่อนสำแดงสารีบุตร แต่กาลก่อนล่วงลับไปแล้วช้านาน ช้างปาลิไลยตัวนี้เป็นพระบรมโพธิสัตว์ บังเกิดเป็นสมเด็จพระบรมจักรพรรตราธิราช ทรงพระนามว่าพระเจ้ามหาปนาทบรมจักร ในภัทรกัปป์อันนี้ และมีแก้ว ๗ ประการคือ
– จักรแก้ว ๑
– นางแก้ว ๑
– แก้วมณีโชติ ๑
– ช้างแก้ว ๑
– ม้าแก้ว ๑
– ปรินายกแก้ว ๑
– คฤหบดีแก้ว ๑
สมเด็จพระเจ้ามหาปนาทบรมจักร ได้เสวยศิริราชสมบัติอยู่ในทวีปทั้ง ๔ มีทวีปน้อย ๒ พันเป็นบริวาร พระองค์ทรงพระสำราญอบู่เป็นปรกติ มาจนถึงกาลสมเด็จพระกุกกุสันธสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดในโลก กาลครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้ามหาปนาทบรมจักรได้ทรงทราบว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าได้ตรัสในโลกแล้ว
จึงตรัสประกาศสั่งจักรแก้วว่า ดูก่อนจักรแก้วผู้เจริญ ท่านจงไปยังท้องพระมหาสมุทรถือเอาซึ่งดวงแก้วมณีมาให้แก่เรา จักรแก้วนั้นก็ไปยังท้องพระมหาสมุทร ดุจดังว่ามีจิตวิญญาณ นำเอาแก้วมณีมาถวายฯ
แล้วอยู่มาภายหลังพระองค์จึงตรัสสั่งช้างแก้วว่า ดูก่อนช้างแก้วผู้เจริญท่านจงไปที่ฉัตรทันต์สระ แล้วพาช้างแก้วมาให้แก่เราฯ ครั้งนั้นช้างแก้วก็เหาะไปยังฉัตรทันต์สระ พาเอาช้างชาติฉัตรทันต์ทั้งหลายประมาณ ๘ หมื่นมาถวายฯ
แล้วพระองค์จึงสั่งกับม้าแก้วว่า ดูก่อนม้าแก้วผู้เจริญท่านจงไปยังท่าสินธพนที แล้วพาม้าแก้วทั้งหลายมาให้แก่เรา ม้าแก้วนั้นก็เหาะไปในอากาศ ถึงริมฝั่งสินธพนที แล้วพาม้าแก้วมาถวายฯ
แล้วพระองค์จึงตรัสสั่งนางแก้วพระราชมเหสีนั้นว่า ภทฺเท ดูก่อนเจเาผู้มีพักตร์อันเจริญ เจ้าจงไปยังแว่นแคว้นอุดรกุรุทวีปพานางแก้วทั้งหลายมาให้แก่เราฯ ขณะนั้นนางแก้วผู้เป็นพระราชมเหสีก็เหาะไปยังอุดรกุรุทวีป พาเอานางแก้วทั้งหลายประมาณ ๘ หมื่นมาถวายฯ
แล้วพระองค์จึงตรัสสั่งแก้วมณีโชติว่า ดูก่อนแก้วมณีโชติผู้เจริญ ท่านจงไปยังเขาวิบุลบรรพต นำเอาแก้วมณีมาให้แก่เราฯ อันว่าแก้วมณีโชติก็เลื่อนลอยไปยังเขาวิบุลบรรพตพาเอาแก้วมณีทั้งหลายประมาณ ๘ หมื่นดวงมาถวายฯ
แล้วพระองค์ตรัสสั่งปรินายกขุนพลแก้วของพระองค์ว่า ดูก่อนปรินายกแก้วผู้เจริญ ท่านจงไปยังอุดรกุรุทวีป และอมรโคยานทวีป และบุพพวิเทหทวีป ทั้ง ๓ ถอดเอาดวงแก้วในยอดเขากัมพูฉัตรมาให้แก่เราฯ ฝ่ายขุนพลแก้วผู้เป็นปรินายกรับพระราชโองการแล้ว ก็เหาะไปยังทวีปทั้ง ๓ จึงถอดเอาดวงแก้วมณีที่ยอดเศวตฉัตรแห่งมหากษัตริย์ผู้เสวยศิริราชสมบัติในทวีปทั้ง ๓ มาถวายฯ
แล้วพระองค์ก็ตรัสสั่งคฤหบดีแก้วผู้เป็นขุนคลังว่า ดูก่อนคฤหบดีแก้ว ท่านจงไปในโสฬสมหานครใหญ่ทั้ง ๑๖ เมืองนั้น นำเอาดวงแก้วมณีมาให้แก่เราฯ คฤหบดีแก้วก็เหาะไปในโสฬสมหานคร ครั้นถึงแล้วได้ทัศนาการเห็นสมเด็จพระพุทธกุกกุสนธสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จยับยั้งอยู่ในพระวิหารในกาลนั้น คฤหบดีแก้วก็มิได้รู้จักซึ่งสมเด็จพระกุกกุสนธเจ้า ว่าเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทโธ จึงเข้าไปยังสำนักกุกกุสนธเจ้าแล้วถามว่า มณว ดูก่อนมาณพผู้เจริญ ตัวท่านนี้มีนามชื่อไร จึงมีรูปโฉมงามบริสุทธิ์เป็นอันดีฯ
ครั้งนั้นสมเด็จพระผู้ทรงพระภาคเจ้า จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดีแก้ว เราหรือมีนามชื่อว่าพระศาสดาจารย์ คฤหบดีจึงถามอีกว่าฯ ดูก่อนมาณพผู้เจริญท่านมีนามชื่อว่าศาสดาจารย์ด้วยเหตุเป็นดังฤาฯ จึงทรงพระมหากรุณาตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดีแก้ว เราชื่อพระศาสดาจารย์นั้นเพราะเหตุประกอบไปด้วยอาจริยคุณ ๓๑ ประการฯ คฤหบดีจึงถามว่า คุณ ๓๑ ประการแห่งท่านปรากฏเป็นประการใด จึงได้ชื่อว่าอาจริยคุณฯ สมเด็จพระกุกกุสนธเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดีแก้ว คุณเป็นอาทิคือ อิติปิ โส ภควา นี่แหละเป็นคุณแห่งเรา ปรากฏกิตติศัพท์ไปทั่วโลก จึงมีนามว่า พระศาสดา จริยคุณทั้ง ๓๑ ประการฯ เมื่อคฤหบดีแก้วได้สดับพระพุทธวจนะดังนั้น จึงจารึกเอาพระ อิติปิ โส ภควา เป็นอาทิ ลงไว้ในแผ่นทองเป็นตัวอักษรเสร็จแล้ว จึงถามพระผู้ทรงพระภาคเจ้าว่า ดูก่อนมาณพผู้เจริญ ท่านรู้คุณวิเศษมีประมาณเท่านี้แลหรือ หรือว่าคุณวิเศษอย่างอื่นยังมีอยู่เป็นประการใดฯ จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่าดูก่อนคฤหบดีแก้ว อันว่าคุณวิเศษอย่างอื่นแห่งเรามีอยู่เป็นอันมากฯ คฤหบดีแก้วก็ให้พระกุกกุสันธเจ้าแสดงต่อไปฯ สมเด็จพระพุทธเจ้าจึงตรัสพระสัทธรรมเทศนา ทรงแสดงซึ่งคุณในกายคตาสติกัมมัฏฐาน บอกอาการ ๓๒ มี เกศา โลมา เป็นอาทิ ให้แก่คฤหบดีแก้ว คฤหบดีแก้วก็จารึกพระรูปพระโฉมของสมเด็จพระกุกกุสนธเจ้าอันงาม พร้อมด้วยทวัตติงสมหาบุรุษลักษณะเป็นอันดีลงในแผ่นทอง แล้วจึงกำหนดพระองค์สูงประมาณ ๖๐ ศอก ลงในแผ่นทองทั้ง ๒ เสร็จแล้ว คฤหบดีแก้วก็เหาะนิวัตตนากลับมายังสำนักสมเด็จพระบรมจักรมหาปนาทถวายซึ่งแผ่นพระสุวรรณบัตร ให้ทอดพระเนตรพระรูปพระโฉมของสมเด็จพระกุกกุสนธเจ้า กับทั้งตัวอักษรที่จารึกพระพุทธคุณมานั้นฯ
ฝ่ายสมเด็จพระบรมจักรมหาปนาททอดพระเนตรพระอักษร ซึ่งจารึกพระพุทธคุณในแผ่นพระสุวรรณบัตรนั้นฯ ทรงอ่านแล้วก็มิได้ทรงรู้จักว่าเป้นพระพุทธคุณจึงตรัสถามพราหมณ์ปุโรหิตว่า ดูก่อนท่านอาจารย์ อันว่าอักษรที่คฤหบดีจารึกมานั้น จะเป็นพระพุทธคุณจริงแลหรือประการใด ฝ่ายว่าพราหมณ์ปุรหิตนั้น เป็นผู้ทรงคุณวิชชาไสยศาสตร์ จึงกราบทูลว่า มหาราชข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐอันว่าอักษรนี้เป็นคุณอันวิเศษแน่แล้ว เป็นยอดคุณทั้งปวงสิ้น ก็คุณวิเศษอย่างอื่นๆนั้นจะได้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้หาบ่มิได้ อักษรนี้เป็นพระพุทธคุณเที่ยงแล้ว สมเด็จพระบรมจักรมหาปนาทำด้ทรงฟังพราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลดังนั้น ก็ทรงพระโสมนัส ปิติ ปลาบปลื้มพระทัย สลบลงกับที่ฯ ครั้นพระองค์ฟื้นสมประดีแล้ว ตรัสถามพราหมณ์ปุโรหิตว่า ดูก่อนท่านอาจารย์ เราได้ฟังว่า คุณวิเศษนี้เป็นพระพุทธคุณจริงดังนั้นหรือประการใด ปุโรหิตก็กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ อันว่าคุณวิเศษนี้ พระองค์อย่าได้สงสัยในพระกมลหฤทัยเลย เป็นพระพุทธคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเที่ยงแท้แล้ว ครั้นได้ทรงสดับฟังพราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลซ้ำอีกดังนั้น พระองค์ทรงปิติ ปลื้มพระทัย สลบลงอีกครั้งหนึ่งเป็นคำรบ ๒ แล้วพระองค์ก็ฟื้นขึ้น จึงตรัสถามปุโรหิตอีกว่ารูปภาพที่คฤหบดีแก้ววาดเขียนมานี้ เป็นอย่างพระพุทธรูปจริงหรือประการใด ปุโรหิตก็กราบทูลว่าพระรูปพระโฉมที่คฤหบดีแก้ววาดเขียนมานี้ คือ พระรูปพระโฉมของสมเด็จพระพุทธเจ้าเที่ยงแท้ พระองค์อย่าได้สงสัยเลยฯ สมเด็จพระบรมจักรมหาปนาทได้ทรงฟังว่าเป็นพระพุทธรูปของสมเด็จพระพุทธเจ้าจริงแน่ ก็สลบสิ้นสติสมปฤดีไปอีกครั้งหนึ่งเป็นคำรบ ๓ ฯ
ครั้นได้พระสติขึ้นมา จึงตรัสแก่คฤหบดีแก้วว่า บัดนี้เราได้ฟังประพฤติเหตุแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าอันเป็นดวงแก้วหาค่ามิได้ เพราะเหตุตัวของท่านอันเราใช้ไป เครื่องสักการบูชาสิ่งอื่นหาควรจะกระทำสักการบูชาแก่ท่านไม่ ด้วยท่านมีความชอบครั้งนี้แก่เราเป็นที่สุด เราจะยกสมบัติจักรพรรดิอันยิ่งในมนุษย์โลกนี้ กระทำสักการบูชาแก่ตัวท่าน ตรัสประภาษสรรเสริญคฤหบดีแก้วดังนี้แล้ว จึงอภิเษกคฤหบดีแก้วให้เสวยศิริราชสมบัติจักรวรรดิยศ ยกให้เป็นบำเหน็จความชอบแก่คฤหบดีแก้ว ในครั้งนั้นคฤหบดีแก้วก็ตั้งอยู่ในศิริราชสมบัติบรมจักร เสวยอิสริยยศสมบัติสืบต่อไปฯ
ส่วนสมเด็จพระบรมจักรมหาปนาทนั้นแต่พระองค์เดียว ก็เสด็จบทจรไต่เต้าไปตามมรรคาหนทางโดยทิศาภาค ในที่สถิตแห่งสมเด็จพระบรมครูกุกกุสนธเจ้านั้นฯ ครั้นไปถึงมหานิโครธไทรใหญ่ต้นหนึ่ง ก็ทรงประทับนั่งอาศัยอยู่ใต้ต้นไทรนั้นพอหายเหนื่อยเป็นอันดีแล้ว ก็ยกอัญชลีประนมถวายนมัสการลงด้วยเบญจางคประดิษฐ์อันได้สดับว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่ตรงนี้ ทรงกระทำอธิษฐานปรารถนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระภาคเป็นอันงาม ความปิติโสมนัสแห่งข้าพระพุทธเจ้าบังเกิดมีในพระองค์แล้ว ด้วยเดชะความสัตยืนี้ขอให้เครื่องอัฏฐบริขาร ๘ ประการ อันเป็นทรัพย์มรดกแห่งพระภิกษุสงฆ์ จงเลื่อนลอยมายังสำนักแห่งข้าพระพุทธเจ้า ครั้งนั้นสมเด็จพระกุกกุสนธสัพพัญญูทรงทราบวาระน้ำจิตแห่งบรมจักรมหาปนาท ปรารถนาจะบรรพชาบวชในพระพุทธศาสนา จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูก่อนอัฏฐบริขาร ๘ ประการ บัดนี้บุคคลมีชื่อโน้น ปรารถนาจะทรงบรรพชา ท่านจงไปยังสำนักแห่งบุคคลผู้นั้นเถิดฯ ขณะนั้นเครื่องอัฏฐบริขารทั้ง ๘ ประการ ก็ลอยมาตกลงตรงพระพักตร์แห่งสมเด็จพระเจ้ามหาปนาทด้วยพุทธานุภาพฯ
ครั้นสมเด็จพระบรมจักรมหาปนาท ทรงเห็นเครื่องอัฏฐบริขาร ๘ ประการพร้อมแล้ว ด้วยพระเดชานุภาพแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าเป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก ก็ทรงยกเครื่องอัฏฐบริขารขึ้นทูนเหนือพระเศียรเกล้าแล้วออกพระวาจาว่า ดูก่อนอัฏฐบริขาร ๘ ประการผู้เจริญ เราอาศัยซึ่งท่านจักใคร่ออกจากสังสารทุกข์ ให้ได้พบเห็นพระนิพพานอันประเสริฐสุดโลกวิสัย ตรัสเท่านั้นแล้วก็เปลื้องเครื่องราชอาภรณ์ของพระองค์ออกจากพระสรีรกาย ทรงสบง จีวร สังฆาฏิ คาดกายพันมั่นคง ทรงบรรพชาเป็นพระภิกษุภาวะเสร็จแล้ว จึงเอาพระมงกุฎแก้ววางลงในฝ่าพระหัตถ์ตรัสว่า ดูก่อนมงกุฏแก้ว ท่านจงไปยังสำนักแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้า กราบทูลแจ้งประพฤติเหตุข่าวศาสน์แก่พระองค์ว่า บัดนี้พระเจ้ามหาปนาทบรมจักร เสียสละศิริราชสมบัติออกทรงบรรพชาในพระพุทธศาสนาแล้ว มีความปรารถนาเพื่อจะมายังสำนักสมเด็จพระทศพลญาณ ท่านจงไปกราบทูลศาสน์แด่องค์สมเด็จพระพุทธองค์ด้วยประการดังนี้ฯ พระองค์ทรงพระอธิษฐานฉะนี้แล้ว มงกุฏแก้วก็ลอยเลื่อนไปในอากาศเวหาประดุจว่าพระยาสุวรรณราชหงส์ลงยังสำนักแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้า ตั้งอยู่แทบฝ่าพระบาท กราบทูลประพฤติเหตุดังนั้นแก่สมเด็จพระกุกกุสนธ ประดุจดังว่ามีจิตวิญญาณ สมเด็จพระบรมโลกุตตมาจารย์ก็มีพระพุทธฎีการับว่าสาธุฯ
ลำดับนั้นพระยามหาปนาทซึ่งทรงเพศเป็นภิกษุ ก็เที่ยวโคจรบิณฑบาตไปตามบ้าน ได้อาหารพอเป็นยาปนมัตต์ บริโภคสำเร็จแล้วก็เจริญพระกัมมัฏฐานอยู่ในที่อันสมควร พิจารณาซึ่งพระพุทธคุณมีพระ อิติปิ โส ภควา เป็นอาทิ และพระกายคตาสติกัมมัฏฐาน มีเกศาเป็นต้น เจริญไปด้วยความอุตสาหะดังนั้น ยังโลกียฌานให้บังเกิดขึ้นในขณะนั้นแล้วเหาะไปโดยอากาศเวหาถึงสำนักสมเด็จพระพุทธเจ้า ได้ทัศนาการพระรูปพระโฉมของสมเด็จพระกุกกุสนธ อันประดับไปด้วยพระทวัตติงสมหาบุรุษลักษณะ และพระอสีตยานุพยัญชนลักษณะ งามบริบูรณ์พร้อมทุกประการ ก็บังเกิดความปิติเต็มตื้นซาบทั่วสรรพางค์ ตลอดสิ้นสกลกายก็สลบลงในที่นั้น สมเด็จพระภควันตบพิตรเจ้าก็ทรงเอาอุทกวารีมาประพรมลงเหนือพระอุระ ก็ฟื้นสมปฤดีขึ้นมา แล้วถวายนมัสการกราบลงด้วยเบญจางคประดิษฐ์แทบพระบาท กราบทูลอาราธนาให้สมเด็จพระพุทธองค์ทรงประทานพระสัทธรรมเทศนาฯ
ครั้งนั้นสมเด็จพระกุกกุสนธบรมทศพลญาณ ก็ทรงประทานพระสัทธรรมเทศนาว่า ดูก่อนภิกษุ ท่านจงพิจารณาซึ่งสภาวธรรมที่จะนำตนไปสู่พระนิพพานเถิด มีพระพุทธบรรหารตรัสดังนี้ ฝ่ายพระเจ้ามหาปนาทบรมพุทธางกูรได้ทรงสดับกระแสพระพุทธฎีกาตรัสเป็นนัย ดังนั้นพระองค์ก็มีปิติซาบซ่านทั่วสกลกาย จึงทรงพระอธิษฐานเด็ดพระเศียรเกล้าด้วยเล็บของพระองค์ ทรงกระทำสักการบูชาแทบพระบาทมูลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ฝ่ายพระเศียรเกล้านั้นจึงกราบทูลพระกรุณาว่า ภนเต ภควา ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระภาคเจ้า พระองค์ได้โปรดฝูงสัตว์ทั้งหลายก่อนข้าพระบาท ข้าพระบาทก็มีความปรารถนาเป็นเป็นพระพุทธเจ้าเมื่อภายหลัง ด้วยผลศีลทานของข้าพระบาทในครั้งนี้ ขอเชิญองค์อัครมุนีผู้ทรงพระภาคเจ้าจงเสด็จเข้าสู่พระนิพพานก่อนข้าพระบาทเถิด ข้าพระบาทขอตามเสด็จพระพุทธองค์เจ้าเข้าสู่พระนิพพานต่อภายหลัง พอขาดคำลงแล้วพระเจ้ามหาปนาทก็ดับขันธ์สิ้นชีวิตอินทรีย์ ไปบังเกิดในดุสิตาสวรรค์ เสวยทิพยศิริสมบัติเป็นสุขสถาพร ไปในอนาคตกาลเบื้องหน้า จะได้ตรัสเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่าพระสุมงคลฯ
ดูก่อนสำแดงสารีบุตร ฝูงสัตว์ทั้งหลายไม่ได้มรรคและผลธรรมวิเศษในศาสนาพระพุทธเจ้าทั้งหลายมีพระตถาคตเป็นต้น มีพระติสสะเป็นปริโยสานแล้ว ก็ให้มหาชนปรารถนาไปให้พบเห็นพระศาสนาช้างปาลิไลยหัตถี ที่ได้เป็นพระบรมจักรมหาปนาทนี้ ซึ่งจะได้ตรัสเป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลทรงพระนามว่า พระสุมงคลสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น จะได้มรรคและผลธรรมอันวิเศษสิ้นสังสารทุกข์ทั้งปวง เข้าสู่พระอมตะมหานครนิพพานฯ แสดงมาด้วยเรื่องราวช้างปาลิไลยหัตถีบรมโพธิสัตว์เป็นคำรบ ๑๐ ก็สิ้นความยุติแต่เพียงนี้ฯ
บทสรุป
องค์สมเด็จพระมหามุนีธิคุณเจ้าแห่งเราทั้งหลายตรัสพระสัทธรรมเทศนาแก่พระสารีบุตรว่า นานไปเบื้องหน้าพระโพธิสัตว์ทั้ง ๑๐ พระองค์นั้น จะได้ตรัสรู้แด่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณเป็นลำดับกันฯ คือ
– องค์พระศรีอาริยเมตไตรยเจ้าเป็นปฐมที่ ๑
– ถัดนั้นจึง พระรามโพธิสัตว์จะได้ตรัสที่ ๒
– ถัดนั้นจึง พระเจ้าปเสนธิโกศลจะได้ตรัสเป็นพระธรรมราชาที่ ๓
– ถัดนั้น พระยามาราธิราช จะได้ตรัสเป็นพระธรรมสามีที่ ๔
– ถัดนั้น อสุรินทราหู จะได้ตรัสเป็นพระนารทะที่ ๕
– ถัดนั้น โสณพราหมณ์ จะได้ตรัสเป็นพระรังสีมุนีที่ ๖
– ถัดนั้น สุภพราหมณ์ จะได้ตรัสเป็นพระเทวเทพที่ ๗
– ถัดนั้น โตไทยพราหมณ์ จะได้ตรัสเป็นพระนรสีหะที่ ๘
– ถัดนั้น ช้างธนบาลหัตถีนาฬาคีรี จะได้ตรัสเป็นพระติสสะที่ ๙
– ถัดนั้น ช้างปาลิไลยหัตถี จะได้ตรัสเป็นพระสุมงคลที่ ๑๐
พระองค์ได้ตรัสเป็นลำดับกันโดยนิยมดังนี้
อันว่าไม้พระศรีมหาโพธิอปราชิตบัลลังค์ที่นั่งทรงพิจารณาพระปฏิจจสมุปบาทธรรม แล้วตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูเจ้านั้น
– พระศรีอาริยเมตไตรยเจ้า คือไม้กากะทิงเป็นที่ตรัส ๑
– พระรามเจ้า คือ ไม้แก่นจันทร์แดงเป็นที่ตรัส ๒
– พระธรรมราชาเจ้า คือ ไม้กากะทิงเป็นที่ตรัส ๓
– พระธรรมสามีเจ้า คือ ไม้รังใหญ่เป็นที่ตรัส ๔
– พระนารทะเจ้า คือ ไม้แก่นจันทร์แดงเป็นที่ตรัส ๕
– พระรังสีมุนีเจ้า คือ ไม้ดีปลีใหญ่เป็นที่ตรัส ๖ (บางคัมภีร์ว่าเป็นไม้เลียบ)
– พระเทวเทพเจ้า คือ ไม้จำปาเป็นที่ตรัส ๗
– พระนรสีหะเจ้า คือ ไม้แคฝอยเป็นที่ตรัส ๘
– พระติสสะเจ้า คือ ไม้ไทรเป็นที่ตรัส ๙
– พระสุมงคลเจ้า คือ ไม้กากะทิงเป็นที่ตรัส ๑๐
อันว่าไม้พระมหาโพธิ ๑๐ ต้นนี้ เป็นที่ได้ตรัสรู้พระสัพพัญญู แห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าทั้ง ๑๐ พระองค์ อันจะบังเกิดในอนาคตกาลเบื้องหน้าฯ
อันว่านรชาติหญิงชายทั้งหลายจำพวกใด ได้ถวายนมัสการกราบไหว้ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าทั้งสิบพระองค์กับทั้งไม้พระศรีมหาโพธิ ๑๐ ต้น ดังพรรณนามานี้ อันว่านรชาติหญิงชายจำพวกนั้นจะมีผลานิสงส์คือ มิได้ไปบังเกิดในนรกสิ้นกาลช้านานถึงแสนกัปป์ ด้วยกุศลเจตนาของอาตมาที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้งสิบพระองค์นั้นฯ สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้าของเราทรงบัณฑูรพระธรรมเทศนาว่า แท้จริงกัปป์ที่เรียกสุญญกัปนั้น คือเปล่าเสียจากท่านผู้ทรงพระคุณ กัปป์ที่มิได้สูญจากท่านผู้ทรงพระคุณนั้นมี ๕ ประการ คือ
– สารกัปป์ ๑
– มัณฑกัปป์ ๑
– วรกัปป์ ๑
– สารมัณฑกัปป์ ๑
– ภัทรกัปป์ ๑
อันว่าแผ่นดินทั้ง ๕ ประการนี้ มีสมเด็จพระพุทธเจ้าบังเกิดใน สารกัปนั้น ๑ พระองค์, ในมัณฑกัปป์ ๒ พระองค์, ในวรกัปป์ ๓ พระองค์, ในสารมัณฑกัปป์ ๔ พระองค์, ในภัทรกัปป์ ๕ พระองค์ เหมือนกับแผ่นดินเราทุกวันนี้ ชื่อว่าภัทรกัปบังเกิดพระพุทธเจ้าถึง ๕ พระองค์ฯ คือ
– พระกุกกุสนธเจ้าพระองค์ ๑
– พระโกนาคมนเจ้าพระองค์ ๑
– พระกัสสปเจ้าพระองค์ ๑
– พระพุทธเจ้าของเราอันทรงพระนามว่า พระศรีศากยมุนีโคดมพระองค์ ๑
– ไปในอนาคตเบื้องหน้า พระศรีอาริยเมตไตรยเจ้า ซึ่งจะได้มาตรัสนั้น พระองค์ ๑
เป็นพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ด้วยกัน บังเกิดในภัทรกัปอันนี้ฯ
เมื่อองค์สมเด็จพระศรีอาริยเมตไตรยเจ้า ตรัสแล้วล่วงลับดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพาน สิ้นพระศาสนาของพระองค์เจ้าแล้วล่วงไปจนถึงไฟประลัยโลก สิ้นแผ่นดินแผ่นฟ้าตลอดกาลช้านาน จึงบังเกิดแผ่นดินขึ้นมาใหม่เรียกว่า สุญญกัปป์ เปล่าเสียจากท่านผู้ทรงพระคุณวิเศษนั้นนานถึง อสงไขยแผ่นดิน โลกทั้งหลายมืดสิ้นไม่มีท่านผู้วิเศษเลย ต่อสิ้นกาลช้านานแห่งสุญญกัปป์นั้น นับได้อสงไขยแผ่นดินล่วงไปแล้ว เกิดกัปใหม่ตั้งแผ่นดินขึ้นใหม่เรียกว่ามัณฑกัปป์ จะมีสมเด็จพระพุทธเจ้า พระปัจเจกโพธิเจ้า และสมเด็จบรมจักร ในกาลครั้งนั้นจึงมีพระรามเจ้าเป็นอาทิจะได้ตรัสรู้ก่อน พระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลายที่สมควรจะได้ตรัสนั้น ก็ได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบๆกันไปตามนัยดังแสดงแล้วแต่หนหลัง ด้วยวาสนาภูมิบารมีของพระบรมโพธิสัตว์สร้างมานั้นต่างๆกัน
– ที่เป็นอุคฆติตัญญูโพธิสัตว์ สร้างพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัปป์ เรียกชื่อว่า ปัญญาธิกะ ยิ่งด้วยปัญญาฯ
– ที่เป็นวิปจิตัญญูโพธิสัตว์ สร้างพระบารมี ๘ อสงไขยแสนกัปป์ เรียกชื่อว่า สัทธาธิกะ ยิ่งด้วยศรัทธาฯ
– ที่เป็นเนยยโพธิสัตว์ สร้างพระบารมี ๑๖ อสงไขยแสนกัปป์ เรียกชื่อว่า วิริยาธิกะ ยิ่งด้วยความเพียรฯ
ตามประเพณีพุทธภูมิโพธิสัตว์ทั้ง ๓ จำพวก อันมีในคัมภีร์พระอนาคตวงศ์ ตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราตรัสพระสัทธรรมเทศนา แก่พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ก็สิ้นเนื่อความยุติลงแต่เพียงเท่านี้ฯ
อานิสงส์กถา
อานิสํสกถา
พระบรมโพธิสัตว์ อันจะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลเบื้องหน้า ๑๐ พระองค์นั้น
– ที่ ๑ คือพระศรีอาริยเมตไตรย์ พระองค์มีพระชนม์ชีพได้ ๘ หมื่นปี พระสรีระกายสูงได้ ๘๘ ศอก มีไม้กากะทิงเป็นพระมหาโพธิในภัทรกัปป์นี้ฯ
– ที่ ๒ คือพระรามเจ้า พระองค์มีพระชนม์ได้ ๙ หมื่นปี พระสรีรกายสูงได้ ๘๐ ศอก มีไม้จันทร์แดงเป็นพระศรีมหาโพธิ ในมัณฑกัปป์ฯ
– ที่ ๓ คือพระเจ้าปเสนธิโกศล จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระธรรมราชา พระองค์มีพระชนม์ได้ ๕ หมื่นปี พระสรีรกายสูงได้ ๑๖ ศอก มีไม้กากะทิงเป็นพระศรีมหาโพธิ ในมัณฑกัปป์ฯ
– ที่ ๔ คือพระยามาราธิราช จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระธรรมสามี พระองค์มีพระชนม์ได้ ๑๐ หมื่นปี มีพระสรีระกายสูงได้ ๘๐ ศอก มีไม้รังเป็นพระศรีมหาโพธิ ในสารกัปป์ฯ
– ที่ ๕ คือพระยาอสุรินทราหู จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระนารทะ พระองค์มีพระชนม์ได้หมื่นปี มีพระสรีรกายสูงได้ ๒๐ ศอก มีไม้จันทร์เป็นพระศรีมหาโพธิ ในมัณฑกัปป์ฯ
– ที่ ๖ คือโสณพราหมณ์ จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระรังสีมุนี พระองค์มีพระชนม์ได้ ๕ พันปี มีพระสรีรกายสูงได้ ๖๐ ศอก มีไม้ดีปลีก็ว่า ไม้เลียบก็ว่าเป็นพระศรีมหาโพธิ ในมัณฑกัปป์ฯ
-ที่ ๗ คือสุภพราหมณ์ จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระเทวเทพ พระองค์มีพระชนม์ได้ ๘ หมื่นปี มีพระสรีรกายสูงได้ ๘๐ ศอก มีไม้จำปาเป็นพระศรีมหาโพธิ ในมัณฑกัปป์ฯ
– ที่ ๘ คือโตไทยพราหมณ์ จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระนรสีหะ พระองค์มีพระชนม์ได้ ๘๐ ปี มีพระสรีรกายสุงได้ ๖๐ ศอก มีไม้แคฝอยเป็นพระศรีมหาโพธิ ในมัณฑกัปป์ฯ
– ที่ ๙ คือช้างนาฬาคีรี จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระติสสะ พระองค์มีพระชนม์ได้ ๘ หมื่นปี มีพระสรีรกายสูงได้ ๘๐ ศอก มีไม้ไทรเป็นพระศรีมหาโพธิ ในมัณฑกัปป์ฯ
– ที่ ๑๐ คือช้างปาลิไลย จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระสุมงคล พระองค์มีพระชนม์ได้ ๑๐ หมื่นปี มีพระสรีรกายสูงได้ ๖๐ ศอก มีไม้กากะทิงเป็นพระศรีมหาโพธิ ในมัณฑกัปป์ฯ
รวม ๑๐ พระองค์
นมัสการพระพุทธเจ้าทั้ง ๑๐ พระองค์ว่าดังนี้ฯ
เมตฺเตยฺยา เมตฺเตยฺโย นาม ราโม จ รามสมฺพุทฺโธ
โกสโล ธมฺมราชา จ มารมาโร ธมฺมสานมี
ทีฆชงฺฆี จ นารโท โสโณ รํสิมุนี ตถา
สุภูเต เทวเทโว โตเทยฺโย นรสีหโก
ติสฺโม นาม ธนปาโล ปาลิเลยฺโย สุมงฺคโล
เอเต ทส พุทฺธา นาม ภวิสฺสนฺติ อนาคเต
กปฺปสตสหสฺสานิ ทุคฺคตึ โส น คจฺฉติฯ
นมัสการพระศรีมหาโพธิทั้ง ๑๐ ต้นว่าดังนี้ฯ
เมตฺเตยฺโย นาครุกฺโข จ ไม้กากะทิงฯ
รามพุทโธปิ จนฺทนํ ไม้จันทร์หอมฯ
ธมฺมราชา นาครุกฺโข ไม้กากะทิงฯ
ธมฺมสามี สาลรุกฺโข ไม้รังใหญ่ฯ
นารโท จนฺทนรุกฺโข จ ไม้จันทร์ฯ
รํสิมุนิ จ ปิปฺผลิ ไม้เลียบฯ
เทวเทโว จมฺปโก จ ไม้จำปาฯ
นรสีโห จ ปาตลี ไม้แคฝอยฯ
ติสฺสมฺพุทฺโธ นิโครฺโธ ไม้ไทรฯ
นาครุกฺโข สุมงฺคโล ไม้กากะทิงฯ
เอเต ทส โพธิรุกฺขา ภวิสฺสนฺติ อนาคเต
อิเม ทส จ สมฺพุทฺเธ โย นโรปิ นมสฺสติ
กปฺปสตสหสฺสานิ นิรยํ โส น คจฺฉติฯ
ผู้ใดเจริญได้เป็นนิตย์ปิดอบายภูมิ และคงจะได้ประสพพบพระพุทธองค์เจ้าองค์ใดองค์หนึ่งเป็นเที่ยงแท้ อย่าสนเท่ห์เลยท่านทั้งหลายฯ
เอวัง ก็มี ด้วยประการฉะนี้ฯ
อธิษฐานวาจา
คำอธิษฐานท้ายเล่ม
เดชะข้าพเจ้า ขออธิษฐานศีลทานบารมี
– ขอเป็นปัจจัยให้พบพระศรีอาริยเมตไตรยวรจอมใจอารี ท่านจักไดัมาตรัสในอนาคตกาล
– ขอให้ลุมรรคญาณพ้นจากทุกขภัย
– ขอให้ล้างกิเลสสู่ห้องตรีเนตรในสำนักพระอริยเมตไตรย
– ขอให้พบพระบรมธาตุพระบรมศาสดา
– เมื่อจะประชุมโพธิมันตา ขอให้ได้บูชาน้อมนบนมัสการ
– ถ้ายังมิถึงตรีเนตรอมตนฤพาน เมื่อจะดับขันธ์ขอให้ใฝ่ฝันถึงคุณแก้วสามประการ
– ดำริถึงผลศีลทาน ขออย่าให้มีหมู่มารมาประจญ
– เกิดไปชาติใดๆขอให้น้ำใจเลื่อมใสต่อพระทศพล
– ขอให้มีปรีชาเลิศกว่าฝูงชน
– ขออย่าให้อับจนปัญญาผู้ใด อย่าได้เคลือบแคลง รู้ชัดจะแจ้งแจ่มน้ำใจ อย่างพระนาคเสนเถระผู้มีปรีชาว่องไว
– ขอให้บริบูรณ์ด้วยโภคมไหสุริยศฤงคาร
– ขอให้เลื่อมใสในศีลทาน
– ขอให้มีศรัทธาก่อสร้างโพธิญาณ
– ขอให้ได้ทำทานเหมือนพระเวสสันดร
– ขออย่าได้ขัดขวางเหมือนอย่างชาติก่อน ให้เหมือนหมู่เทพอมรในชั้นช่อกามา
– ถ้าจะเรียนบริกรรมสมาธิโอภาส ขอให้พบพระศาสดาสรรเพ็ชญ์จอมไตรโลก
– ถ้ายังมิพ้นเวียนวนอยู่ในวัฏฏสงสาร เกิดชาติใดๆในสวรรค์และมนุษย์ จะขอตัดบาปธรรมสิบสี่ตัวที่สุด ดับสิ้นม้วยมุดขาดจากสันดาน
– ขอตัดโรคาทั้งเก้าสิบหกประการขออย่าให้ได้เบียนผลาญในกายตัวเรา เกิดเป็นมนุษย์ร่างกายบริสุทธิ์เหมือนดังเทวาบุรุษ โทษนั้นเล่าดังข้าพเจ้ากล่าวมา ขออย่าให้มีแก่ข้าทั้งเก้าสิบหกประการ
– เดชะกุศลข้าพเจ้าแผ่ผลทั่วหมื่นจักรวาล ทั้งพระยายมราช สิริคุตตมหาอำมาตย์ นิรยบาล ที่ท่านเป็นใหญ่ในสี่ทิศอบาย ขอท่านเป็นพยานเมื่อจะดับขันธ์ อกุศลอย่าตามทันในวัฏฏสงสาร
– ถ้าต้องไปสู่สำนักพระกาฬ ถามถึงศีลทานอย่ามืดมิดกำบัง เทวทูตห้าบทท่านช่วยกำหนดอย่าหลงลืมพลาดพลั้ง ท่านช่วยตักเตือนกุศลหนหลังที่ข้าพเจ้าหล่อหลั่งในอุทกวารี ลงไว้ในพื้นแผ่นธรณี เทวทูตห้าบทท่านช่วยตักเตือน ให้ข้าพเจ้าระลึกขึ้นได้ในขณะนั้น
– ขอให้ตัวข้าพเจ้าสำเร็จแก่นิพพาน
ปัจจโย โหตุ เมฯ
กลอนท้ายเล่ม
๑ ขอ สละทรัพย์สร้าง สืบนุสน ธิเฮย
จา ต่อข้อนิพนธ์ พุทธเจ้า
รึก ไว้อ่านเอาผล หวังพบ พระองค์นา
เรื่อง ระบิลปิ่นเกล้า กลดกั้ง กางสัตว์
๑ พระ องค์เนื่องหน่อเนื้อ พุทธางกูร
อะ เนกกุศลมูล บาปเปลื้อง
นา โถนิพพานศูนย์ หาเศษ มีฤา
คต ตะวงศ์คือเบื้อง หน้าพู้น พึงจำ
๑ ทั้ง หลายได้ก่อเกื้อ ปรมัตถ มาเฮย
สิบ ถ้วนโพธิสัตว์ เที่ยงแล้ว
พระ เจ้าจะมาตรัส แสดงโปรด เรานา
องค์ อัครมุนีแน่ว ดุจแก้ว วิเชียรฉาย
๑ กับ คำเคารพไว้ วันทนา
พระ อนันตยา นุญาตไว้
คา รวะต่อนะรา ระบือชื่อ เชิดแฮ
ถา มหาผลให้ มนุษย์น้อม มโนเอา
๑ อุ ระข้าแจ้มแจ้ง ใจธรรม์
สา หะคัดจัดสรร เสกพร้อง
พิมพ์ บอกยุบลบรร เจิดหล้า
ให้ เจริญนิรันดร์ต้อง จะพบเบื้อง พระทรงญาณ
๑ ตั้ง จิตคิดน้อม บังคม
ใจ หน่วงถึงบรม ร่มเกล้า
จำ เริญสุขอุดม สรรพสิ่ง สวัสดิ์แฮ
นง ต่อพระนามเจ้า ค่ำเช้า เชิญระลึก
๑ เกิด ไหนจักกอบด้วย มโหฬาร
มา ณพนักงาน อเนกเอื้อ
ชาติ ชั่วใช่วงศ์วาร ฤาร่วม ตระกูลแฮ
ใด ชอบเร่งรีบรื้อ ร่างตั้งปฏิสนธิ์
๑ สม สฤษฏ์มุ่ง มะนูหมาย มาทเอย
ได้ ดังหฤทัยหาย เที่ยงแท้
พบ ปะพระฤาสาย สวรรค์แน่ว แน่นา
องค์ จะแสดงแก้ วิมุตติให้ สว่างเห็น
๑ สะ การทุกถ้วนหน้า มหาชน
ยัม ทั่วนิเวศน์เมืองบน ไป่เว้น
ภู วเยศยอดสกล ทวีปสี่ เสมอฤาญาณ
พระ องค์แม้เขม้น มุ่งแล้วตลอดเห็น
๑ เด โชให้ล้ำกว่า กุลบุตร
ชะ กุศลบริสุทธิ์ ช่วยค้ำ
ผู้ ใดจะต่อยุท ธนาพ่าย แพ้แฮ
ข้า บาทจะพลาดพล้ำ ปลุกปล้ำ นำหนี
๑ อด ใจพากเพียรด้วย ศรัทธา
สา หะแสวงหา เพื่อนม้วย
จา สัจไม่มุสา พาสู่ สุขเนอ
รึก ซึ่งอักษรด้วย โดยป้อง ประคองชู
๑ ขอ ประจักษ์จิตข้า คะนึงตรอง
ให้ ลุดังมโนปอง มุ่งไว้
สม มาดที่หมายจอง ทุกสิ่ง สรรพ์แฮ
นึก รักเร่งชักให้ สะดวกได้ โดยหวัง
๑ เหมือน มาฆมาณพได้ ดาวดึง สาเฮย
ศึก ฝ่ายอสูรถึง พ่ายแพ้
ชะ บุญกระตุ้นจึง เสวยสุข สวรรค์นา
นะ ยักษ์อยู่วิมานแต้ บาปแพ้ บุญเหลิง
อธิษฐานส่วนตัว “อิมินา ปุญญะกัมเมนะ พุทโธโหมิ อะนาคะเต กาเล พุทโธ โพเธยยัง มุตโต โมเจยยัง ติณโณ ตาเรยยัง พระสัมมาสัมโพธิญาณ ปัจจโย โหตุ”
“ด้วยกรรมอันเป็นบุญนี้ ขอข้าพเจ้าจงได้ถึงพุทธภูมิ ในอนาคตกาลเบื้องหน้า เมื่อรู้แล้ว จักช่วยผู้อื่นรู้ด้วย เมื่อพ้นทุกข์แล้ว จักช่วยผู้อื่นพ้นทุกข์ด้วย เมื่อข้ามโอฆะแล้ว จักช่วยผู้อื่นข้ามโอฆะด้วย เมื่อได้พุทธภูมิ อภิเษกพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว จักช่วยให้ผู้อื่นได้พุทธภูมิ อภิเษกพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณด้วย”
บุญกุศลบารมีทั้งหมดทั้งมวลที่ข้าพเจ้าเพียรบำเพ็ญมานี้ ข้าพเจ้าขอใช้อฐิษฐานเพื่อถึงพระโพธิญาน ขอให้เป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าได้สำเร็จซึ่งพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้นเทอญ
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)