วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2558



“เรื่องการถวายเครื่องไทยทานแด่พระพุทธเจ้า"

อ้างอิงจาก นิตยสาร ธรรมกาย ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑ กรกฎาคม สิงหาคม กันยายน ๒๕๒๙

""""""""""""""""""""""""""""""""

“เรื่องการถวายเครื่องไทยทานแด่พระพุทธเจ้า”

โดย

หลวงพ่อพระมหาเสริมชัย ชยมงฺคโล (มงคลบุตร) (สมณศักดิ์ปัจจุบันที่ พระเทพญาณมงคล )
ผู้อำนวยการสถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี
ชำระโดย พระภาวนาโกศลเถร (วีระ คณุตฺตโม) (สมณศักดิ์ปัจจุบันที่ พระราชพรหมเถร )
รองเจ้าอาวาสและพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร

๒) คุณอนันต์ เจริญมี สมาชิกชมรมผู้ปฏิบัติธรรม “ลานโพธิ์” วัดบึงบวรสถิตย์ จังหวัดชลบุรี
ได้ตั้งคำถามขึ้นมาระหว่างการอบรมพระกัมมัฎฐานแด่พระสงฆ์รุ่นที่ ๑๐ ณ สถาบันพุทธภาวนาวิชชาธรรมกาย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ว่า

“การไปทำบุญที่วัดแห่งหนึ่ง เขาจะกลั่นเครื่องไทยทาน ดอกไม้ ธูป เทียน อาหารหวานคาว ของสาธุชนทุกท่าน ขึ้นไปถวายพระพุทธเจ้าบนนิพพาน แล้วสาธุชนก็จะได้บุญใหญ่มหาศาล กล่าวคือ เราทำบุญตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย โดยไม่เคยเว้นแม้เพียงวันเดียว ก็ยังไม่ได้บุญใหญ่เท่านั้นเลย จริงหรือไม่ครับ และวัดปากน้ำฯ กับ วัดสระเกศฯ เคยทำไหมครับ กรุณาชี้แจงให้สว่างด้วยครับ”

ตอบ เรื่องนี้อาตมาขอแยกตอบเป็น ๓ ประเด็นดังต่อไปนี้คือ

๑)ประเด็นที่ว่า กลั่นเครื่องไทยทานแล้วนำไปถวายพระพุทธเจ้าในนิพพานนั้น จะถึงหรือไม่

๒)แล้วสาธุชนผู้มาร่วมในการถวายเครื่องไทยทานนั้นจะได้บุญมหาศาล กล่าวคือแม้จะเคยได้ทำบุญตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายไม่มีเว้นเลยสักวันเดียว ก็ยังไม่ได้บุญใหญ่เท่านั้นจริงหรือไม่

๓)ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ และที่วัดสระเกศ ฯ เคยทำอย่างนี้บ้างหรือไม่

ประเด็นที่ ๑

อาตมาขอเจริญพรว่า เครื่องไทยทานนั้นไม่ถึงพระพุทธเจ้าในอายตนนิพพานที่แท้จริงแต่ประการใด แม้จะมีผู้ติดตามดูและเห็นตามได้ก็ตาม ทั้งนี้เพราะ

ธรรมชาติทุกอย่างในอายตนนิพพานนั้น เป็นแต่ธาตุล้วน ธรรมล้วน ที่พระท่านเรียกว่า “อสังขตธาตุ อสังขตธรรม” ซึ่งไม่ประกอบด้วยปัจจัย (เช่น ธาตุน้ำ ดิน ไฟ ลม) ปรุงแต่ง อย่างเช่นธรรมชาติที่เรียกว่า “สังขาร” ในภพสามนี้แต่ประการใดเลย เพราะฉะนั้นธรรมชาติใดๆที่เป็นสังขาร กล่าวคือ ที่มีปัจจัยปรุงแต่ง จึงย่อมเข้าไม่ถึงอายตนนิพพานอย่างแน่นอน

ธรรมชาติในอายตนนิพพานที่ว่าเป็นอสังขตธาตุ อสังขตธรรม อันไม่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ แม้ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ก็ไม่มีในอายตนนิพพานนั้น มีหลักฐานในพระไตรปิฎก ในนิพพานสูตรที่สามว่า

“ อตฺถิ ภิกฺขเว ตทายตนํ , ยตฺถ เนว ปฐวี น อาโป เตโช น วาโย , น อากาสานญฺจายตนํ น วิญฺญานญฺจายตนํ น อากิญฺจญฺญายตนํ น เนวสญฺญานาสญฺญายตนํ...”

ซึ่งแปลความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย อายตนนั้น (อายตนนิพพาน) มีอยู่ , ที่ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่มีแล , อากาสนัญจาตนก็ไม่ใช่ วิญญานัญจายตนก็ไม่ใช่ อากิญจัญญายตน ก็ไม่ใช่ เนวสัญญานาสัญญายตนก็ไม่ใช่...” และ “ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติที่ไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้แล้วมีอยู่....”

แต่เครื่องไทยทาน (อันได้แก่ดอกไม้ ธูป เทียน อาหารหวานคาว) ซึ่งถ้าผู้ทรงวิชชานั้นยังเป็นแค่โคตรภูบุคคล มิใช่พระอริยบุคคล วิชชานั้นก็เป็นแต่เพียงโลกียวิชชา แม้จะกลั่น (เครื่องไทยทานนั้น) ให้เห็นใสละเอียดยิ่งกว่าของหยาบที่มีผู้นำมาถวาย ก็เป็นได้เพียงแค่ของทิพย์ ซึ่งยังจัดเป็น “ธรรมชาติของสังขาร” ที่เป็นส่วนประกอบของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม อยู่

เพราะฉะนั้น เครื่องไทยทานนั้น แม้จะกลั่นให้ดูเป็นของทิพย์ดูเห็นใสละเอียดก็ตามย่อมจะไม่ถึงอายตนนิพพานที่แท้จริงได้เลย

แม้กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม ของผู้กลั่นและผู้นำเครื่องไทยทานไปถวายพระพุทธเจ้านั้น ก็ถึงอายตนนิพพานที่แท้จริงไม่ได้ เพราะยังเป็นสังขารที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่งอยู่อีกเช่นกัน

แต่มูลเหตุที่ทั้งผู้ทำวิชชาเช่นนั้น และผู้ติดตามดู สามารถเห็นสมจริงได้ว่า เห็นท่านผู้นั้นๆนำเครื่องไทยทานที่กลั่นใสละเอียดแล้วไปถวายพระพุทธเจ้าในอายตนนิพพาน ก็เพราะเหตุผล ๒ ประการคือ

๑)จิตของผู้ทรงโลกียวิชชา “ปรุงแต่ง” ขึ้นเป็นมโนมยิทธิ คืออิทธิฤทธิ์ทางใจที่นึกจะ “ให้เห็น” อะไร หรือ “ให้มี” อะไร ที่ไหน ก็จะเห็น หรือ “มี” สิ่งนั้นด้วยใจที่ทรงกำลังโลกียวิชชานั้นอยู่ได้
ท่านที่ปฏิบัติได้ถึงธรรมกายแล้วลองคิดให้เห็น “ด้วยใจ” เป็นอะไร ณ ที่ใด ก็จะสามารถเห็นได้ นี้เป็นข้อพิสูจน์เบื้องต้น

โลกียวิชชานี้แหละที่เขายังจัดเป็น “อภิสังขารมาร” กล่าวคือเป็นคุณธรรมให้มีความสามารถเหนือผู้อื่นในหมู่ชาวโลกด้วยกัน แต่ยังต้องตกอยู่ในอาณัติแห่งพระไตรลักษณ์ คือ ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาอยู่ มีคุณค่าเหมือนโลกียทรัพย์ที่มีคุณอนันต์ หากรู้จักธรรมชาติของมันและรู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์อันปราศจากโทษ แต่มีโทษมหันต์ถ้าไปหลงติดด้วยตัณหา และ ทิฏฐิ คือความหลงผิดเข้า

โดยเหตุนี้ ผู้มีปัญญาเขาถึงอาศัยอภิสังขารมารนั้นแหละเป็นฐานของการบำเพ็ญบารมีเจริญภาวนา ทำนิโรธดับสมุทัย ไปให้ใสละเอียดเป็นประจำ เพื่อแยกพระแยกมาร กล่าวคือใช้ประโยชน์ของโลกียวิชชานี้แหละเป็นพื้นฐานในการทำวิชชาไปสู่โลกุตตรวิชชา เพื่อความเข้าถึงและเป็นธาตุล้วน ธรรมล้วนของพระพุทธเจ้าต้นธาตุต้นธรรมที่บริสุทธิ์ที่สุด

หลวงพ่อพระภาวนาโกศลเถร (วีระ คณุตฺตโม) (สมณศักดิ์ปัจจุบันที่ พระราชพรหมเถร ) ท่านจึงได้กล่าวกับศิษยานุศิษย์ของท่านเสมอๆ ว่า “เพียงแต่ปฏิบัติได้ธรรมกายในระดับโคตรภูบุคคลนั้น ยังไม่อาจวางใจได้ว่าจะเอาตัวรอดได้” และ

๒) อายตนภายใน (กล่าวคือเครื่องรู้เห็นและสัมผัส) ของกายในกาย ณ ภายใน จากสุดหยาบของกายมนุษย์ ไปจนสุดละเอียดของกายธรรมของท่านผู้กลั่นเครื่องไทยทานไปถวายพระพุทธเจ้าและของผู้ติดตามดูนั้น มีศูนย์กลางตรงกันหมดทุกกาย แม้กายในกาย ณ ภายในในระดับโลกีย (กายมนุษย์ มนุษย์ละเอียด , ทิพย์ ทิพย์ละเอียด , รูปพรหม รูปพรหมละเอียด และ อรูปพรหม อรูปพรหมละเอียด) จะเข้าไม่ถึงอายตนนิพพานที่แท้จริงได้

แต่ก็อาศัยที่ว่าอายตนภายในของกายเหล่านี้ไปตรงกับของ “ธรรมกาย” ที่สุดละเอียดซึ่งสามารถเข้าไปถึงอายตนนิพพานและไปรู้เห็นและสัมผัสอายตนนิพพานได้ โดยการให้ใจของธรรมกายเจริญภาวนาดับหยาบไปหาละเอียดจนสุดละเอียดเสมอกับอายตนนิพพานและอวิชชาทำอะไรไม่ได้ชั่วคราวเรียกว่า “ตทังคนิโรธ” หรือ “วิกขัมภณนิโรธ” กล่าวคือหลุดพ้นด้วยการข่มกิเลส (ชั่วคราว)

ภาพที่เห็นด้วยอายตนภายในของธรรมกายที่สุดละเอียด ซึ่งเข้าถึงและเห็นความเป็นไปในอายตนนิพพานนั้น จึงเป็นภาพเชิงซ้อนกับเครื่องไทยทานและอาการที่นำไปถวาย ที่เป็นทิพย์ จึงให้เห็นสมจริงว่ากลั่นเครื่องไทยทานนำไปถวายพระพุทธเจ้าในอายตนนิพพานได้

อาตมาขอยืนยัน โดยหลักฐานในทางปริยัติ และหลักปฏิบัติว่า สิ่งที่เป็นสังขารไม่อาจจะเข้าถึงหรือไปสัมผัสถึงอายตนนิพพานซึ่งเป็นธาตุล้วน ธรรมล้วนที่สุดละเอียดนั้นได้เลย เพียงแต่ว่าความรู้เห็นและสัมผัสของธรรมกายที่สุดละเอียดนั้น มีศูนย์กลางตรงกันกับทุกกายในภพสามอันให้สามารถเชื่อมต่อหรือสื่อถึงกันได้โดยอัตโนมัติเท่านั้น

ผู้ปฏิบัติภาวนาที่ยังไม่บรรลุมรรคผลนิพพาน ซึ่งต้องพึงสังวรณ์ระวังไว้ ให้เข้าใจทั้งหลักปริยัติและหลักปฏิบัติให้ถ่องแท้แน่นอน มิฉะนั้นจะถูกอภิสังขารมารหลอกเอาให้เข้าใจไขว้เขวผิดไปได้ จงระลึกไว้เสมอว่า วิชชาในระดับโลกียะของผู้ที่ยังไม่บรรลุมรรคผลและนิพพาน ยังจัดเป็นอภิสังขารมารซึ่งเป็นความปรุงแต่งให้มีดีเหนือผู้อื่นในระดับโลกมีสภาวะที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ผู้ใดหลงยึดมั่น ถือมั่นด้วยตัณหาและทิฏฐิแล้วเป็นทุกข์

ประเด็นที่ ๒

อานิสงส์ของผู้ไปร่วมถวายเครื่องไทยทานแด่พระพุทธเจ้าเช่นนั้นมีคล้ายๆกับการถวายข้างพระพุทธหรือบูชาพระพุทธเจ้าด้วยดอกไม้ ธูปเทียน ธรรมดาในฐานะของผู้ที่ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าโดยทั่วไป แต่มิใช่ว่าจะได้บุญใหญ่มหาศาลยิ่งกว่าการที่เราทำบุญตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายโดยไม่เว้นแม้เพียงวันเดียวแต่ประการใด เพราะ

๑)จากประเด็นแรก เครื่องไทยทานที่กลั่นเป็นของทิพย์ (โดยผู้ทรงโลกียวิชชา) ซึ่งจัดเป็นสังขารธรรมนั้น ไม่ถึงพระนิพพาน คือธรรมกายที่บรรลุอรหัตผลแล้วของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ขีณาสพ ซึ่งเข้าอนุปาทิเสสนิพพานและไปปรากฏอยู่ในอาตนนิพพานแล้วนั้นอย่างแน่นอน

๒) การทำบุญ (ทานกุศล) กับพระพุทธเจ้า พระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ ฯลฯ กายเนื้อ เป็นมหากุศลหรือบุญกุศลตามส่วน ก็เพราะท่านได้บริโภคขบฉันใช้สอยหรือทำประโยชน์จากเครื่องไทยทานนั้นเพื่อยังชีวิต (กายเนื้อ) ของท่านให้เป็นไปหรือดำเนินไปได้

ส่วนพระนิพพานนั้น มิได้ปรารถนาที่จะริโภคขบฉันใช้สอยหรือทำประโยชน์จากเครื่องไทยทานทิพย์เช่นนั้น เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตของพระองค์ท่านแต่ประการใดเลย เครื่องไทยทานทิพย์เช่นนั้น จึงมีค่าไม่แตกต่างอะไรจากเครื่องไทยทานธรรมดาซึ่งมีผู้นำไปบูชาพระพุทธรูปโดยทั่วไป แล้วจะไปเอาหรือได้บุญมหาศาลจากไหน ? และหากหลงผิดคิดว่าได้บุญมหาศาลเช่นนั้นก็จะยังกลับได้ “โมหะ” บาปอกุศลติดตนเป็นของแถมอีกด้วย

จึงขอเจริญพรเพื่อทราบว่า สิ่งที่หล่อเลี้ยงธรรมกายจากสุดหยาบไปจนถึงพระนิพพานที่สุดละเอียดในอายตนนิพพานถอดกายและอายตนนิพพานเป็นนั้น มิใช่เครื่องไทยทานอันเป็นอามิสทาน ของหยาบซึ่งจัดเป็นสังขารธรรม (สังขตธาตุ สังขตธรรม) แต่ประการใด หากแต่เป็น “บุญ” ซึ่งได้กลั่นตัวจนแก่กล้าแล้วเป็นบารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมี รัศมี กำลังฤทธิ์อำนาจ (ในการปกครองธาตุธรรม) สิทธิ สิทธิเฉียบขาด ฯลฯ ซึ่งเป็นอสังขตธาตุ อสังขตธรรม คือธาตุล้วน ธรรมล้วน ไปจนถึงธาตุธรรมที่สุดละเอียดของอายตนนิพพานเป็นนั้นแล

ผู้ทำนิโรธดับสมุทัยและเจริญภาวนาวิชชาธรรมกายชั้นสูงอยู่เสมอ เขาทราบเรื่องนี้ดีว่าการทำนิโรธให้แจ้ง และการทำมรรคให้เจริญเท่านั้นจึงเป็นธรรมปฏิบัติที่จะสามารถกำจัดอวิชชาอันเป็นเหตุเป็นปัจจัยของ “สังขาร” – วิญญาณ – นามรูป – ตัณหา – อุปาทาน – และภพ – ชาติ – ชรา – มรณะ – ทุกข์ ให้ถึงพระนิพพาน (อสังขตธาตุ อสังขตธรรม) ที่แท้จริงได้

๓)มีปรากฏหลักฐานเอกสารในที่มากแห่งในพระไตรปิฎกว่า บุคคลผู้ทำบุญด้วยใจศรัทธากับพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ขีณาสพผู้มีอาสวกิเลสสิ้นแล้ว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ท่านเพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ นั้น ได้รับผลบุญในปัจจุบันทันตาเห็นมากมาย ..

นี่ว่าแต่เฉพาะที่ทำบุญกับพระพุทธเจ้าองค์เดียวกับพระอรหันต์ขีณาสพจำนวนหนึ่งเท่านั้น ... แล้วถ้าทำบุญกับพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ขีณาสพเจ้าเป็นจำนวนนับไม่ถ้วนซึ่งประทับเข้านิโรธสมาบัติมาโดยตลอดเช่นนั้นได้ถึงจริง ละก็ ป่านนี้ผู้ที่ไปร่วมพิธีถวายเครื่องไทยทานทั้งหลายจะมิได้รับผลบุญในปัจจุบันและกลายเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐีทันตาเห็นกันไปหมดหรือแทบจะหมดทุกคนยิ่งกว่าตัวอย่างของบุคคลผู้ทำบุญ (ทานมัย) กับพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ขีณาสพเจ้าในสมัยพุทธเจ้า ละหรือ ?

ท่านลองถามตัวเองดูซิว่า ตั้งแต่มีการทำบุญเช่นนั้นเป็นต้นมา มีใครร่ำรวยเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี ขึ้นมาทันตาเห็นบ้าง ? (แม้ผู้ทำบุญไม่ปรารถนาผลบุญเช่นนั้นตอบแทน บุญก็ทำหน้าที่ของเขาเป็นทั้งโลกียสมบัติและโลกุตตรสมบัติเองอยู่ดีแหละ)

ประเด็นที่ ๓

วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสถานที่ต้นธาตุ ต้นธรรมของวิชชาธรรมกาย เขาจึงไม่ได้ทำเช่นนั้น ที่วัดสระเกศฯ ซึ่งผู้ให้การอบรมพระกัมมัฏฐานผู้เป็นศิษย์ผู้ได้รับการถ่ายทอดวิชชาธรรมกายก็มิได้ทำเช่นนั้น

เพราะพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ซึ่งเป็นต้นวิชชาธรรมกายก็มิได้เคยสั่งสอนหรือแนะนำให้ศิษยานุศิษย์คนใดให้ทำเช่นนั้น และท่านก็ไม่เคยรับรองหรืออนุมัติวิชชาถวายเครื่องไทยทาน โดยการถือว่ากลั่นเป็นของทิพย์นำขึ้นถวายพระพุทธเจ้าในอายตนนิพพานแล้ว มีผลเป็นกุศลมหาศาลยิ่งใหญ่กว่าการทำบุญตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายโดยไม่เว้นแม้เพียงวันเดียว แต่ประการใดเลย

แต่ถ้าใครอยากทำ ก็ไม่มีใครเขาห้ามและก็เป็นความดีส่วนหนึ่ง เพียงแต่ความจริงมีอยู่ว่า

๑)ไม่ถึงพระพุทธเจ้าในอายตนนิพพานที่แท้จริง

๒)ไม่ใช่จะได้บุญใหญ่มหาศาลเช่นนั้น และ

๓)ถ้าทำไปเพราะหลงเข้าใจผิดจะได้ “โมหะ” เป็นบาปอกุศลแถมติดตัวติดใจไปด้วยตามส่วน

๔)ใจ “หยุด” ใจ “นิ่ง” ที่ตรงศูนย์กลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมของกายทุกกายสุดหยาบสุดละเอียด ซึ่งตรงกับศูนย์กลางของพระนิพพานและอายตนนิพพานนั่นแหละ ที่เป็นบุญใหญ่กุศลใหญ่จริงๆ

๕)การทำมรรคให้เจริญ และทำนิโรธให้แจ้งอยู่เสมอ (เท่าที่จะทำได้) นั้นแหละ ที่ดับ “สมุทัย” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อวิชชา ซึ่งเป็นเหตุแห่ง “สังขาร” – วิญญาณ – นามรูป – สฬายตนผัสสะ – เวทนา - ตัณหา – อุปาทาน –ภพ – ชาติ – ชรา – มรณะ – ทุกข์ ได้จริงและจะสามารถเข้าถึงธาตุล้วน ธรรมล้วน (อสังขตธาตุ อสังขตธรรม) ของพระพุทธเจ้าต้นธาตุ ต้นธรรม ที่บริสุทธิ์ที่สุดได้ และให้สามารถรู้ว่าอะไรคือของปลอม ของจริง ตามที่เป็นจริงได้แล

เจริญพร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น