วันเสาร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ประวัติหลวงปู่พิบูลย์ วัดพระแท่น (บ้านแดง) อ.พิบูลย์รักษ์ จังหวัดอุดรธานี


ประวัติหลวงปู่พิบูลย์ วัดพระแท่น (บ้านแดง) อ.พิบูลย์รักษ์  จังหวัดอุดรธานี

หลวงปู่พิบูลย์  นามเดิมชื่อ  พิบูลย์  แซ่ตัน
เกิดที่บ้านพระเจ้า  ตำบลมะอึ  อำเภอธวัชบุรี  จังหวัดร้อยเอ็ด  
บิดาชื่อ  สา  มารดาชื่อ  โสภา  นามสกุลแซ่ตัน  
         บิดาเป็นคนจีน  มารดาเป็นคนจังหวัดร้อยเอ็ด  มีอาชีพทำร่ทำนาและค้าขายจนมีฐานะมั่นคง  ตามปกติหลวงปู่มีอุปนิสัยชอบทำบุญบำเพ็ญทานแก่พระภิกษุและคนทุกข์คนจนผู้ตกทุกข์ได้ยากเพราะหลวงปู่เห็นว่า ผลบุญกุศลที่ได้ทำแล้วจะทำให้เกิดบุญกุศลเกิดความสุขในภพนี้  และภพหน้า บุญกุศลเป็นความดีและเป็นเครื่องห้ามกั้นไม่ให้ไปสู่อบาย หลวงปู่เอาใจใส่ทั้งการบำเพ็ญทาน  รักษาศีล  เจริญเมตตา  ต่อมาได้แต่งงานกับหญิงชาวบ้านพระเจ้า  แต่ไม่ทราบชื่อ  อยู่ด้วยกันมาหลายปีไม่มีบุตร ส่วนภรรยาต้องการบุตรมาสืบสกุล จึงได้ปรึกษากับหลวงปู่พิบูลย์ จึงได้ตกลงกันไปขอบุตรของนางจันทีเพราะนางจันทีมีลูกหลายคน  นางจันทีก็ยินดียกให้เป็นเด็กผู้หญิงอายุประมาณ  ๕ ปี หลวงปู่พิบูลย์จึงได้นำมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม
                หลวงปู่พิบูลย์ได้อบรมสั่งสอนให้เป็นคนมีอุปนิสัยดี  ขยัน  ซื่อสัตย์  ว่านอนสอนง่าย  เป็นที่รักของหลวงปู่พิบูลย์และภรรยา  พอเจริญวัยขึ้นมาอายุได้ประมาณ  16 ปี  หลวงปู่พิบูลย์ได้ให้เครื่องประดับ  เป็นคนที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงามคนหนึ่งเป็นที่ชอบของหนุ่ม ๆ ต่อมาอายุได้  ๑๙  ปี หลวงปู่พิบูลย์จึงได้ให้แต่งงาน  พอเห็นว่าบุตรสาวของตนได้แต่งงานกับบุคคลผู้มีนิสัยดี  พอที่จะไว้เนื้อเชื่อใจได้ หลวงปู่พิบูลย์จึงบอกกล่าวกับลูกสาวและลูกเขยว่า  '' พ่อขอยกทรัพย์สมบัติทั้งปวงนี้ให้แก่พวกเจ้าเป็นผู้ดูแลกรักษา ส่วนพ่อจะขอลาออกบวช "                 ส่วนภรรยาเมื่อได้ยินหลวงปู่พิบูลย์กล่าวอย่างนั้น  ก็ออกปากว่าจะออกบวชชีหนีไปคนละทางตลอดชีวิต  ส่วนหลวงปู่พิบูลย์เมื่อตัดสินใจแล้ว  จึงได้ไปปรึกษากับพ่อจารย์ฮวดชักชวนให้ออกบวช  พอพ่อจารย์ฮวดได้ยินคำชักชวนของหลวงปู่พิบูลย์ก็ยินดีจะออกบวชด้วย  วันต่อมาจึงได้ปรึกษากับพระอุปัชฒฌาย์เรื่อจะบวง  อุปัชฌาย์ก็ยินดีอนุโมทนาด้วย  พออุปัชฌาย์ตกลงแล้ว  ก็ได้โกนหัวอุปสมบทในวันนั้นทั้งหลวงปู่พิบูลย์และอาจารย์ฮวด  แต่ไม่ปรากฎนามฉายาของหลวงปู่พิบูลย์    พอออกบวชแล้วอยู่ร่วมจำพรรษากับพระอุปัชาฌาย์และเหล่าภิกษุสามเณรวัดนั้นจนกระทั่ง  ถึงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม  หลวงปู่พิบูลย์จึงมีความประสงค์จะออกเดินรุกมูลเจริญกัมมัฏฐานในป่า  จึงได้ไปลาอุปัชฌาย์อาจารย์และเรียนกัมมัฏฐาน-ฐานอันเป็นข้อปฏิบัติ  และได้บอกกล่าวลาอุบาสก อุบสิกาที่มีอยู่ในหมู่บ้านญาติโยมก็อนุโมทนาสาธุพร้อมด้วยเตรียมเครื่องอัฐบริขารที่จำเป็นส่วนตัว  ก็เดินทางออกจากวัดมุ่งสู่ทิศตะวันออกโดยไม่ม่ใครติดตาม  ไปเฉพาะลำพังรูปเดียว  ค่ำที่ไหนก็นอนที่นั่นพอเดินทางมาถึงริมแม่น้ำโขง  ก็มีญาติโยมเอาเรือนำส่งไปถึงฝั่งประเทศลาว  หลวงปู่พิบูลย์ได้ไปอาศัยถ้ำเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมถ้ำนั้นอยู่ที่  ภูอาก" ไม่ใกล้ไม่ไกลจากหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง
พอลงมาบิณฑบาตรได้ประมาณ  200 ร้อยเส้น  พอถึงเดือนแปดหลวงปู่พิบูลย์ก็จำพรรษา  ณ  ที่นั้น  พออกพรรษาแล้วหลวงปู่พิบูลย์ก็บอกลาญาติโยมหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งนั้นว่า ถ้ามีโอกาสก็จะกลับมาแวะอีก  และหลวงปู่พิบูลย์ได้แนะนำสั่งสอนญาติโยมให้ทำบุญบำเพ็ญทานจะมีบุญกุศลนำช่วยเมื่อตาย  และหลวงปู่พิบูลย์ก็เดินทางออกจากภูอากมุ่งหน้าสู้ถ้ำแถบภูเขาควายประเทศลาว  ต่อมาได้ไปพบกับอาจารย์ไม้เท้าหนักหมื่น( 12 กิโลกรัม) ได้ไปศึกษาและปฏิบัติธรรมร่วมกับลูกศิษย์อีก รูป เป็นเวลาหลายปีจนอาจารย์เห็นว่าลูกศิษย์แต่ละรูปประพฤติปฏิบัติในธรรมอย่างเคร่งครัด  เห็นว่าได้บรรลุธรรมเป็นส่วนมากแล้ว  อาจารย์จึงได้เรียกลูกศิษย์ทั้งเจ็ดออกมา  แล้วเอาลูกสมอให้คนละหนึ่งลูก  ให้เคี้ยวลูกสมอนั้นให้แตก  ปรากฎว่าหลวงปู่พิบูลย์ของเราเคี้ยวลูกสมอแตกละเอียดพร้อมทั้งอีก รูป  ส่วนอีก รูปนั้นไม่แตกแม้กระทั่งเปลือก  อาจารย์ก็รู้แล้วว่าผู้ใดบรรลุธรรม  และไม่บรรลุธรรมแตกต่างกันอย่างไร  ผู้ไม่บรรลุธรรมให้ปฏิบัติธรรมต่อไป  ส่วนหลวงปู่พิบูลย์อาจารย์แนะนำให้ไปสร้างวัดอยู่เขตอำเภอหนองหาน  เมื่อหลวงปู่พิบูลย์มาถึงเขตอำเภอกุมภวาปีแล้ว  ก็ได้สร้างวัดเกาะแก้วเกาะเกศอยู่ติดกับลำน้ำปาวอยู่ที่นั่นหลายปี
ในลำน้ำปาวนั้นเขที่วัดอยู่มีจระเข้ยักษ์ตัวหนึ่งเที่ยวกินวัวควายของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนจึงได้ไปปรึกษากับหลวงปู่ หลวงปู่ได้แนะนำให้นำดอกไม้ธูปเทียนขันห้าขันแปด เทียนเวียนรอบหัวและยาวเท่าลำตัวให้นำมาจากทุกหลังคาเรือน พอมาถึงหลวงปู่ก็ฉันอาหารเช้าเสร็จ ก็เริ่มนั่งบริกรรมแล้ว หลวงปู่ก็นุ่งสบงจีวรรัดอกจุดเทียนคู่หนึ่งถือไว้ในกำมือ แล้วก็เดินลงสู่ลำน้ำปาว  ประมาณสองชั่วโมง น้ำเริ่มขุ่นขึ้นมา ชาวบ้านจ้องดูตามริมฝั่งทั้สองฟากพอประมาณ  แล้วหลวงปู่ก็ขึ้นมาพร้อมกับไม้เรียวและเทียน ข้อนี้เป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่งเพราะสบงจีวรหลวงปู่ไม่เปียก และเทียนที่จุดก็ไม่ดับและไม่สั้นลงไปอีก หลวงปู่จึงบอกกับชาวบ้านว่า ไอ้จระเข้มันยอมแพ้แล้วมันจะหนีภายใน วัน " หลวงปู่ถามชาวบ้านว่า " อยากเห็นมันบ่พ่ออก แม่ออก อาตมาจะเอิ่นมันมาให้เบิ่ง (อยากจะเห็นหน้าไอ้จระเข้ไหม จะเรียกมันมาให้ดู) ญาติโยมเหล่านั้นบอกว่าอยากจะเห็น หลวงปู่จึงเรียกไอ้จระเข้ใหญ่ขึ้นมาจากน้ำอยู่ที่ริมฝั่ง
      ขณะนั้นหลวงปู่ถามชาวบ้านว่า " ญาติโยมกลัวไอ้จระเข้ไหม" ญาติโยมบอกว่ากลัวมาก ๆ เลยหลวงปู่ หลวงปู่บอกว่า " ไม่ต้องกลัวเพราะมันยอมเราแล้ว" หลวงปู่จึงเอามือตบหัวไอ้จระเข้และเอามือล้วงเข้าไปในปากของไอ้จระเข้ มันก็ไม่ทำอะไรหลวงปู่  แล้วหลวงปู่ก็บอกให้มันกลับลงสู่น้ำ ต่อมาภายหลังชาวบ้านเห็นจระเข้อยู่ในป่า  จึงได้นำเหล็กแหลมๆ ทั้งสองข้างเอาริ้วหนังติดกับไม้ยื่นไปหาไอ้จระเข้ๆ จึงอ้าปากขึ้น ชาวบ้านจึงเอาเหล็กยัดเข้าไปในปากไอ้จระเข้ในทางตั้ง  พอไอ้จระเข้งับปากลงเหล็กก็แทงปากจระเข้ทั้งด้านและด้านล่าง (ช่วงนั้นหลวงปู่ไม่อยู่แล้ว) 
ต่อมาทีหลังได้นำกระดูกจระเข้มาทำเป็นตีนธัมมาสก์  ในสมัยก่อนวัดเกาะแก้วแห่งนี้มีอาถรรพ์มากคนไม่กล้าเข้าไปอยู่เพราะเป็นวัดร้าง  ท่านหลวงปู่พาสร้างแล้วชาวบ้านก็อยู่เย็นเป็นสุข  หลวงปู่จึงกลับมากราบอาจารย์ไม้เท้าหนักหมื่น  อาจารย์เลยบอกว่า  " วัดที่หลวงปู่ไปสร้างนั้นไม่ใช่วัดเดิมของหลวงปู่ที่บอกไปสร้างนั้นอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอหนองหาน ซึ่งอยู่ติดริมห้วยหลวง " หลวงปู่ได้อยู่พักกับอาจารย์ตามสมควร  แล้วก็ได้ลาอาจารย์กลับมายังฝั่งไทยและได้พักอยู่วัดเกาะแก้วเกาะเกศอีก ส่วลูกศิษย์คนอื่น ๆ นั้นอาจารย์ก็บอกให้ไปทางภาคเหนือ-ภาคใต้ ส่วนหลวงปู่เราให้อยู่ในภาคอีสาน
ต่อมาหลวงปู่ก็ได้ลาญาติโยมชาววัดเกาะแก้วเกาะเกศ  มุ่งหน้าสู่ทิศเหนือของอำเภอหนองหาน  พอมาถึงบ้านเชียงงามก็เลยไปพักอยู่ที่วัดร้าง (วัดไม่มีพระจำพรรษาอยู่) พ่อเวียงได้เห็นหลวงปู่เข้ามาอยู่ที่วัดจึงได้แต่งขันหมากขันพลู  บุหรี่ออกไปหาหลวงปู่ที่วัด เมื่อถวายท่านแล้วก็ถามถึงที่มาที่ไปของหลวงปู่ว่ามาจากที่ไหน  จะไปไหนหลวงปู่บอกว่า " จะไปบ้านไทย (บ้านแดงในปัจจุบัน)" ทีอยู่ติดกับริมห้วยหลวง  หลวงปู่เลยถามโยมเวียงว่า " ยังอีกไกลไหมกว่าจะถึงบ้านไทย " โยมเวียงบอกว่ายังอีกไกลอยู่ "  เพราะถึงวันเข้าพรรษาแล้ว  ข้าน้อย(กระผม) ขอนิมนต์ปู่อยู่จำพรรษาที่วัดนี้ก่อน
หลวงปู่ก็รับปาก  หลวงปู่เลยถามว่า " มีผู้เอาอะไรมาฝากไว้กับโยมหรือไม่เมื่อหลายปีก่อน"  โยมเวียงบอกว่า " มีตาปะขาวคนหนึ่งได้นำอะไรไม่ทราบมาฝากผมไว้  ยาวประมาณ  4ศอก  แต่เอาผ้าข่าวห่อไว้ไม่ให้ผมเห็นและไม่ให้บอกใคร  จนกว่าเจ้าของจะมาถามเอา "  หลวงปู่เลยบอกว่า  " ไม้เท้าหลวงปู่เอง "  พอค่ำโยมเวียงก็นิมนต์หลวงปู่เข้าไปดูแล้วโยมเวียงก็นำมาถวาย  หลวงปู่คลี่ผ้าขาวออกก็เห็นเป็นไม้เท้า และภายในตัวไม้เท้ามีหนังสือธรรมเขียนไว้บนไม้เท้าว่า  " หลวงปู่พิบูลย์ "  ลักษณะไม้เท้านี้ปลายแหลมข้างล่างเป็นเหล็กง่ามสองแฉก  และตัวไม้เท้าเป็นปล้อง ๆ  จะว่าเป็นเหล็กก็ไม่ใช่  เป็นไม้ก็ไม่เชิง  ส่วนผ้าที่ห่อไม้เท้านั้นโยมเวียงได้ขอเอาเป็นอนุสรณ์  ผู้ที่ฝากของไว้พอฝากก็หายตัวไปเลย  โยมเวียงไม่รู้จักจึงได้ถามหลวงปู่ว่าเป็นใคร  หลวงปู่บอกว่าเป็นเทพบุตร  พอสนทนากับโยมเวียงพอสมควรแล้วหลวงปู่ก็กลับมาพักที่วัด  และจำพรรษาที่วัดบ้านเชียงงาม ตลอดพรรษานั้น  
ช่วงระยะกลางพรรษามีไอ้หนุ่มเกเรคนหนึ่งชื่อ " นายเถิก" เรียนเดรัจฉานวิชา ตอนกลางคืนออกเที่ยวตอนกลางวันมาพักที่วัดแห่งนี้ หลวงปู่เห็นอยู่หลายวันจึงได้ว่ากล่าวตักเตือนว่า " ทำไมจึงได้มานอนอยู่ที่นี่ เป็นคนเกียจคร้านหลีกการงานจากพ่อแม่  หาที่ซ่อนตัวไม่อยากทำงานช่วยพ่อแม่ใช่ไหม กลับไปทำงานช่วยพ่อแมีเถอะ " เมื่อนายเถิกได้ยินหลวงปู่ว่าให้อย่างนั้น จึงเดินหนีด้วยกิริยาอาการที่โกรธมาก  พอประมาณตีสองของคืนนั้น นายเถิก็ได้ปล่อยวัวธนูหมายจะทำร้ายหลวงปู่ให้ตาย  วัวธนูก็ได้มาบินวนอยู่ที่กุฏิหลวงปู่ถึงสามรอบ  เสียงดังเหมือนฟ้าร้อง และลงไปวิ่งวนรอบตัวหลวงปู่หวังจะทำร้าย แต่เข้าไม่ถึงตัวหลวงปู่  ๆ เลยเอากระโถนหรือเงี่ยงน้ำหมากครอบตัววัวธนูนั้นไว้ทันที  ต่อมาอีกประมาณหนึ่งชั่วโมง  ได้ยินเสียงชาวบ้านร้องให้วิ่งแตกตื่นกันไปดูว่านายเถิกไหลตาย  จนกระทั่งรุ่งเช้าหลวงปู่ออกเดินบิณฑบาตรเห็นชาวบ้านกำลังทำไม้มงคลอยู่ (ไม้หีบศพ) หลวงปู่เลยถามว่า " ญาติโยมพากันทำอะไร " ชาวบ้านบอกว่า " ทำไม้หีบศพนายเถิก  มันไหลตายเมื่อตอนตีสองของเมื่อคืนนี้ " หลวงปู่เลยบอกว่า " ไม่ต้องทำหรอก คนสันดานไม่ดี(ขี้ดื้อ) " ชาวบ้านเลยถามว่า " ถ้าอย่างนั้นจะทำอย่างไรดีหลวงปู่ " หลวงปู่เลยบอกว่า " เอาน้ำมนต์ของหลวงปู่กินเดี๋ยวมันก็ฟื้นขึ้นมา "        
โยมเหล่านั้นก็กุลีกุจอรีบไปตักน้ำมาให้หลวงปู่ทำน้ำมนต์  หลวงปู่บอกว่า  " ยังทำไม่ได้เพราะบิณฑบาตรอยู่  ให้หลวงปู่และฉันภัตาหารเช้าเสร็จก่อน "  พอหลวงปู่เสร็จกิจแล้วโยมได้นำดอกไม้ธูปเทียน  และขันน้ำมนต์เข้าไปถวายหลวงปู่เพื่อทำน้ำมนต์  หลวงปู่ก็ทำให้เสร็จแล้วก็บอกว่า  " เอาไปล้างหน้าและให้หยอดเข้าปากไม่นานก็จะฟื้นขึ้นมา "  ชาวบ้านได้ทำตามนั้นไม่นานนายเถิกก็ฟื้น  ลืมตาขึ้นร้องขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่ว่าหลวงปู่ผูกมัดไว้ตั้งแต่เมื่อคืนนี้  พอนายเถิกตั้งสติได้พ่อแม่ก็นำมาคาระวะหลวงปู่  พร้อมชาวบ้านแห่ตื่นกันออกมา  หลวงปู่จึงแนะนำให้นายเถิกไปบวชกับพระอุปัฌชา  และมาเป็นผู้อุปฐากหลวงปู่อยู่ที่นั้น

นายหลอดเมื่อเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนายหลอดแล้วก็กลัวตาย จึงได้นำวิชาวัวธนูที่ไปเรียนมากับนายเถิกเอากลับไปคืนอาจารย์แล้วก็บวชพร้อมกับนายเถิก  ชาวบ้านจึงเริ่มเห็นอภินิหารของหลวงปู่
                  กล่าวถึงบ้านเชียงงามก่อนสมัยที่หลวงปู่จะเข้าไปจำพรรษา พระจะอยู่ไม่ได้เพราะมีเปรตร้ายอยู่ที่นั้น    ถ้าพระไปนอนจะถูกเปรตลากขาและหลอกหลอนตลอดทั้งคืน  จึงเป็นวัดที่น่ากลัวในสมัยนั้นหาผู้ไปอยู่ไม่ได้  พ่อเวียงได้แจ้งให้หลวงปู่ฟังตลอด  และปรึกษาหารือกับหลวงปู่ว่าจะทำอย่างไร  หลวงปู่แนะนำพ่อเวียงว่า  " แต่ก่อนเปรตพวกนั้นมันทำบาปไว้มากมันเอาเนื้อควายมาย่างที่วัด  และเอาไม้ศาลาวัดมาก่อย่างควาย "  หลวงปู่บอกว่า " ให้บอกลูกบอกหลานพร้อมทั้งผู้เฒ่าผู้แก่บ้านเราให้ทำข้าวร้อยพา ( ข้าว100 ถาด) แล้วนำไปไว้สี่ทิศ ๆ  25  พา (ถาด) ทำอย่างนี้มันจะได้ไปเกิด "  ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านเชียงงามก็อยู่เย็นเป็นสุขมาตลอด 
เมื่อออกพรรษาแล้ว  หลวงปู่อยู่กับญาติโยมชาวบ้านเชียงงามถึงเดือน ๔  หลวงปู่จึงบอกลาญาติโยม มีพ่อเวียงเป็ฯต้น  ว่าจะไปจำพรรษาข้างหน้าและโปรดสัตว์ต่อไปคือจะไปที่บ้านไท (บ้านแดงในปัจจุบัน)  ญาติโยมเหล่านั้นเคารพและศรัทธาในตัวหลวงปู่เป็นอย่างมากไม่อยากให้หลวงปู่ไปจึงพากันนิมนต์ไว้  แต่หลวงปู่ไม่รับนิมนต์พอถึงเวลาจะออกเดินทางก็บอกแก่ญาติโยมว่า  “ ให้หม่อมเถิกและหม่อมหลอดอยู่ที่วัดนี้  พอให้พ่อออกแม่ออก( ญาติโยม) ได้ทำบุญจังหันจังเพล (ถวายอาหารเช้าและอาหารเพล ”  พ่อเวียงจึงนำส่งพอพ้นเขตบ้าน  หลวงปู่ได้เดินทางมุ่งหน้าสู่บ้านไทย  (บ้านแดงในปัจจุบัน)  พอเดินทางมาถึงบ้านนาทรายหลวงปู่ได้แวะพักที่ศาลาวัด  พอท่านหลักคำ (พระที่จำวัดอยู่ที่นั้น) มองเห็นจึงบอกเณรนำน้ำไปถวาย  พอเณรถวายน้ำหลวงปู่แล้วหลวงปู่จึงถามว่า “ อยู่ด้วยกันกี่รูป ” มีพระ ๑  เณร ๑  หลวงปู่จึงถามต่อไปว่า  “ เคยไปบ้านไทหรือเปล่า ”  เณรบอกว่า “ ไม่เคยไปสักที ” ไม่นานท่านหลักคำก็ตามมาถามข่าวคราวว่ามาจากไหนและจะไปไหน  หลวงปู่ก็บอกว่า “ พรรษาที่แล้วจำพรรษาอยู่ที่บ้านเชียงงาม และกำลังจะเดินทางไปบ้านไท ” แล้วหลวงปู่ก็ลาท่านหลักคำเดินทางมาจนถึงห้วยดานบริเวณท่าหลักเส  หลวงปู่ก็นั่งพักอยู่ระยะหนึ่งพอดีเห็นโยมจารย์มี  หลวงปู่เลยถาม “ เจ้าจะไปไหน ”  จารย์มีก็ตอบว่า จะไปตามควาย ๆ มันหายไปสามสี่วันแล้ว คิดว่ามันคงจะไปทางหนองบ่อเค็ม ”  หลวงปู่แลยบอกว่า “ ไม่ต้องไปตามมันดอกแค่สีนวดเอาควายมันก็วิ่งมาเอง  ให้มาเอาเครื่องอัฐบริขารของหลวงปู่ข้ามน้ำไปเถอะ ”  น้ำก็ไม่ลึกเท่าไรพอข้ามได้ พ่อจารย์มีก็ข้ามไปเอาเครื่องบริขารกับหลวงปู่ เมื่ออาบน้ำเสร็จแล้วก็พากันมุ่งหน้าสู่บ้านไท  พอเดินทางมาถึงห้วยมันปลา  ปรากฎว่ามีฝูงควายวิ่งตามมา หลวงปู่บอกกับจารย์มีว่า  “ โน้นควายวิ่งตามมาแล้ว ” พ่อจารย์มีเห็นแล้วก็ทั้งดีใจและน่าอัศจรรย์ใจ (คือเป็นตางึดตาง้อแท้)
พอมาถึงโนนบ้านไทผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านเมื่อเห็นแล้วก็พากันเข้าไปต้อนรับและปรึกษาหาที่พักให้กับหลวงปู่ชั่วคราว เมื่อจัดหาที่พักให้กับหลวงปู่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านก็พากันจีบหมาก พันยาและนำน้ำไปประเคนหลวงปู่ ๆ ก็ได้ถามข่าวสารทุกข์สุขดิบกับชาวบ้าน และถามถึงที่ที่เป็นวัดเก่า พ่อออก (โยมผู้ชาย) ก็บอกว่ามีอยู่ ห่างจากที่นี่ประมาณ ๕๐๐ เมตร แต่มันศักดิ์สิทธิ์มากใครไปทำอะไรไม่ได้  แม้แต่วัวควายเข้าไปก็ไม่มีใครกล้าเข้าไปตามเอาจะถ่ายอุจจาระปัสสาวะหันหน้าไปทางนั้นก็ไม่ได้  จะตัดต้นไม้ลำเท่านิ้วตีนนิ้วมือก็ไม่ได้ ถ้าใครไปทำจะมีอาการกระตุกและล้มป่วยลงทันที  ถ้าไม่ไปปลูกต้นไม้แทนหรือแก้ไขก็จะมีออันเป็นอันตรายถึงตาย ที่ว่าอย่างนั้นเพราะมีคนที่เป็นอย่างนี้มาแล้ว  หลายคนจึงไม่มีใครเข้าไปในวัด  วัดเก่าแห่งนี้มีของสำคัญอย่างหนึ่ง  คือ แท่นพระเก่าทำด้วยศิลาแลงเป็นแท่งขนาดกว้าง ๑.๕ เมตร ยาว ๓ เมตร สูง ๑.๕ เมตร เป็นแท่นพระอยู่ในซากวิหารเกก่า และมีซากโบสถ์เก่าหนาทึบด้วยไม้เบญจพรรณน้อยใหญ่ออกดอกเต็มสะพรั่งไปหมด ในบริเวณวัดแห่งนี้ต้นมีต้นไม้ขนาดใหญ่ เช่น ไม้แดง ไม้สะแบง ไม้จิก และไม้รัง เป็นต้น 
พอเช้าวันต่อมาญาติโยมก็พากันไปทำบุญใส่บาตรให้หลวงปู่ทุกๆหลังคาเรือน ซึ่งในสมัยนั้นมีกันทั้งสิ้น ๓๐ หลังคาเรือน พอหลวงปู่ฉันอาหารเสร็จหลวงปู่ก็เตรียมถุงหมาก ถุงย่าม มีดพร้า พร้อมด้วยพ่อออก ๒-๓ คนพากันขึ้นไปดูวัดแห่งนี้ ทุกคนอยากจะไปแต่ก็ไม่กล้าเพราะกลัวมาก จะมีก็แต่ผู้กล้าตายสองสามคนตามหลวงปู่ไปดูวัด พอมาถึงหลวงปู่ก็บอกว่า ถางตรงนี้ ชาวบ้านที่ไปด้วยต่างก็มีอาการกลัวไม่กล้าถางหลวงปู่จึงพูดย้ำไปอีกว่า รับรองไม่มีอันตรายแน่ๆ หลวงปู่ก็ให้ถางเข้าไปถึงแท่นพระ พวกเก้ง พวกกวาง ก็วิ่งออกจากแท่นพระเก่าเป็นจำนวนมาก วันแรกแม่ออก (โยมผู้หญิง) ไม่กล้ามาส่งเพล พอมาถึงวัดก็หยุดพักอยู่ข้างนอก แล้วร้องนิมนต์ให้หลวงปู่ออกมาฉันเพลข้างนอก พอผ่านไปหนึ่งคืนก็ไม่มีเหตุอันตรายใดๆเกิดขึ้นกับหลวงปู่และพ่อออกผู้ติดตาม
เช้าวันต่อมาหลวงปู่ไปถากถางวัดพ่อออกอีก พอสองสามวันผ่านไปชาวบ้านก็มีความมั่นใจในตัวหลวงปู่มากขึ้น ชาวบ้านจึงร่วมแรงร่วมใจช่วยหลวงปู่ถากถางบริเวณนั้นโดยดี บริเวณแท่นพระและรอบๆแท่นพระนั้นมีไม้แดง และไม้สะแบงใหญ่มาก ถ้าหากโค่นล้มลงมากลัวว่าจะถูกแท่นพระ หลวงปู่จึงสั่งให้หาเอาเครือหวาย  และเครือจานมาทำเป็นเชือกแล้วนำไปผูกที่ปลายของต้นแดงดึงออกจากแท่นพระชาวบ้านได้พยายามอยู่ ๑ วันเต็มๆจึงสามารถเอาไม้แดงใหญ่ออกไปได้ วันต่อมาพอหลวงปู่ฉันเพลเสร็จจึงกล่าวกับพ่อออกแม่ออกว่า หลวงปู่ขอแผ่(บริจาค)หญ้าคากับญาติโยมบ้านละไพ (ตับ)สองไพ(ตับ)พอได้ทำเป็นกุฏิอาศัยอยู่ชั่วคราวชาวบ้านก็หามาให้และได้ช่วยกันทำทั้งกลางวันและกลางคืนทำเป็นกุฏิเล็กๆอยู่กลางวัด รวมหญ้าที่ใช้ทำกุฏิทั้งสิ้น ๓๕ ไพ (ตับ) ผู้ใดเจ็บไข้ได้ป่วยหลวงปู่ก็หายามาให้กินให้ทา และรดน้ำมนต์ให้ ปรากฎว่าทุกคนที่มารับการรักากับหลวงปู่ก็หายจากอาการเจ็บไข้เป็ปลิดทิ้ง ทำให้ทุกคนมีกำลังในและเชื่อมั่นในตัวหลวงปู่มากยิ่งขึ้น บ้านใกล้บ้านไกลเมื่อยินข่าว ต่างก็พากันหลั่งไหลมาหาหลวงปู่ไม่ขาดทั้งกลางวันและกลางคืน โดยมากจำพวกผีฟ้า ผีทรง ผีปอบ นางฟ้า นางเทียม ผีป่าผีดง เข้าทรงเข้าสิง พอมาหาหลวงปู่ก็อาบน้ำมนต์ ผูกแขน ชำระไล่ผี เหล่านั้นออกหนีทำให้ผู้คนในหมู่บ้านไทและบ้านใหล้เคียงนั้นอยู่ดีกินดี พอจะเข้าพรรษาพระเถิกและพระหลอดที่อยู่บ้านเชียงงามได้ยินข่าวจากชาวบ้านไทที่หนองหานจึงพากันมาคารวะกราบไหว้และได้อยู่จำพรรษาร่วมกับหลวงปู่ในพรรษาแรกของวัดที่ตั้งขึ้น รวมพระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่มี ๓ รูป ผู่คนจากจังหวัดต่างๆ เช่น จังหวัดขอนแก่น บ้านขามเตี้ย หนองไฮ บ้านแฮด หนองเข็งจากลำช๊ บ้านแต้จากจังหวัดมหาสารคาม บ้านเลิกแฝกบัวแก้ว และที่มาจากจังหวัดหนองคายก็เยอะเหมือนกัน เมื่อคนมามากหลว
ปู่ก็มีกำลังศรัทธาที่จะสร้างกุฏิศาลา ภายใน ๒-๓ ปี ทำให้วัดพระแท่นเต็มไปด้วยกุฏิและศาลาน้ำใหญ่น้อยเป็นจำนวนมากในปีหนึ่งๆ จะมีพระภิกษุและสามเณรจำพรรษาอยู่ ๓๐-๕๐ รูป ตลอดที่หลวงปู่จำพรรษาอยู่
ความเป็นมาของการตั้งชื่อวัดและบ้านแดง
                ที่ได้ชื่อว่า  “วัดพระแท่น” นั้นก็เพราะอาศัยแท่นพระเก่าแต่ไม่มะระพุทธรูปอยู่หลวงปู่จึงตั้งชื่อว่า  “วัดพระแท่นให้สมกับนามเดิมของแท่นพระเก่า พอหลวงปู่มาสร้างวัดแล้วชาวบ้านไทก็ได้ย้ายบ้านเรือนทั้ง ๓๐ หลังคาเรือนมาอยู่บริเวณรอบๆวัด และได้ตั้งชื่อว่า คุ้มใต้วัด  และ คุ้มหัววัด ชาวบ้านที่อยู่ต่างจังหวัดได้ยินชื่อเสียงของหลวงปู่จึงพากันอพยพมาอยู่มากยิ่งขึ้น ทางทิศเหนือของวัดติดกับบ้านไท เดิมได้มีหนองน้ำแห่งหนึ่ง เรียกว่า กุดบ้าน แต่ก่อนหนองน้ำแห่งนี้เคยมีข้าศึก และคู่อริกันได้มาต่อสู้กันด้วยหอกดาบ พอเลิกต่อสู้กันแล้วต่างคนต่างก็ลงอาบน้ำล้างเลือดทำให้หนองน้ำแห่งนี้มีสีแดงเต็มไปด้วยเลือด หลวงปู่จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านแดง และที่มาของชื่อหมู่บ้านอีกอย่างหนึ่งก็คือ ตอนที่หลวงปู่มาตั้งวัดครั้งแรกที่บริเวณแห่งนี้เต็มไปด้วย ดอกไม้สีแดงและต้นไม้แดงขนาดใหญ่อยู่ในวัด จึงได้อาศัยตำนานหนองน้ำสีแดง  ดอกไม้แดงและป่าไม้แดง หลวงปู่จึงได้ตั้งชื่อบ้านแห่งนี้ว่า  บ้านแดงใหญ่
                ความเป็นอยู่ของชาวบ้านแดงในสมัยนั้นอยู่กันอย่างมีความสุข และก็อุดมสมบูรณ์ไปด้วยกุ้ง หอย ปู ปลา ไม่อดอยาก ไร่นาจับจองเอาไหนก็ได้ ต่อมาคนต่างหมู่บ้านและต่างจังหวัดก็หลั่งไหลกันเข้ามาอาศัยบารมีของหลวงปู่มากขึ้นทุกวัน หลวงปู่จึงมีนโยบายแนวทางพัฒนาแผนใหม่จึงได้วางผังหมู่บ้านและสถานที่ที่จะตั้งอมืองในอนาคตข้างหน้า จึงเริ่มตัดถนนหนทาง ถนนสายใหญ่ๆทั้งหมดก็มีอขู่ ๘ สาย นอกจากนี้ได้ตัดถนนเป็นตรอกซอกซอยจำนวนมาก เมื่อคนเข้าไปอยู่เต็มในแต่ละแปลงก็ตั้งเป็นคุ้มๆหลวงปู่บอกว่าไม่ให้มีการซื้อขายที่ดินให้แบ่งปันกันอยู่  ในแต่ละคุ้มต้องมีศาลาหนึ่งหลัง และมีหัวหน้าประจำคุ้มนั้นๆ ที่ตรงไหนเป็นทุ่งไร่ทุ่งนาอยู่แล้ว หลวงปู่ก็จะเอาไว้แต่ราคาขายต้องไม่เกิน ๖๐ บาท และหลวงปู่ได้หมายขอบเขตของหมู่บ้านเอาไว้ โดยใช้ไม้แดงขนาดใหญ่ฝังเป็นจุดๆโดยรอบอาณาเขตที่บอกว่าจะเป็นเมือง หลวงปู่ปักเขตไว้ว่าตรงไหนจะเป็นของหน่วยราชการใด เช่น ตรงนี้จะเป็นโรงเรียนประถม โรงเรียนมัธยมที่ว่าการอำเภอ ไฟฟ้า อนามัย โรงพยาบาล เป็นต้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีปัญหาในภายหลัง ข้อนี้บอกได้เลยว่าหลวงปู่เป็นคนมองการณ์ไกล อย่างแน่นอน เมื่อคนอพยพเข้ามาอยู่มากขึ้นหลวงปู่จึงนำชาวบ้านสร้างศาลา และกุฏิทางทิศตะวันออกของวัด ในการสร้างนั้นตอนกลางคืนก็ให้พวกหนุ่มๆสาวๆที่มีกำลังแข็งแรงดี ไปช่วยกัยลากไม้โดยใช้รถขิ่งล้อ(รถที่มีล้อสำหรับลากไม้ ทำขึ้นมาจากใ) พอไปตัดไม้ได้ก็เอาขึ้นรถเที่ยวละ๓-๔ ท่อน  ขนาดของไม้แต่ละท่อนยาวประมาณ ๘-๑๐ เมตร ในการลากก็เอาริ้วหนังผูกกับรถแล้วช่วยกันลกาเสียงของรถไม้เสียดสีกันในตอนลากนั้นดังสนั่นวั่นไหวไปทั่วป่าแถบนั้น และตอนที่ริ้วหนังที่ใช้ลากขาด หนุ่มสาวที่ช่วยกันลากไม้ล้มทับกันระเนระนาด ทำให้หนุ่มสาวได้รับความสนุกสนาน ผ่อนคลายความเหน็ดเหนื่อยได้ไม่น้อยทีเดียว ทำอยู่อย่างนั้นเรื่อยมาทุกวันคืน หากคืนไหนไม่ได้ไปลากไม้ชาวบ้านก็พากันออกไปตัดถนนตามถนนสายต่างๆ และบางพวกก็ช่วยกันเลื่อยไม้ที่ขนมาแล้วจากการที่ชาวบ้านจากที่อื่นๆย้ายมาอยู่กันมากขึ้น หลวงปู่จึงตั้งธนาคารข้าวเปลือก และธนาคารโคกระบือเพื่อแจกจ่ายให้กับคนยากจน และมีผู้
หญิงบางกลุ่มมาขอบวชชี (นุ่งขาวห่มขาว) รับอาสาทำอาหารเลี้ยงคนงาน ผู้ที่มาบวงชีจึงมีเป็นร้อยๆ

หลวงปู่พิบูลย์ปราบจระเข้ที่กุดแห่ บ้านนานกหงส์

                ในสมัยก่อนกุดแห่แห่งนี้เป็นห้วยน้ำที่มีฝูงจระเข้น้อยใหญ่อยู่มากมายอาศัยอยู่ ทำให้ชาวบ้านกลัวและไม่กล้าไปทำมาหากินในลำห้วยแห่งนี้ จึงพากันมากราบนมัสการให้หลวงปู่ทราบ พอท่านได้ทราบเรื่องแล้ววันต่อมาได้ชักชวนพ่อออก(โยมผู้ชาย) ๓-๔ คน ไปกุดแก่ด้วย พอไปถึงหลวงปู่จึงเอ่ยถามพ่อออกที่ไปด้วยว่า โยมอยากจะเห็นเรือทองคำไหม? เป็นของพวกผีเขาแห่มาไว้นะ พ่อออกก็บอกว่าอยากจะเห็น หลวงปู่จึงเดินลงไปในน้ำลึกประมาณโคนขา แล้วเอาแขนล้วงลงไปในน้ำดึงเนือทองคำขึ้นมา เรือลำดังกล่าวยาวประมาณ ๓ เมตร หลวงปู่จึงเอ่ยถามโยมว่า อยากได้ไหม พ่อออกก็บอกว่าอยากได้ แต่หลวงปู่บอกว่า เอาของๆเขาไม่ได้เพราะเจ้าของเขาหวง เสร็จแล้วหลวงปู่จึงปล่อยเรือลงไปไว้เหมือนเดิม ด้วยเหตุนี้ห้วยน้ำแห่งนี้จึงได้มีชื่อว่า ห้วยกุดแห่ ต่อจากนั้นหลวงปู่ก็มานั่งบนฝั่ง ใช้มือล้วงเอาหินเสกที่อยู่ในย่ามหว่านลงไปในน้ำ ทำให้ฝูงจระเข้และเต่าทั้งหลายลอยขึ้นมาบนผิวน้ำ แล้วหลวงปู่สั่งให้สัตว์เหล่านั้นมาตัวกันตรงหน้า และหลวงปู่ก็แผ่เมตตาและให้ศีลแก่สัตว์เหล่านั้น พร้อมให้หนีไปอยู่ที่อื่นห้ามไม่ให้มาทำร้ายมนุษย์อีกต่อไป หลังจากนั้น ๗ วันก็ไม่มีใครปรากฎเห็นจระเข้อยู่ในลำห้วยอีกเลย แต่ต่อมามีชาวบ้านนานกหงส์และบ้านนาทรายหลายคนบอกว่าได้ยินเสียงร้องไห้แถวๆป่าแห่งนั้นในเวลากลางคืนและต่อมาอีกระยะหนึ่งก็มีคนพบซากของจระเข้ และซากเต่าอยู่ตามโคนตามป่าแห่งนั้น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาห้วยกุดแห่จึงเป็นห้วยน้ำที่ทำมาหากินของชาวบ้านนานกหงส์ บ้านนาทราย บ้านแดง  บ้านหนองผักแว่นและหมู่บ้านใกล้เคียงสืบมาจึงถึงทุกวันนี้

หลวงปู่พิบูลย์ถูกจับ

                เมื่อหลวงปู่พัฒนาวัด และหมู่บ้านเป็นที่อาศัยของผู้เข้ามาอยู่เป็นอย่างดีแล้วจึงตั้งธนาคารข้าวเปลือก ธนาคารโคกระบือ และบวชผู้หญิงนุ่งขาวห่มขาวถือศิล ๘ หรือที่เรียกว่า แม่ชี ในการที่หลวงปู่ได้พัฒนาหมู่บ้านทั้ง ๓ อย่างนี้ถือเป็นการดีและเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านเป็นอันมาก แต่เมื่อทางราชการได้ยินเรื่องนี้ ก็ทำให้ทางราชการเข้าใจผิดคิดว่าเป็น ผีบุญ หรือเป็นการก่อกบฏนั่นเอง เพราะได้ซ่อมสุมผู้คนไว้มาก ดังนั้นทางพระอำเภอหนองหานและเจ้าคณะแขวงพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมาจับกุมหลวงปู่ และทำทารุณกรรมต่างๆนานาแล้วส่งลงไปที่กรุงเทพฯเพื่อสอบสวน เมื่อทางการลงความเห็นว่าผิดจริง จึงส่งไปกักขังเพื่อรอการลงโทษอยู่ที่เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ต่อมาเจ้าหน้าที่จึงลงโทษหลวงปู่ โดยการที่เอาหลวงปู่ขังไว้ในกรงไม้แล้วเอาลงถ่วงน้ำ เมื่อผ่านไป ๗ วัน ๗ คืน เจ้าหน้าที่คิดว่าหลงปู่ท่านมรณภาพแน่นอนแล้วจึงดึงกรงนั้นขึ้นมา ปรากฏว่าหลวงปู่ท่านยังไม่ตาย อย่าว่าแต่ตายเลยแม้จีวรที่ท่านนุ่งห่มอยู่ก็ไม่เปียก จึงทำให้เจ้าหน้าที่ และผู้ที่เห็นเหตุการณ์ดังกล่าถึงกับตกตะลึงในปาฏิหารย์ของหลวงปู่ และเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในตัวหลวงปู่ หลังจากนั้นจึงนำตัวหลวงปู่มากักขังไว้เย่างคนธรรมดาทั่วไป กักขังอยู่ ๓ ปี พอครบกำหนดข้าหลวงเมืองชลบุรีก็เข้าไปหาหลวงปู่และได้ไตร่ถามหลวงปู่ว่าบ้านหลวงปู่อยู่ที่ไหน หลวงปู่ตอบว่า อยู่ที่อุดร อำเภอหนองหาน   (ในสมัยนั้น) ท่านข้าหลวงถามไปอีกว่า อยากกลับบ้านหรือเปล่า หลวงปู่ตอบว่า อยากจะกลับ และท่านข้าหลวงถามว่า รถที่จะกลับนั้นถึงบ้านที่อุดรหรือไม่ หลวงปู่ตอบว่าไปไม่ถึง รถถึงแค่โคราช ข้าหลวงจึงประกาศรับบริจาคเงินทอง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับบ้านของหลวงปู่ และข้าหลวงได้ทำหนังสือส่งตัวหลวงปู่ถึงนายอำเภอเมืองโคราช เมื่อหลวงปู่เดินทางถึงโคราชแล้วนายอำเภอจึงประกาศหาคนที่อยู่อุดร หลังจากนั้นมีพ่อค้าเกวียนชื่อว่า นายเบี้ยว บอกว่ามาจากหนองหานได้นำเกวียนมาค้าขายกับพวกจำนวน ๒๐ คน นายอำเภอเมืองโคราชจึงบอกกับนายเบี้ยวว่า ให้นำหลวงปู่กลับไปบ้านแดงด้วยจะมีรางวัลให้ และในระหว่างเดินทางให้ถวายอาหารเช้าและเพลหลวงปู่ด้วยอย่างให้ขาดตกบกพร่องนายเบี้ยวเมื่อได้ยยินดังนั้นจึงนำหลวงปู่ไปขึ้นเกวียนพร้อมกับอัฐบริขารของท่าน เมื่อเดินทางมาถึงหนองหานนายเบี้ยวได้ส่งข่าวให้ชาวบ้าน น้านนายม บ้านดงยาง และบ้านแดงทราบ ชาวบ้านดังกล่าวเมื่อได้ทราบข่าวต่างก็มีความปิติยินดีเป็นอย่างมาก นายเบี้ยวได้นำส่งหลวงปู่มาจนถึงบ้านโพธิ์ และได้เดินทางกลับ ชาวบ้านแดงก็ได้แตกตื่นออกไปรับกันหมดแล้วพากันแห่หลวงปู่เข้าสู่บ้านแดง เป็นที่ชื่นชมยินดีของชาวบ้านแดงเป็นอย่างมาก เมื่อเหตุการณ์ปกติแล้วหลวงปู่ก็พาชาวบ้านสร้าง และพัฒนาหมู่บ้านต่อไป เมื่อผู้คนเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในตัวหลวงปู่มากขึ้นไปอีก และหลั่งไหลกันเข้ามาหาหลวงปู่ มีทั้งพระทั้งโยมที่มาพึ่งใบบุญ หลวงปู่ได้นำพาชาวบ้านพัฒนาทำถนนหนทางในหมู่บ้านจนเสร็จ มีผู้มาขอบวชชีและแสดงตนเป็นศิษย์ก็มาก จนเป็นข่าวลือถึงหูพวกเจ้านายอีกทั้งพระสงฆ์ผู้ใหญ่ และเจ้านายอำเภอก็พากันมาจับหลวงปู่ไปเป็นครั้งที่สอง แต่ครั้งนี้ปลวงปู่ไม่ยอมไป เขาจึงจับหลวงปู่ฉุดกระชากลากถูดึงลงจากกุฏิ ศีรษะของหลวงปู่ฟาดกับขั้นบันได และเขาลากหลวงปู่ถูไถกับพื้นดินไปจนถึงห้าแยกแล้วก็จับโยนทิ้งใส่เกวียน แล้วเอาวัวมาเทียมเกวียนแต่วัวไม่ยอมข้า เขาก็ทำดุจจะฆ่าจะแกงมันสุดท้ายวัวก็หลุดวิ่งหนีไป ดังนั้นพวกที่มาจับหลวงปู่ต้องได้ลากเกวียนไปเอง ในตอนที่เขามาจับหลวงปู่นั้นชาวบ้านก็พากันร้องห่มร้องไห้เต็มไปหมด ช่วยอะไรก็ไม่ได้เพราะผู้ใหญ่บ้านห้ามไว้ เขามาจับกุมตอนกลางวันกว่าจะถึงอุดรก็สว่างพอดี แล้วพวกที่มาจับกุมก็ได้นำหลวงปู่ไปไว้วัดโพธิสมภรณ์ เจ้าอาวาสให้พักอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของวัด ในช่วงที่อยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์นั้นหลวงปู่ถูกทรมานทำร้ายร่างกายอยู่หลายครั้งหลายหน จนถึงขั้นห้ามไม่ให้ออกบิณฑบาตเพราะเห็นว่าหลวงปู่ออกบิณฑบาตแล้วได้ข้าวได้อาหารเยอะ เมื่อผู้คนแถวนั้นไม่เห็นหลวงปู่ออกบิณฑบาตก็หลั่งไหลเข้าไปหาหลวงปู่ พอเหตุการณ์ร้ายๆสงบลง หลวงปู่ก็เริ่มพาผู้คนพัฒนาวัดโพธิสมภรณ์ ถากถางป่าและนำเงินที่ได้จากการบริจาคมาซื้อที่ดินเพิ่มเติม ทำให้บริเวณที่หลวงปู่อยู่กว้างขวางขึ้น และได้สั่งให้พ่อออกไปหาซื้อบ้านเก่าๆเพื่อนำไม้ไปปลูกสร้างกุฏิ รวมแล้วได้กุฏิทั้งสิ้น ๕๕ หลังและสร้างศาลาไว้เป็นที่ต้อนรับญาติโยมที่ไปมาหสู่อยู่ไม่ขาดสาย และสร้างเล้า (ยุ้งฉาง) ใส่ข้าวขนาดใหญ่อีกหนึ่งหลัง ให้พ่อออกนำเกวียนออกไปหาซื้อข้าวมาใส่ไว้ให้เต็ม เอาไว้รองรับผู้เข้าไปรักษาตัวจำพวกผีเข้าเจ้าทรง รักษาปอบ รักษาผี พวกนี้มีมากเหลือเกิน และพวกไปหาเครื่องลางของขลัง ผูกแขนและรดน้ำมนต์เหล่านี้เป็นต้น หลวงปู่ได้ตั้งธนาคารโคกระบือ ขึ้นอีกไว้บริจาคให้กับผู้ตกทุกข์ได้ยากไม่มีควายทำไร่ทำนา ในช่วงระยะเวลาที่หลวงปู่พัฒนาอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์นี้ ก็หาได้ลืมชาวบ้านแดงไม่ ขณะที่ชาวบ้านแดงเข้าไปนมัสการหลวงปู่ๆก็จะสั่งชาวบ้านขุดลอกห้วย หนอง คลอง บึง สร้างโบสถ์สร้างวิหารต่างๆหากชาวบ้านขาดเหลือเงินทองท่านก็ให้ชาวบ้านแดง ใครไม่มีควายทำนาก็ไปขอจากหลวงปู่ท่านก็ให้ ในช่วงที่หลวงปู่พิบูลย์ไม่อยู่บ้านแดงนี้ ก็ได้หลวงปู่โชติเป็นผู้บริหารงานแทนท่านอยู่ที่วัดพระแท่น ทำให้การพัฒนาวัดและหมู่บ้านไม่มีการหยุดยั้ง ที่ดินบางส่วนที่เป็นที่ตั้งโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานีในปัจจุบันหลวงปู่ก็ได้ยกให้เป็นสมบัติของทางราช ช่วงระยะเวลาที่หลวงปู่อยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์นั้นเกิดสงครามอินดีนขึ้น พวกฝรั่งเศสก็มาทิ้งระเบิดที่หนองนาเกลือในแต่ละวันระเบิดจะถูกทิ้งลงตรงไหนหลวงปู่รู้หมด และจะไปขีดเป็นวงกลมไว้เมื่อระเบิดตกลงมาปรากฏว่า ลูกระเบิดไม่ระเบิดแม้แต่ลูกเดียวจากเหตุการณ์ครั้งนั้นก็ทำให้มีผู้สนใจเครื่องลางของขลังจากหลวงปู่เยอะมาก

หลวงปู่พัฒนาบ้านแดง

                ครั้งหนึ่งหลวงปู่ได้พาพระเณร และญาติโยมไปตัดไม้แคนใหญ่(ไม้ตะเคียน)อยู่ที่วังใหญ่ฝั่งห้วยหลวง ตอนนั้นนำขึ้นมาเสมอฝั่งพอดี ไม้แคนใหญ่ต้นนั้นล้มลงกลางห้วยหลวงจึงไม่มีใครสามารถลงไปตัดได้หลวงปู่จึงลงไปตัดเพียงผู้เดียว หลวงปู่ลงไปตัดไม้ตั้งแต่ช่วงเวลา ๘ โมงเช้าถึง ๑๑ โมงเช้าตัดไม้ได้จำนวน ๓ ท่อนๆหนึ่งยาว ๖ เมตรเสร็จแล้วค่อยขึ้นมาจากน้ำทีเดียวเลย ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของไม้แคนประมาณ /๑.๕๐ เมตร
                หลวงปู่พิบูลย์บอกว่า วัดพระแท่นนี้เคยเป็นวัดเก่าของท่าน เพราะช่วงระยะสร้างอยู่นั้นหลวงปู่ท่านได้ชี้บอกว่าตรงนี้เป็นเสาวัดเก่า  พอชาวบ้านขุดดูก็เห็นเสาไม้เก่าที่ขาดอยู่ในดินตรงจุดนั้น ตลอดจนบ่อน้ำที่เคยมีอยู่ในวัดเก่า พอขุดตรงบ่อน้ำที่เคยเจาะไว้จึงไม่ได้บ่อน้ำอีก หลวงปู่บอกว่าวัดนี้เป็นวัดมาตั้งแต่สมัยของพระเจ้ากัสสปะ หลวงปู่ได้มาสร้างไว้เมื่อหลายชาติแล้ว
อภินิหารของหลวงปู่พิบูลย์

                เมื่อถึงฤดูฝนของแต่ละปี หลวงปู่จะบอกล่วงหน้าว่าปีนี้ฟ้าจะผ่าลงวันไหน ที่ไหน และฝ้าจะผ่าต้นไม้อะไร หลวงปู่ก็จะไปกากบาททำเป็นเครื่องหมายไว้ เพื่อไม่ให้คนเข้าไปใกล้และก็เป็นตามที่หลวงปู่บอกทุกครั้งไป
                เมื่อคนที่จะมาหาหลวงปู่ตั้งใจไว้ว่าเมื่อไปถึงหลวงปู่แล้วจะพูดเรื่องอะไรยังไง พอมาถึงหลวงปู่ท่านก็ทักทันทีว่าคิดไว้นั้นคิดดีแล้วหรือ เช่นว่าจะมาหาท่านตั้งแต่เมื่อวานนี้ แต่มาไม่ได้เพราะติดธุระ พอมาถึงหลวงปู่ท่านก็ถามทันทีว่าที่ว่าติดธุระอะไรหรือเมื่อวานถึงไม่ได้มาอย่างนี้เป็นต้น และพวกที่ว่าวิชาอาคมอยู่ยงคงกระพันนั้น เมื่อได้กินน้ำมนต์หลวงปู่แล้ววิชาเหล่านั้นก็จะจืดจางไปหมด
                วันหนึ่งญาติโยมไปคอยรับบาตรหลวงปู่ เมื่อท่านจะออกบิณฑบาตตามปกติขณะที่นั่งรออยู่นั้นก็ไม่เห็นหลวงปู่ออกมาจากกุฏิสักที คอยอยู่เป็นชั่วโมงแล้วค่อยเห็นหลวงปู่ออกมาจากกุฏิ พร้อมกับอุ้มบตรที่เต็มแล้วเหมือนกับท่านออกบิณฑบาตตามปกติโยมที่นั่งคอยอยู่ก็เข้าไปรับบาตร แต่เมื่อโยมเห็นอาหารที่อยู่ในบาตรท่านนั้น มันไม่ใช่อาหารที่มีตามบ้านนอกเราสักอย่างแต่มันเป็นอาหารจากตลาดในเมือง อาหารพวกนี้ไม่สามารถที่จะมีกิน หรือจะใส่บาตรสำหรับชาวบ้านแดงในสมัยนั้น ทำให้โยมผู้ที่นั่งรอรับบาตร และผู้ที่พบเห็นเกิดอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง จึงได้ถามหลวงปู่ท่านก็บอกว่า ไปบิณฑบาตมา แต่ไปบิณฑบาตที่ไหนท่านไม่ได้บอก
                ในบางวันหลวงปู่เข้าไปในฐาน(ห้องน้ำ) ญาติโยมที่ไปหาท่านก็เห็นว่าท่านเดินเข้าไปอยู่ในฐานนั้นกันทุกคน แต่ท่านเข้าไปนานเกินไป คือประมาณ ๒ ชั่วโมง พ่อจารย์สุด บุญพา ในขณะนั้นบวชอยู่กับท่าน เมื่อเห็นท่านเข้าฐานนานเกินไปกลัวว่าจะมีอันตรายเกิดขึ้นกับท่านจึงตัดสินใจเดินเข้าไปเปิดฐานดู พ่อจารย์สุดก็ต้องแปลกใจมากเพราะในฐานไม่มีหลวงปู่อยู่เลย ทำให้ทุกคนก็งงไปตามๆกัน อาจารย์สุด และทุกคนก็นั่งรอคอยท่านต่อไป สักครู่ผ่านไปก็เห็นท่านเปิดประตูฐานนั้นออกมาก็ยิ่งมำให้ญาติโยมที่มานั่งคอยถึงกับแปลกใจ และงงกันหนักกว่าเดิม
                ในช่วงที่หลวงปู่อยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์ตามปกติแล้ว ชาวบ้านแดง ทั้งพระทั้งโยมก็เที่ยวไปหาหลวงปู่อยู่ตลอด มีอยู่ครั้งหนึ่งพ่อออกบ้านแดงได้ย่างปลาแล้วบรรจุใส่ห่อเกลือเพื่อจะเอาไปถวายหลวงปู่ เดินทางไปด้วยกัน ๓-๔ คน พอเดินทางไปถึงเนินบ้านสามพร้าวก็เห็นแลน (ตะกวด) วิ่งเข้าไปในโพรงไม้ จึงได้ช่วยกันเอาไม้และกิ่งไม้อุดโพรงนั้นไว้แน่น และตกลงกันว่าขากลับจึงจะมาเอาแล้วก็ไม่ให้บอกใครด้วย พอไปถึงก็เข้าไปกราบนมัสการหลวงปู่พร้อมกับถวายปลาย่างและของอื่นๆ ที่นำไปให้ท่าน ขณะนั้นท่านก็ไม่ได้พูดอะไรมากมายกับโยมที่ไปหาแต่ให้พักที่วัดนั้นคืนหนึ่ง พอรุ่งเช้าก็เข้าไปลาท่านเพื่อจะเดินทางกลับแต่เช้า หลวงปู่จึงได้พูดขึ้นว่าแลนใหญ่ที่อุดไว้นั้นโยมปล่อยมันซะ ทำให้โยมทั้ง ๔ งงไปตามๆกัน เพราะท่านรู้ได้อย่างไร เมื่อหายจากอาการงงทุคนก็พนมมือขึ้น และรับปากกับหลวงปู่อย่างพร้อมเพรียงกันว่า ครับหลวงปู่
                อีกเรื่องหนึ่ง เรื่องนี้ผู้เขียนได้ยินมาด้วยตนเองจากหลวงพ่อพระครูญาณวิสุทธิคุณเจ้าคณะอำเภอหนองหานรูปปัจจุบัน ท่านเล่าให้ฟังว่าสมัยที่โยมพ่อของท่านได้มาบวชเป็นสามเณรอยู่กับหลวงปู่พิบูลย์ วันหนึ่งท่านได้พาไปบ้านดงปอ แต่ช่วงนั้นเป็นช่วงฤดูน้ำหลากทำให้น้ำท่วมถนนหนทางที่จะไปบ้านดงปอ เพราะทั้งสองหมู่บ้านนี้อยู่คนละฟากน้ำ หลวงปู่และสามเณรจะข้ามไปบ้านดงปอแต่ไม่มีเรือ และตอนนั้นก็ใกล้จะค่ำแล้ว หลวงปู่จึงบอกสามเณรว่าให้เณรคอยอยู่ทางนี้หลวงปู่จะไปก่อน และหาเรือฝั่งโน้นมารับ เณรก็มองดูหลวงปู่เดินลงไปในน้ำเห็นท่านเดินไปน้ำลึกถึงหัวเข่า เณรน้อยก็มองตามท่านไปเรื่อยๆแม้ท่านจะเดินไปไกลสุดสายตาก็เห็นน้ำลึกถึงแค่หัวเข่าของท่านตลอด ทั้งๆที่เส้นทางที่ท่านเดินข้ามนั้นมีลำน้ำห้วยหลวงอยู่ น้ำลึกประมาณ ๒-๓ เมตร จึงทำให้สามเณรนั้นงงกับสายตาตนเอง ได้แต่นั่งคอยอยู่ตรงนั้น ไม่นานเห็นโยมพายเรือมารับ พร้อมบอกกับเณรว่า หลวงปู่คอยอยู่ฝั่งโน้นแล้ว พอเณรไปถึงไปถึงก็เห็นท่านนั่งเคี้ยวหมากอยู่มองดูผ้าจีวรก็ไม่เปียก ยิ่งทำให้เณรรูปนั้นงงหนักขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ไม่ได้ซักไซร้อะไรท่าน
                มีอยู่วันหนึ่งหลวงปู่ได้ให้พระเณรไปตัดไม้ที่ดงใหญ่วังใหญ่ ทุกคนก็พากันนอนค้างอยู่บริเวณที่ตัดไม้กันหมด พอรุ่งเช้าหลวงปู่ก็ออกบิณฑบาตเสร็จเรียบร้อย ส่วนญาติโยมก็จัดแต่อาหารเตรียมไว้ให้ผู้ไปตัดไม้ หลวงปู่บอกกับญาติโยมที่เตรียมอาหารว่าข้าวไม่ต้องเอาไปก็ได้ เพราะกินอยู่ในบาตรของหลวงปู่ก็ไม่หมด แม่ออก(โยมผู้หญิง)ก็บอกหลวงปู่ว่าพระเณรตั้ง ๕๐ รูป จะกินอิ่มได้อย่างไรกัน หลวงปู่จึงบอกย้ำว่า ๕๐รูปก็กินไม่หมด วันนั้นก็เลยไม่ได้นึ่งเอาข้าวไป พอไปถึงแม่ออกก็จัดอาหารใส่พาข้าว (ถาด) หลวงปู่บอกให้พ่อออกเอาพาข้าวมาใส่เอาข้าว หลวงปู่ก็ล้วงเอาข้าวออกจากบาตรเอาออกเท่าไหร่ก็ไม่หมด จนครบพระเณรทั้ง ๕๐ รูป ข้าวในบาตรหลวงปู่ก็ยังไม่หมด เมื่อพระเณรฉันเสร็จแล้วโยมก็กินต่อข้าวก็ยังไม่หมดทั้งๆที่ขนาดบาตรของหลวงปู่นั้นเป็นบาตรขนาดกลาง ตามปกติแล้วกินกันแต่ ๕-๖ คนก็หมดแล้ว
                พ่อประภาส บุญไชย จากในเมืองอุดรบอกว่า พ่อเล่าเรื่องของหลวงปู่พิบูลย์ให้ฟังดังนี้หลวงปู่เห็นพระที่ศักดิ์สิทธิ์มีคุณธรรมสูงหาได้ยากในสมัยนั้น ท่านเป็นผู้มองการณ์ไกลด้วยญาณของท่าน ท่านสอนให้ชาวบ้านรักษาศีลธรรมเป็นผู้ซื่อสัตย์สุจริตให้ละเลิกอบายมุขไม่ให้ดื่มสุรายาเมา เล่นการพนัน ให้ทุกคนฝักใฝ่ในศีลธรรมนับตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านแดงก็อยู่เย็นเป็นสุขไม่เคยเกิดโรคภัยไข้เจ็บ เป็นเพราะบุญบารมีของหลวงปู่โดยแท้ นอกจากนั้นท่านยังเป็นผู้ถือธรรมปัญญาบารมี ๓๐ ทัศ และสั่งสอนอบรมชาวบ้านให้ถือธรรมปัญญาบารมี ให้ทุกคนสวดทุกเช้า-เย็นถือพระรัตนตรัยแก้ว ๓  ดวง คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  ให้ทุกบ้านเรือนทำหิ้งพระ(พากระหย่อง) เอาไว้กราบไหว้บูชาทุกบ้านเรือน บ้านหลักใดมีหอปู่ตา หอผีสาง ให้รื้อทิ้งให้ถือธรรมะอย่างเดียว บ้านไหนหลังไหนมีผีให้เอาดินเอาหินที่หลวงปู่เสกไปหว่านขับไล่ผีจะหนีหมด  จนมีคนเล่าขานถึงดินหินที่หลวงปู่ได้เสกว่า สามารถขับไล่จระเข้ที่มีอบู่ในหนองน้ำให้หนีหมด ดังเช่นที่หลวงปู่ได้ไปปราบจระเข้ที่กุดแห่ คำหมากแห้งที่หลวงปู่เคี้ยว ใตรที่ได้มีติดตัวก็จะเป็นมงคลยิ่ง สามารถป้องกันภูตผีปีศาจ และสัตว์ร้ายได้แม้แต่ติดเข้าป่ายุงก็ยังไม่กัด จำตำนานเล่าเรื่องชาวบ้านและพระเณรที่พากันเข้าป่าไปตัดไม้ที่ดงไร่และดงใหญ่เพื่อมาก่อสร้างวัด ซึ่งมียุงชุกชุมและเป็นถิ่นไข้มาลาเรียแต่ก็ไม่มีใครเจ็บไข้ได้ป่วยเลย เป็นเพราะมีคำหมากแห้งติดตัวกันทุกคน
                คำทำนายของหลวงปู่ขณะอยู่ในวัดโพธิสมภรณ์ใครมีเรื่องเดือดร้อนทุกข์ใจอันใดก็จะเล่าให้หลวงปู่ฟังและขอให้คำแนะนำช่วยเหลือ เช่น ปลัดสุรพล คำศรีระภาพ (น้องของคุณพ่อของพ่อประภาส บุญไชย) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้เป็นปลัดตำบลบ้านเชียงพาชาวบ้านตัดถนนหนทางหลายสาย มีอยู่สายหนึ่งขณะทำการก่อสร้างงถนน ได้ไปตัดต้นพลูของชาวบ้านจนมีการร้องทุกข์ และจะฟ้องร้องถึงอัยการ ปลัดสุรพลและพ่อจึงไปพลหลวงปู่เล่าให้ฟังว่าตัวเองกลุ้มใจเดือดร้อนมากเกรงว่าเรื่องจะถึงอัยการมีการฟ้องร้องตน หลวงปู่สอบถามว่าเป็นลูกใคร และก็ดูลายมือและบอกว่า ไม่เป็นไรหรอก ไม่ต้องกลุ้มใจเรื่องใกล้จะเสร็จแล้ว หลังจากนั้นประมาณเดือนเศษอัยการก็มีคำสั่งไม่ฟ้องและเรื่องก็ยุติลง
หลวงปู่ลอยผู้เลื่อมใสศรัทธาหลวงปู่พิบูลย์ ซึ่งหลวงปู่ลอยเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งอยู่แถววัดโพธิสมภรณ์ วันหนึ่งควายที่เลี้ยงอยู่ ๕-๖ ตัวหายไปหาอย่างไรก็ไม่พบจนหมดปัญญาจะหาต่อ จึงไปให้หลวงปู่ทำนายให้ว่าตนเองจะได้ควายกลับคืนมาหรือไม่ หลวงปู่จึงบอกกับผู้ใหญ่บ้านลอยว่า มันไม่ได้หายไปไหน เวลาประมาณบ่ายโมงให้ไปรอที่บ่อน้ำทันจะมากินน้ำที่นั่น และก็เป็นจริงตามที่หลวงปู่ทำนายไว้ สร้างความดีใจ และเลื่อมใสแก่ผู้ใหญ่ลอยมาก ภายหลังผู้ใหญ่ลอยกลับมา บวชพระอยู่วัดโพธิสมภรณ์ ได้ศึกษาประวัติหลวงปู่และบัญทึกไว้ที่กุฏิจำลอง บอกประวัติหลวงปู่ และสร้างรูปเหมือนหลวงปู่คล้ายกับก่อสร้างที่วัดพระแท่นตั้งอยู่ส่วนหลังของวัดโพธิสมภรณ์ ส่วนหลวงปู่ลอยผู้มีจิตศรัทธา และเลื่อมใสหลวงปู่ได้ตั้งมั่นที่จะอยู่กับหลวงปู่ตลอดไป จึงได้สร้างสถูปไว้เก็บอัฐิของหลวงปู่พิบูลย์ และรูปเมือนของหลวงปู่พิบูลย์ ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ เมื่อหลวงปู่พิบูลย์มรณภาพแล้วศหลวงปู่พิบูลย์เก็บไว้ในสถูปเจดีย์ ตรงที่หลวงปู่ลอยได้หล่อรูปเหมือนประดิษฐานไว้ที่หลังวัดโพธิสมภรณ์ในปัจจุบันนี้
ต่อไปนี้ เป็นคำทำนายล่วงหน้าของหลวงปู่พิบูลย์ เพื่อให้เป็นแนวคิดแกอนุชนคนรุ่นหลัง มีหลายเรื่องที่บอกไว้แต่ผู้เขียนไม่สามารถจำได้หมด มีคำต่างๆดังนี้ ต่อไปในภายภาคหน้าม้าจะมีเขา ในปัจจุบันก็คือจำพวกรถจักรยานยนต์ เสาจะออกดอก ปัจจุบันคือเสาไฟฟ้าแม่มาร(ผู้ตั้งครรภ์)ออกลูกไม่มีบ้านเรือน ปัจจุบันต้องไปออกลูกที่โรงพยาบาล  จะไม่มีรอยเท้าของคนเดินดิน ปัจจุบันคือคนจะไปไหนมาไหนต้องสวมรองเท้าขึ้นรถ หญิงอายุมึ่ง ๑๕ จะผัวมีลูก ข้อนี้ใจความปัจจุบันก็คือแต่งงานกันตั้งแต่อายุ ๑๒-๑๓-๑๔ ปี ดังที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน หญิงออกจากบ้านมารท้องกรองน้ำตา ปัจจุบันคือผู้หญิงไปได้เสียกับผู้ชายพอได้แล้วผู้ชายไม่รับผิดชอบจึงต้องอุ้มท้องร้องไห้กลับมาหาพ่อแม่ ต่อไปต้นกัลปพฤกษ์จะเกิดขึ้นกลางบ้าน กลางเมือง  ปัจจุบันก็คือตลาดสด ตลาดนัดเคลื่อนที่มาลงตามหมู่บ้านทุกครึ่งเดือน ต่อไปหญิงชายจะเหมือนกัน เมื่อมองดูแล้วจะไม่รู้ว่าหญิงหรือชายเมือนฝูงนกเขาไม่รู้ว่าตัวผู้ตัวเมีย ปัจจุบันก็คือหญิงชายแต่งกายเหมือนกัน ไว้ผมสั้นผมยาวเหมือนกันหมด แคนดวงเดียวหมอลำพอฮ้อย(ร้อยคน) นุ่งผ้าส่อย (ผ้าที่ถูกตัดทำเป็นริ้ว) ผ่าบ้านผ่าเมือง ปัจจุบันคณะหมอลำใช้แคนอันเดียวแต่คนเป็นร้อย เช่น คณะหมอลำเรื่อง หมอลำซิ่ง และผู้คนจะใส่เสื้อผ้าแหวกหลังนุ่งน้อยห่มน้อย โชว์เนื้อโชว์ตัวสนามพิบูลย์รังสรรค์ที่หลวงปู่ได้ทำไว้นี้หลวงปู่บอกว่าเอาไว้ดูควายงาม วัวงาม หมายถึงเอาไว้เป็นสถานที่จัดงานรื่นเริงต่างๆเช่น หมอลำ งานประจำปี ทางสิบคืนชาว(ยี่สิบ) คืนหย่อ (ย่อ) เป็นคราวมื้อ สิบแม่น้ำซาว แม่น้ำหย่อ เป็นแผ่นดินเดียวแขนสั้นยาวคาวตาลึก อธิบายได้ว่าจะหย่นระยะการเดินทาง เช่น ไปกรุงเทพฯ แต่เมื่อก่อนเดินเท้าใช้เวลาเป็นแรมเดือนแต่ปัจจุบันไปเช้าเย็นกลับก็ได้ คำว่าแขนสั้นยาวคาวตาลึก ได้แก่การสั่งของทางโทรศัพท์ ส่วนคาวตาลึก ได้แก่การดูข่าวสารทั่วโลกทางโทรทัศน์ ส่วนสิบแม่น้ำซาวแม่น้ำหน่อเป็นแผ่นดินเดียว คือ การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเชื่อมต่อกันระหว่างหมู่บ้านกับหมู่บ้าน อำเภอกับอำเภอ จังหวัดกับจังหวัดจนถึงประเทศกับประเทศ หลวงปู่ยังทายต่อไปอีกว่า ถ้าบ้านเมืองไม่มีถนนหนทางเหมือนตาจีวรของพระภิกษุตราบนั้นบ้านเมืองยังไม่เจริญเต็มที่ ถ้าสร้างถนนหนทางเหมือนตาจีวรหรือดุจคันนาตามทุ่งนาเมื่อนั้นจึงจะเจิญเต็มที่ เจ้าผู้เที่ยวทางเวิ้งเหิง(อ้อมไป)ไปมันสิค่ำ มัวแต่เก็บหมากหว้ามันสิซ่า (ช้า) ค่ำทาง อธิบายได้ว่าการกิจการงานหน้าที่ต่างๆไม่อยู่ในกรอบศิลธรรม ทำในสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ไม่พอจะเป็นบุญหน้า ในยามหนุ่มสาวมัวเมาในลาภ ยศ สรรเสริญ ยามแก่เฒ่าเข้าวัดไม่ทันได้ทำบุญกุศลก็ตายก่อน อีกบทหนึ่งว่า เจ้าผู้ควายบักเลเฒ่านอนซำบ่อฮู้ค่ำ บัดตะเวน(ตะวัน) คำต้อยตัวเจ้าซิอ่าวหา บทนี้อธิบายว่าคนเกิดมาในเมื่อถึงวัยเป็นหนุ่มเป็นสาวหลงมัวเมาสนุกสนานรื่นเริง ลุ่มหลงอยู่กับรูป รส แสง สี ลืมวันเดือนปี ไม่ได้บำเพ็ญกุศลคุณงามความดี พออายุแก่เฒ่ามาแล้วจะไปบำเพ็ญประโยชน์ก็ไม่ทันให้นั่งคิดคอยความตายเพียงอย่างเดียว
เจ้าผู้ใช้หลังหล่าบ่หมานปลาน่ำเพิ่น(คนไปหาปลามาท้ายเพื่อนแต่ไม่ได้ปลาเหมือนเพื่อน)ยามฝนถืก(ถูก) แต่น้ำ ยามแล้งถืกแต่ลม บทนี้อธิบายว่าเมื่อเกิดขึ้นมาเป็นคนไม่ได้บำเพ็ญกุศลคุณงามความดี อันเป็นที่พึ่งของตนเองในภายหน้า เมื่อเขาจัดงานบุญงานกุศลมัวเที่ยวเล่นสนุกสนานอย่างเดียวไม่หาบุญหากุศลใส่ตนเอง อันนี้ท่านบอกไว้ว่าเป็นโมฆะบุรุษ หมายถึงผู้ว่างเปล่าจากประโยชน์เกิดขึ้นมาเสียชาติเกิด อีกประการหนึ่งหลวงปู่ท่านได้แนะนำชาวบ้านญาติโดยมว่าบุคคลใดได้บวชลูกบวชหลานเข้ามาในพุทธศาสนาบุคคลนั้นย่อมได้ชื่อว่าเป็นเครือญาติกับพระพุทธเจ้าถ้าใครไม่ได้บวชลูกบวชหลานเข้ามาไว้ในพุทธศานาย่อมไม่ได้เป็นเครือญาติกับพระพุทธเจ้า บทอีกต่อไปว่าให้ญาติโยมทั้งหลายดูรอยมือรอยและจดจำรอยมือรอยเท้าของหลวงปู่ไว้ให้ดี ญาติโยมบางคนก็ขอดูรอยมือรอยเท้าของท่าน บางคนก็เห็นว่าเป็นดอกจันทร์หรืรูปจักรและมีรอยแดงๆฝังอยู่ หลวงปู่บอกว่า ถ้าจำอย่างนี้เมื่อนานไปคงจะไม่เห็นให้จำลงไปลึกซึ้งกว่านี้อีก ที่จริงรอยมือของท่านก็คือสถานที่ที่ท่านสร้างและพัฒนาไว้ เช่น กุฏิ วิหาร ห้วยหนองคลองบึง คำว่ารอยเท้าก็คือถนนหนทางที่หลวงปู่พาชาวบ้านตัดไว้ให้ช่วยกันดูแลรักษาให้ยั่งยืนสืบถึงลูกถึงหลาน กับอีกคำหนึ่งว่า ต่อไปผ้าเหลืองแต่งครองบ้านครองเมืองเด้อ อันนี้เป็นคำพูดของหลวงปู่อย่างหนึ่งที่เคยพูดกับพระภิกษุและญาติโยมอยู่เสมอ ข้อนี้คงจะหมายความว่าพระสงฆ์จะเป็นผู้นำในการพัฒนาหมู่บ้านและวัด เป็น้ว่าแบบแปลนแผนผังทุกอย่างในการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นหรือตายก็ต้องมีพระนำหน้า พึงให้เห็นว่าชีวิตคนเราเกี่ยวเนื่องกับพระสงฆ์ตั้งแต่แรกเกิดกระทั่งตาย พระสงฆ์แป็นเพื่อนคู่คิดมิตรคู่บ้าน จะตั้งบ้านตั้งเมืองที่ไหนก็ต้องมีพระสงฆ์เป็นที่พึ่งทางใจมาตลอด พระสงฆ์จะเปรียบหระหนึ่งเป็นครูเป็นอาจารย์ แต่ก่อนบ้านเมืองไม่เจริญยังเป็นบ้านป่าบ้านดงอยู่ แพทย์ หมออนามัยเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยก็วิ่งเข้าหาพระ โรงเรียนก็อยู่วั ด  พระเป็นทั้งผู้สอนผู้ให้ที่พักที่อาศัย ป่วยทางกายก็เข้าวัด ป่วยทางใจก็เข้าวัด พระสงฆ์ก็หายาให้กิน รดน้ำมนต์ผูกแขนให้เป่าให้ แตกร้าวสามัคคีกันพระก็เป็นผู้ช่วยประสานสามัคคีกัน เมื่อ้านเมืองเดือดร้อนพระสงฆ์ก็ก็ช่วยขับไล่ภูตผีปีศาจ ทำให้หมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุขทุกยุคทุกสมัยมาจนถึงปัจจุบันดังที่หลวงปู่ได้นำพาชาวบ้านแดงตั้งบ้านสร้างบ้านแดงมา
อีกเรื่อง พ่อจารย์คำตัน บุญพา เคยได้บวชร่วมกับหลวงปู่พิบูลย์ ได้เล่าให้ฟังว่าสมัยหลวงปู่พิบูลย์อยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์ ฝายห้วยยางมันขาด ชำรุดอุดอย่างไรก็ไม่อยู่ จึงได้ปรึกษากับหลวงปู่ๆจึงแนะนำว่าให้เริ่มทำตั้งแต่ตอสะแบงถึงก่อไผ่โจด (กอไผ่ชนิดหนึ่ง) อยู่ ทั้งที่หลวงปู่ไม่ได้เห็น แต่สามรถบอกได้ว่าให้กั้นเสริมจาก จุดนั้นให้ถึงจุดนั้นได้พอชาวบ้านได้ทำตามคำแนะนำของหลวงปู่แล้ว ฝายกั้นน้ำห้วยยางก็ใช้กักเก็บน้ำได้ และไม่มีการชำรุดอีกเป็นที่สาธารณะประโยชน์ของหมู่บ้านแดงมาจนถึงทุกวันนี้ สิ่งใดชาวบ้านสงสัยก็ได้ไปปรึกษากับท่าน หลวงปู่จะให้คำแนะนำและบอกแนวทางในการปฏิบัติทุกอย่าง ถ้าเงินขาดเขินพ่อจารย์คำตันกับพรรคพวกก็ได้ไปรับเงินจากหลวงปู่มาสร้าง และพัฒนาหมู่บ้านตลอดการพัฒนาของหลวงปู่ทั้งวัดทั้งบ้าน ถนนหนทางห้วยหนองคลองบึง การจัดสรรที่ดิน สถานที่จัดตั้งหน่วยงานราชการในอนาคต เช่น ที่ตั้งอำเภอ โรงเรียนมัธยม โรงเรียนประถม การไฟฟ้า อนามัย ตลาด โรงพยาบาล การประปา  เหล่านี้เป็นต้น หลวงปู่ได้จัดสรรไว้ให้เป็นที่เป็นทางตั้งแต่ประมาณ ๗๐-๘๐ ปีมาแล้ว ทุกอย่างเข้าที่เข้าทางชาวบ้านก็มีอยู่มีกิน ไม่มีภูตผีปีศาจเข้ามารบกวน แม้แต่บ่อน้ำทุกบ่อที่หลวงปู่ขุดไว้ หลวงปู่ก็เอาหินเสกหว่านลงไปไม่ให้ภูตผีปีศาจเข้ามาอยู่ได้ ทำลายวิชาอาคมพวกเดรัจฉานให้หมดไปหายไป
 หลวงปู่อยู่วัดโพธิสมภรณ์เป็นเวลา ๑๕ ปี ในวันขึ้นื๑ ค่ำ เดือน ๓ ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ เวลา ๐๖.๐๐ น. หลวงปู่ก็เริ่มมีอาการป่วยเป็นโรคท้องร่วง เมื่อเสร็จกิจออกจากห้องน้ำแต่ก็ออกมาไม่ได้เนื่องจากแข้งขาไม่มีเรี่ยวแรง  หลวงปู่หนูซึ่งขณะนั้นเป็นโยมอุฐากหลวงปู่อยู่เป็นผู้เข้าไปพยุงหลวงปู่มาที่ห้องพัก เป็นอยู่อย่างนั้นหลายเที่ยวจนกระทั่งเวลา ๑๐.๐๐ น. หลวงปู่ก็ยังไม่ได้ฉันอาหารเช้าจนถึงเวลา ๑๑.๐๐ น.ถึงได้ฉันอาหารแต่ก็ฉันได้แค่สองสามคำเท่านั้น หลวงปู่หนูก็ได้ช่วยประคับประครองหลวงปู่อยู่อย่างนั้น บางวันก็ฉ้นข้าวได้บ้างไม่ได้บ้างจนกระทั่งอาการของหลวงปู่ทรุดลงไปเรื่อยๆ  พอถึงวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๓ ตอนค่ำของวันนั้น หลวงปู่จึงได้บอกให้หลวงปู่หนูนำหลวงปู่เข้าไปในกุฏินุ่งสบงทรงจีวรรัดอกให้ดีแล้วนำหลวงปู่เข้าไปนอนในท่าสีหไสยาสน์ เอาผ้าห่มผืนหนึ่งห่มให้ หลวงปู่หนูจึงถามว่า หลวงปู่อยากกลับบ้านแดงไหม หลวงปู่จึงตอบว่า ต้องกลับให้ได้ แม้จะเหลือแต่หัวก็จะกลิ้งกลับบ้าน สุดท้ายก็สั่งให้หลวงปู่หนูปิดประตูให้แน่น อย่าใครเข้ามาจนกว่าจะมีสัญญาณบอก แล้วทุกคนก็ออกไปหมดรวมทั้งหลวงปู่หนูด้วย วันนั้นหลวงปู่โชติก็อยู่ข้างนอกพร้อมกับแม่ชีปุยดัวย เพื่อจะกันไม่ให้คนเข้าไปเพราะมีคนเป็นจำนวนมากคอยอยู่ข้างนอก จนกระทั่งถึงเวลา ๖ ทุ่ม ก็มีสัญญาณดังขึ้นบนหลังคากุฏิ คือ สังกะสีดังโครมและมีแสงสว่างพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าดุจพลุดอกไม้ไฟ หลวงปู่หนูก็เข้าใจว่าหลวงปู่ได้สิ้นลมหายใจแล้ว จึงได้เปิดประตูเข้าไปจับดูตัวหลวงปู่ก็เย็นไปหมดทั้งตัวแล้ว พอรู้ว่าหลวงปู่มรณภาพแล้วก็เลยออกมาจากห้องพูดอะไรไม่ออก และได้มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเมื่อรู้ว่าหลวงปู่มรณภาพก็กรูเข้าไปรื้อค้นสิ่งของที่สำคัญของท่าน ชาวบ้านที่อยู่บริเวณนั้นก็ว่าไม่ได้เงินในบัญชีของท่านที่แม่ชีปุยเก็บไว้จำนวน ๓,๐๕๘ บาท ก็เหลือแต่ตัวเลขจำนวนเงิน  พอช่วงเช้าก็จ้างช่างที่เป็นคนญวนมาทำหีบศพให้หลวงปู่ในราคา ๒๐๐ บาท ทำพิธีศพอยู่ที่นั่น ๕ คืน แล้วจึงนำศพของหลวงปู่บรรจุในเบ้า (ที่เก็บศพ) หลังจากนั้นชาวบ้านก็เลิกลากลับบ้าน หลังจากนั้นมาอีก ๔ ปี  ชาวบ้านแดงพร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้านก็ได้ปรึกษาหารือชักชวนกัน มีความประสงค์ที่จะนำศพของหลวงปู่กลับบ้านแดง การไปติดต่อปรสานงานกับทางวัดโพธิสมภรณ์มีปัญหายุ่งยากมากจนแทบจะไม่ได้ศพกลับมาแต่ชาวบ้านก็ไม่ท้อถอย จนในที่สุดก็สามารถนำศพของหลวงปู่กลับมาสู่บ้านแดง โดยได้นำคณะเกวียนร้อยเล่มนำขบวนศพของหลวงปู่ออกจากเมืองอุดรฯ เมื่อนิมนต์ศพหลวงปู่ขึ้นเกวียนแล้วจะเอาวัวไปเทียมเกวียนเอาวัวคู่ไหนเข้าไปก็ไม่สามารถเข้าเทียมเกวียนได้ จำเป็นต้องปลดแอกทิ้งหมด จึงได้จัดสรรวัวอยู่หลายคู่ และในที่สุดวัวก็ได้ของนายทราย สร้อยสนู บุตรชายของนายคำมี สร้อยสนู ซึ่งนายคำมีเคยบวชเป็นพระอยู่ร่วมกับหลวงปู่พอเอาวัวคู่ของนายทรายก็ไม่มีปัญหาอันใด ขบวนเกวียนจึงเริ่มเดินทางออกจากเมืองอุดรฯโดยไปทางทิศเหนือของอุดรฯทางบ้านบ่อน้ำ เลี้ยวมาทางทิศตะวันออกทางบ้านเหล่า บ้านหนองบุ บ้านสามพร้าว  บ้านหว้าน บ้านไท บ้านดอนกลอย และเลี้ยวมาทางบ้านแดงจนมาถึงทางทางกฐินของหลวงปู่ คณะชาวบ้านแดงจำนวนมากพากันออกไปต้อนรับอยู่หนองโพธิ์คำ ในตอนนั้นผู้คนจากบ้านใกล้เรือนเคียงเยอะมากมืดฟ้ามัวดินกันไปหมดเพื่อจะไปจัดตั้งขบวนแห่ศพของหลวงปู่เข้าบ้านแดง ในวันขึ้น ๑๐ ค่ำเดือน ๒ ปี (บ้างก็ว่า พ.ศ. ๒๔๙๒ บ้าง พ.ศ. ๒๔๙๓ บ้าง) เมื่อมาถึงบ้านแดงแล้วได้นำศพของหลวงปู่พิบูลย์มาประกอบพิธีอยู่สนามพิบูลย์รังสรรค์ ตามที่พ่อเถิง ศรีเดช ซึ่งในขณะนั้นเป็นไวยากรณ์อยู่ ได้บอกว่าครบวัน (สมโภช) อยู่ทั้งหมด ๗ วัน ๗ คืน เสร็จแล้วจึงได้นำศพหลวงปู่เข้ามาไว้ในวัดพระแท่น ญาติโยมก็มีมาบำเพ็ญกุศลตามยุคสมัย
                                    กล่าวถึงพ่อครูคำพันธ์ เข็มพรหยิบ ตอนนั้นบวชเป็นเจ้าอาวาสอยู่ได้ปรึกษาหารือกับชาวบ้านจัดสร้างเจดีย์ไว้บรรจุอัฐิของหลวงปู่ จึงได้ตกลงกันสร้างเจดีย์ขนาดใหญ่เป็นเวลาหลายปีกว่าจะเสร็จ เมื่อถึง พ.ศ. ๒๕๐๔ จึงได้ทำพิธีถวายเพลิงศพหลวงปู่การจัดงานศพในครั้งนั้น ฝ่ายสงฆ์มีพระครูอาทรศิริรัตน์ หลวงปู่โชติ ธมฺมธโร เจ้าอธิการคำพันธ์ คนฺธโร พระครูวิลาศวิหารกิจ บ้านนาทราย หลวงพ่อชม พระครูอมรธัมโมภาส ใยมฆราวาสผู้เป็นสายธรรมของท่านคือ พ่อจารย์กุ้ม พร้อมด้วยข้าราชการ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ชาวบ้านทุกคนทำบุญบำเพ็ญอุทิศกุศลให้ท่านอยู่ ๒ คืน แล้วนำศพออกไปสู่เมรชั่วคราวที่สนามพิบูลย์รังสรรค์ ในพิธีปล่อยไฟด้วยตะไลม้าเข้าสู่เมรุ วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู พ.ศ. ๒๕๐๔ บำเพ็ญกุศลต่อจนถึงเวลา ๑๙.๓๐ น. จึงได้ทำพร้อมเหรียญรุ่นแรกจำนวน ๔,๐๐๐ เหรียญ เป็ญเหรียญทองแดง ๒,๐๐๐ เหรียญ เป็นเหรียญทองเหลือง ๒,๐๐๐ เหรียญ
                                    ประวัติเหล่านี้ได้คัดลอกออกมาจากหนังสืออักษรธรรมจากใบลาน หลวงปู่หนูเป็นผู้เขียนไว้หลังจากที่หลวงปู่พิบูลย์ได้มรณภาพแล้ว ข้าพเจ้าผู้เขียนได้สอบถามข้อมูลจากผู้เฒ่าผู้แก่และผู้ที่เคยได้อยู่ร่วมกับท่านมาเพิ่มเติมเนื้อหาพยัญชนะข้อความทุกประโยคเป็นความจริงไม่ได้เพิ่มเติมเสริมเนื้อหา ข้าพเจ้าพระครูมัญจาภิรักษ์ขอนอบน้อมกราบคารวะแต่หลวงปู่พิบูลย์ผู้เป็นครูอาจารย์ ถ้าผิดพลาดประการใดข้าพเจ้าขอขมาลาโทษแก่ท่าน ขอให้ผู้อ่านจงพิจารณาใคร่ด้วยปัญญาของตน เทอญฯ
คัดลอกมาจาก หนังสืออนุสรณ์ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพพระครูวิบูลคุณาทร  (หลวงปู่โชติ  ธมฺมธโร)  
เมื่อวันที่  13 -18 มีนาคม  พ.ศ.2546  ซึ่งจัดทำขึ้นโดยพระครูมัญจาภิรักษ์  เจ้าคณะอำเภอพิบูลย์รักษ์  จังหวัดอุดรธานี