วันเสาร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2560

ทานของพระโพธิสัตว์

ทานของพระโพธิสัตว์ ++

พระโพธิสัตว์ได้ให้ทานพร้อมด้วยวัตถุบริวาร คือให้ทานวัตถุ 10 อย่าง มีข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้  ที่นอน ที่พัก
อาศรัย และ เครื่องประทีป เช่นเดียวกัน แต่ของพระโพธิสัตว์ 

1.เมื่อจะถวายข้าว ได้แก่ ข้าวยาคู ท่านไม่ได้ถวายเพียงข้าวยาคูแต่เพียงอย่างเดียว ท่านจะปูอาสนะ ผูกเพดาน กระทำสักการะด้วยของหอม โรยด้วยข้าวตอกดอกไม้ไว้ ณ บริเวณนั้นด้วย   แล้วจึงนิมนต์พระภิกษุให้นั่งเพื่อถวาย เมื่อภิกษุเสร็จการดื่มข้าวยาคู ได้ถวายโภชนะอันประณีต มีของฉันของเคี้ยวหลายอย่าง

2. เมื่อจะถวายน้ำดื่ม ก็ถวายน้ำปานะ 8 อย่าง มี  น้ำมะม่วง น้ำหว้า น้ำกล้วยมีเมล็ด น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด น้ำผลมะซาง น้ำผลจันทร์หรือองุ่น น้ำเหง้าบัว และน้ำมะปรางหรือลิ้นจี่ 

3.เมื่อจะถวายผ้า ไม่ได้ถวายจีวรอย่างเดียว ได้ถวายผ้าห่ม ผ้าเช็ดต่าง ๆ ได้ถวายเข็มบ้าง ด้ายบ้าง ได้ถวายอาสนะ สีย้อมจีวรบ้าง แล้วถวายข้าว น้ำ ให้เป็นบริวารของผ้า 

4.เมื่อจะถวายยาน คือรองเท้า เป็นต้น ก็ได้ถวายถุงใส่รองเท้า ชั้นวางรองเท้า แล้วถวายข้าว น้ำ ผ้า ให้เป็นบริวารของรองเท้า 

5.เมื่อจะถวายดอกไม้   ก็ไม่ได้ถวายดอกไม้ล้วน ๆ ได้เคล้าดอกไม้นั้นด้วยของหอม แล้วถวายข้าว น้ำ ผ้า ยาน ให้เป็นบริวารของดอกไม้ 

6.เมื่อจะถวายของหอม เพื่อให้ท่านบูชาต้นโพธิ์ เจดีย์ อาสนะ และคำภีร์ ก็ถวายเครื่องบด เครื่องฝน และเครื่องภาชนะสำหรับใช้สำหรับใส่ของหอมเหล่านั้น แล้วถวาย ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ให้เป็นบริวารของหอม 

7.เมื่อจากถวายเครื่องลูบไล้  มีหรดาล และมโนศิลา เป็นต้น เพื่อประโยชน์แก่การก่อสร้างวิหาร หรือพระสถูปเจดีย์ ก็ถวายข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม ให้เป็นบริวารของเครื่องลูบไล้เหล่านั้น 

หมายเหตุ
7.1 หรดาล เป็นก้อนสีเหลือง ใช้ฝนทำเป็นแท่งยาว สำหรับเขียนหนังสือ หรือทำเป็นฝุ่น
สีเหลืองสำหรับฉาบทา

7.2 มโนศิลา คือศิลาอ่อนที่ย่อยละเอียด ใช้ผสมกับหรดาล จักเป็นดินเหนียว ใส่น้ำมันงาเป็นน้ำเชื้อ ปั้นเป็นก้อนอิฐ เพื่อก่อสร้างวิหาร พระสถูป พระเจดีย์ 

8.เมื่อจะถวายที่นอน คือเตียงและตั่ง ก็ได้ถวายกระดานและไม้รอง พร้อมด้วยผ้ากัมพล เครื่องลาดและขาเตียง แล้วถวายข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ให้เป็นบริวารของเตียงสั่งนั้น 

9.เมื่อจะถวายที่พักอาศัย ก็ไม่ได้ให้เพียงเรือน ได้ตกแต่งเตียงตั่ง ประดับด้วยมาลา และช่อดอกไม้ แล้วถวายข้าว น้ำ ผ้า ยานดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ที่นอนให้เป็นบริวารของที่พักอาศัยนั้น 

10.เมื่อจะถวายประทีป ก็ถวายไส้ตะเกียง ภาชนะใส่น้ำมัน และน้ำมันประทีป 
ด้วยคำว่า ท่านทั้งหลาย ขอจงยังประทีป ให้สว่างด้วยน้ำมันนี้ ณ เนินเจดีย์ เนินโพธิ์ โรงฟังธรรม เรือนอาศัย หรือที่อ่านพระคัมภีร์ แล้วถวาย ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พักอาศัย ให้เป็นบริวารของประทีป 

ทานของพระโพธิสัตว์จึงเป็นทานที่ประณีต ชื่อว่าทานของสัตบุรุษ 

ทานของพระโพธิสัตว์นี้แสดงไว้ใน 
ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม 3 ภาค 2  
ฉบับ มมร.

วันศุกร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2560

ศูนย์กลางกายของมนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลาย


#ศูนย์กลางกายของมนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลาย
มีอะไรที่ศูนย์กลางกาย ตรงระดับสะดือของสัตว์โลกทั้งหลาย คือ มนุษย์ เทวดา พรหม อรูปพรหม นั้น เป็นที่ตั้งของ
ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย ซึ่งประกอบด้วย ธาตุละเอียดทั้ง 6ใจ (ธาตุละเอียดของนามขันธ์ 4 คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ)ธรรมชาติ 3 ฝ่าย คือ
๑.ฝ่ายบุญกุศล (กุสลาธัมมา)
๒.ฝ่ายบาปอกุศล (อกุสลาธัมมา) และ
๓.ฝ่ายกลางๆ (อัพยากตาธัมมา)ภพซ้อนภพ และยังเป็นที่ไปเกิดมาเกิดของสัตว์ ฯลฯ
ธรรมชาติเหล่านี้ เป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่เองตามธรรมดา เมื่อจิตตั้งมั่น เป็นสมาธิ ย่อมสามารถรู้เห็นสิ่งเหล่านี้ได้ ดังพุทธดำรัสที่ว่า “เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้เห็นตามเป็นจริง - สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ”
#ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย
สัตว์โลก ไม่ว่าจะเป็น มนุษย์ ทิพย์ (เทวดา) พรหม อรูปพรหม นั้น มีดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอยู่ มีลักษณะขาวใสบริสุทธิ์ ตามระดับความบริสุทธิ์ของจิตใจ
ขนาดของดวงธรรม
เนื่องจากดวงธรรมของสัตว์โลกในระดับโลกิยะ ยังถูกอวิชชาห่อหุ้มอยู่ ดวงธรรมจึงยังไม่ขยายโตเต็มส่วน เต็มที่ ซึ่งตรงกันข้ามกับธรรมกาย ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายของธรรมกายนั้นขยายโตเต็มส่วน ปรากฏเห็นอยู่โดยรอบองค์ธรรมกาย เหมือนองค์ธรรมกายประทับนั่งอยู่ในดวงแก้วดวงใหญ่
ธาตุละเอียดทั้ง 6
ธาตุละเอียดทั้ง 6 นั้นก็ตั้งอยู่ในดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย
ธาตุละเอียดทั้ง 6 ได้แก่ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ และ วิญญาณธาตุ
ธาตุน้ำอยู่ด้านหน้า ธาตุดินอยู่ด้านขวา ธาตุไฟอยู่ด้านหลัง ธาตุลมอยู่ด้านซ้าย อากาศธาตุอยู่ตรงกลาง วิญญาณธาตุอยู่ตรงศูนย์กลางอากาศอีกทีหนึ่งที่ศูนย์กลางของวิญญาณธาตุนั้น ก็ยังมีธาตุละเอียดของนามขันธ์ 4 และธาตุเห็น ธาตุจำ ธาตุคิด และ ธาตุรู้ ก็ซ้อนอยู่ตรงกลางของกลางซึ่งกันและกันเป็นชั้นๆ กันเข้าไปข้างในอีกและขยายส่วนหยาบออกมาเป็น ดวงเห็น ดวงจำ ดวงคิดและ ดวงรู้ อันเป็นธรรมชาติรวม (4 อย่าง) ของ “ใจ”
ธรรมชาติ 4 อย่างคือ เห็น จำ คิด รู้ นี้แหละที่ขยายส่วนหยาบมาจากธาตุละเอียดของนามขันธ์ 4 คือ เวทนา(ความรู้สึกสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์) สัญญา (ความจำ) สังขาร (ความคิดปรุงแต่ง) และ วิญญาณ (ความรู้อารมณ์)
ก็หมายความว่า กายในกาย ณ ภายในละเอียดเข้าไปจนสุดกายหยาบกายละเอียดนั้น ต่างก็เป็นกายที่มีชีวิตจิตใจ อีกด้วยนั่นเอง
ธรรมชาติ 3 ฝ่าย
ธาตุทั้ง 6 นั้น ยังเป็นที่ตั้งของ “ธรรม” คือ ธรรมชาติ 3 ฝ่าย ได้แก่
ธรรมชาติฝ่ายบุญกุศล (กุสลาธัมมา) หรือ ฝ่ายดี ฝ่ายพระ หรือธรรมขาว ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ผ่องใส ดลจิตใจของสัตว์โลกให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทางกาย วาจาและใจ และให้ผลที่เป็นความเจริญรุ่งเรืองและสันติสุขธรรมชาติ
ฝ่ายบาปอกุศล (อกุสลาธัมมา) หรือฝ่ายชั่ว ฝ่ายมาร หรือธรรมดำ ซึ่งเป็นธรรมชาติที่มัวหมอง ดลจิตใจของสัตว์โลกให้ประพฤติผิด รู้ผิด คิดผิด เห็นผิด ด้วยกาย วาจา และใจ และให้ผลเป็นความทุกข์เดือดร้อนธรรมชาติ
ฝ่ายกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว (อัพยากตาธัมมา)
ธรรมชาติทั้ง 3 ฝ่ายนี้ต่างคอยเอิบ อาบ ซึม ซาบ ปน เป็น ฯลฯ อยู่ในธาตุธรรม เห็น จำ คิด รู้ ของสัตว์ ให้ปฏิบัติตามอำนาจของแต่ละฝ่ายนั้น และปรุงแต่งสัตว์นั้นให้ดี เลว ประณีต หยาบ ละเอียด เป็นสุข เป็นทุกข์ ต่างๆ กันไปตามกรรม ตามธรรมชาติแต่ละฝ่ายดังกล่าว ที่ทำหน้าที่เป็นเหตุนำ เหตุหนุน อยู่ในธาตุธรรมเห็นจำคิดรู้ของสัตว์นั้นๆ
ภพซ้อนภพกายในกาย และธรรมในธรรม ณ ภายใน ที่มีศูนย์กลางกายตรงกัน ซ้อนอยู่เป็นชั้นๆ เข้าไปจนสุดละเอียดนั้น จัดเป็น ภพเป็น ซึ่งย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ตามสายปฏิจจสมุปบาทธรรม เป็นปัจจุบันธรรมส่วนมนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก อันเป็นที่อยู่ ที่รองรับของ มนุษย์ สัตว์ดิรัจฉาน สัตว์นรก เทวดา พรหม ที่ประกอบด้วยพื้นดิน หิน บ้าง เป็นสถานที่มีวิมานอันเป็นทิพย์บ้าง เป็นต้นนั้น เป็นภพหยาบ เรียกว่า ภพตาย
พระเทพญาณมงคลเสริมชัย ชยมงฺคโล
เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม

หลังฉากโดย พระราชพรหมเถร (วีระ คณุตฺตโม)

หลังฉาก
โดย
พระราชพรหมเถร (วีระ คณุตฺตโม)
อดีตรองเจ้าอาวาส และ พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ
วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
*****************************************
บางครั้งเราจะพิจารณาตัวของเราเอง
เมื่อจิตเป็น “กุศล” ... เราจะให้ทาน ศีล ภาวนา
ศีล สมาธิ ปัญญา
อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา
ปฐมมรรค มรรคจิต มรรคปัญญา
โคตรภู โสดา สกิทาคา อนาคา อรหัต
บางครั้งจิตเป็น “อกุศล” ... จะมีราคะ โทสะ โมหะ
โลภะ โทสะ โมหะ
กามราคานุสัย อวิชานุสัย ปฏิคานุสัย
บางครั้งจัดเป็นกลาง คือ ยืน เดิน นั่ง นอน
พูดคุย ขับถ่าย เป็นต้น
ทำอย่างไรเราจะได้ “รู้เห็น” เรื่องเหล่านี้
เราจึงจำเป็นต้องฝึกสมาธิ
ถ้าไม่ฝึกสมาธิ ... เราก็จะไม่รู้เรื่องละเอียด ๆ เหล่านี้ได้
ถ้าท่านไม่ปฏิบัติ “วิชชาธรรมกาย”
ท่านจะไม่รู้เห็นเรื่อง “หลังฉาก” นี้
เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านจงพร้อมใจกันฝึก “วิชชาธรรมกาย”
ท่านจึงจะได้รู้เรื่อง “หลังฉาก” เหล่านี้ได้
ขอให้ท่าน ... เริ่มต้นฝึกตั้งแต่บัดนี้
ท่านจึงจะได้ ... รู้แจ้งเรื่องเหล่านี้ได้
และจะได้เป็นพลเมืองดีของประเทศสืบต่อไป
สันติสุข ... จึงจะเกิดขึ้นแก่โลก
* ที่มา
นิตยสารธรรมกาย ฉบับที่ ๗
มกราคม – มีนาคม ๒๕๓๑

วันพุธที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2560

วิชชาธรรมกายเป็นวิชชาที่มีความมหัศจรรย์อันไม่มีประมาณ




วิชชาธรรมกายเป็นวิชชาที่มีความมหัศจรรย์อันไม่มีประมาณ แชร์มาจากคุณ ธัญยวิสิษฐ์ วัชราธรบรมประสิทธิ
ทำให้คนที่ไม่ได้มาศึกษา มักจะกล่าวหาว่า หลวงพ่อสด อวดอุตริมนุสธรรม แต่หลวงพ่อสด ท่านก็ไม่หวั่นไหว และยิ่งไปกว่านั้น.. ท่านยังทำการสอน และเผยแผ่วิชชาธรรมกายจนกลายเป็นที่ยอมรับ และมีคนหันมานับถือศรัทธาท่านเป็นจำนวนมหาศาล
แต่ก็มีคนกลุ่มหนึ่ง ที่รู้สึกไม่พอใจหลวงพ่อสด ถึงขนาดพูดเหยียดหยามถึงขั้นรุนแรงว่า “ใครอยากเป็นอสุรกาย จงไปเรียนธรรมกาย ที่วัดปากน้ำ” ซึ่งข่าวนี้ก็ได้ทราบถึงหลวงพ่อสด จึงทำให้ท่านได้พูดว่า
“คนเช่นเราไม่ใช่ไร้ปัญญา ชั่วก็รู้ ดีก็เห็น เราจะฆ่าตัวเราเองเพราะความปรารถนาทำไม ที่เขาพูดหาว่าเราอย่างนั้น บางคนคงจะไม่รู้จักคำว่า “ธรรมกาย” มีอยู่ที่ไหน หมายเอาใคร เขาอาศัยความไม่รู้มาว่าเราผู้ตั้งใจปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เมื่อผู้ไม่รู้มาติเตียนเรา ความไม่รู้ของเขาจะลบล้างสัจธรรมของพระพุทธศาสนาได้อย่างไร ถ้าจะกลบก็กลบได้เพียงชั่วคราว ไม่ช้าดวงแก้วของพระพุทธศาสนาก็จะเปล่งรัศมีให้ผู้มีปัญญาเห็นด้วยสายตาของตนเอง...”
ด้วยความที่มีคนไม่เข้าใจหลวงพ่อสดหลายเรื่อง จึงทำให้เกิดเหตุการณ์อันไม่คาดคิดขึ้น คือ เกิดอาชญากรรมขึ้นในวัด ซึ่งวันนั้นพระกมล ศิษย์ที่ถูกใจของหลวงพ่อสดในด้านเทศนา ใช้ปฏิภาณ และด้านปฏิบัติชั้นดี เทศนาหัวข้อธรรมเกี่ยวกับพระกรรมฐาน ซึ่งหลวงพ่อก็ฟังอยู่ด้วย และเมื่อเทศน์เสร็จแล้ว ในช่วงเวลาประมาณ 20.00 น. เป็นช่วงเวลาที่ต่างคนก็ต่างแยกย้ายเตรียมกลับที่พักของตน
แต่ทันใดนั้นเอง.!!! มีผู้ร้ายเข้ามาลอบสังหารหลวงพ่อวัดปากน้ำที่หน้าศาลาการเปรียญ ขณะที่หลวงพ่อกำลังออกมาจากศาลาเพื่อกลับกุฏิ โดยผู้ร้ายได้ใช้ปืนยิงหลวงพ่อ ทำให้กระสุนถูกจีวรท่านทะลุ 2 รู และผู้ร้ายก็เอาปืนยิงนายพร้อม ซึ่งเป็นอุปัฏฐากผู้ติดตาม ทำให้กระสุนถูกปากนายพร้อมทะลุแก้ม เป็นแผลสาหัส แต่ไม่ถึงแก่กรรม
ครั้นภายหลังก็จับผู้ยิงได้ชื่อนายรอด แต่หลวงพ่อท่านก็เมตตาไม่ถือโทษโกรธ ไม่เอาเรื่องเอาความอะไรเลย แต่เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีด้านกฎหมายไม่ยอม จึงกราบเรียนหลวงพ่อว่า ต้องเป็นไปตามกฎหมาย เพราะหากไม่ทำตามกฎหมาย อีกหน่อยกฎหมาย จะไม่ศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นนายรอดที่ลอบยิงหลวงพ่อก็ติดคุกอยู่นาน จนกระทั่งถึงกำหนดวันที่นายรอดจะต้องออกจากคุก ซึ่งหลวงพ่อท่านได้เห็นในที่ และทักขึ้นว่า "วันนี้นายรอดออกจากคุก แต่จะไม่รอด" ซึ่งก็จริง ๆ คือ เมื่อนายรอดออกจากคุกมาแล้ว ก็โดนคู่อริยิงตายทันที
นับจากนั้น... ชื่อเสียงของหลวงพ่อก็โด่งดังขึ้นไปอีก จนมีศิษยานุศิษย์หันมาให้ความเคารพนับถือท่านอย่างล้นหลาม แต่คนไม่ชอบท่านก็ยังมีอยู่ จึงทำให้มีคนลอบวางยาพิษหลวงพ่อโดยแอบใส่ในภัตตาหารของท่าน แต่หลวงพ่อท่านก็เห็นในญาณท่านจึงรู้ล่วงหน้าก่อนทุกครั้ง และถ้าสำรับอาหารไหนมียาพิษ หลวงพ่อท่านจะเอาช้อนเงินจุ่มลงไปเพื่อพิสูจน์ให้ดู แล้วช้อนเงินก็จะเปลี่ยนเป็นสีดำทันที สิ่งที่น่าทึ่งมากก็คือ ผู้ที่แอบลอบวางยาพิษเพื่อทำร้าย หลวงพ่อไม่เคยทำสำเร็จเลยแม้แต่ครั้งเดียว อีกทั้งยังไม่มีใครทำอะไรท่านได้เลย ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้หลวงพ่อมีชื่อเสียงขจรขจายเลื่องลือขึ้นไปอีก คือ ดังอย่างไม่ต้องโหมโรง ทำให้ท่านมีลูกศิษย์ลูกหาเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ จนมีแต่คนบอกว่า หลวงพ่อวัดปากน้ำศักดิ์สิทธิ์จริง แต่หลวงพ่อกลับบอกว่า “ธรรมกายต่างหากล่ะ..ที่ศักดิ์สิทธิ์”
ในช่วงหลวงพ่อทำวิชชาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่าอยู่ ๆ ก็มีลูกระเบิดตกลงกลางวงฉัน ทำให้ทุกคนตระหนกตกใจกันมาก แต่หลวงพ่อท่านก็นิ่ง ๆ แล้วบอกว่า
“ไหนให้ลองเอาระเบิดลูกนี้ไปพิสูจน์ดูสิว่า มันด้านรึเปล่า..?” ซึ่งปรากฏว่ามัน ไม่ด้าน..!! จึงเป็นเหตุทำให้เกิดความฮือฮาและแปลกใจกันอย่างสุดฤทธิ์สุดเดชว่า แล้วทำไมมันถึงไม่ระเบิด!!!
“ก็บุญและอานุภาพวิชชาธรรมกายล่ะซิ..” จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ และ หลังจากนั้นวิชชาธรรมกายก็ได้เผยแผ่อย่างกว้างไกลขึ้นไปอีก จนมีผู้หันมาสนใจนั่งสมาธิปฏิบัติธรรมกันมาก และเข้าถึงพระธรรมกาย จนเกิดพยานทางศาสนาขึ้นอย่างมากมาย และกลายเป็นที่ยอมรับมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่บัดนั้น...
ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า หากวิชชาธรรมกายของหลวงพ่อเป็นของเทียม คือมิใช่ของแท้หรือไม่ประกอบด้วยเหตุและผล หรือไม่เกิดประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติแล้ว ถึงแม้จะโด่งดังได้..ก็จะโด่งดังเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น แล้วก็จะดับไปในที่สุด แต่ตรงกันข้ามวิชชานี้กลับสืบทอดกันมาเป็นมรดกอย่างช้านาน อีกทั้งยังรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ ทำให้มีผู้สนใจและปฏิบัติธรรมตามอย่างท่านมายาวนานกว่า 100 ปีแล้ว (เริ่มนับตั้งแต่ พ.ศ. 2460 ซึ่งเป็นปีที่หลวงพ่อบรรลุธรรม ค้นพบวิชชาธรรมกาย)

วันจันทร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2560

หลวงพ่อพยุง สุนฺทโร ศึกษาวิชาธรรมกายกับหลวงพ่อสด จนฺทสโร


หลวงพ่อพยุง สุนฺทโร
ศึกษาวิชาธรรมกายกับหลวงพ่อสด จนฺทสโร
เมื่อไปถึงวัดปากน้ำภาษีเจริญก็เข้ากราบเรียนความประสงค์ที่จะมาศึกษาธรรมปฏิบัติให้หลวงพ่อสดทราบหลวงพ่อสดก็ต้อนรับปฏิสันถารด้วยดี หลวงพ่อสดท่านถามถึงการปฏิบัติที่ผ่านมาว่าปฏิบัติมาอย่างไร ท่านจึงกราบเรียนการปฏิบัติที่ดำเนินมาตั้งแต่ได้สมาธิใต้ต้นมะซางเมื่อสมัยเด็กให้หลวงพ่อสดทราบและขอคำแนะนำเพิ่มเติมเพื่อจะได้ปฏิบัติต่อไป หลวงพ่อสดท่านกล่าวว่า บุคคลใดมีบุญบารมีมาแต่ภพชาติก็สอนได้ไม่ยากเย็นนัก พอค่ำหลวงพ่อสดก็ขึ้นแท่นแนะนำวิธีการฝึกวิชาธรรมกายโดยการเพ่งจิตให้เป็นดวงแก้วที่ศูนย์กลางกายโดยใช้คำภาวนาว่า สัมมาอรหัง เมื่อดวงแก้วปรากฏอย่างแจ้งชัดก็เพ่งจิตให้ทะลุกายโดยใช้ดวงแก้วเป็นอุคคหนิมิต คือจำให้ติดตาหรือเพ่งดูจนติดตาติดใจแม้หลับตาหรือลืมตาก็เห็นได้จะทำให้เล็กหรือขยายให้ใหญ่ก็ย่อมได้จากนั้นจึงพลิกจิตพิจารณากายคตาสติ คือการพิจารณากายในกายเป็นอารมณ์โดยการแยกกายออกเป็นส่วนๆคือให้เห็นว่า
เป็นเพียงธาตุ๔แต่ละอย่างไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา แบ่งออกเป็นสี่อย่างคือ
๑.ปฐวีธาตุ คือธาตุที่มีลักษณะแข็งภายในตัวก็มีภายนอกตัวก็มีสำหรับกำหนดพอให้สำเร็จประโยชน์เป็นอารมณ์ได้แก่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูกม้าม หัวใจ ตับ ปอดหรือสิ่งอื่นใดที่อยู่ในตัวที่มีลักษณะแข้นแข็งก็เอากองไว้ส่วนหนึ่ง
๒.อาโปธาตุ คือธาตุที่มีลักษณะเอิบอาบทั้งภายในภายนอกเป็นของเหลวคือ เลือด เหงื่อ เสลด น้ำตา น้ำลาย น้ำมูก มันข้น ดี เปลวมัน ไขข้อ น้ำมูตร หรือสิ่งอื่นใดที่มีลักษณะเอิบอาบอย่างนี้ก็แยกไว้กองหนึ่ง
๓.เตโชธาตุ คือธาตุที่มีลักษณะร้อน ทั้งภายในภายนอกได้แก่ ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟที่ยังกายให้กระวนกระวาย ไฟที่ยังอาหารให้ย่อย นี่ก็ต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่
๔.วาโยธาตุ คือธาตุที่มีลักษณะพัดผันเคร่งตึงทั้งภายในภายนอกได้แก่ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ ลมซ่านไปตามตัว ลมหายใจ และช่องว่างระหว่างกายพึงกำหนดจิตพิจารณาอย่างแยบคายลอกหนังออกแยกกองไว้ส่วนหนึ่ง แยกเนื้อกองไว้ส่วนหนึ่ง เลือดกองไว้ส่วนหนึ่ง เอ็นที่รึงรัดกายส่วนต่างๆก็กองไว้ส่วนหนึ่ง กระดูกก็กองไว้ส่วนหนึ่ง
เมื่อพิจารณาสติที่เป็นไปในกายก็เห็นตามสภาพที่มีส่วนประกอบซึ่งล้วนเป็นของไม่สะอาด ไม่งาม น่ารังเกียจ ทำให้จิตเกิดความรู้เท่าทันไม่หลงมัวเมาในกายอันประกอบไปด้วยธาตุทั้ง๔ จากนั้นหลวงพ่อสดก็ให้พิจารณาขันธ์คือรูปธรรมและนามธรรมทั้งหมดแบ่งออกเป็น๕กองดังต่อไปคือ รูปขันธ์กองรูปคือส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมดทั้งร่างกายก็ดี พฤติกรรมก็ดี และคุณสมบัติต่างๆของส่วนที่เป็นร่างกาย

เวทนาขันธ์กองเวทนา คือ ส่วนที่เสวยอารมณ์และความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือเฉยๆเรียกว่ากองเวทนา สัญญาขันธ์ ความกำหนดได้หมายรู้ในอารมณ์๖เช่นนั้นสิ่งนั้นสิ่งนี้นั้นขาว เขียว ดำ แดงเป็นกองสัญญา สังขารขันธ์คือสภาวะที่ปรุงแต่งจิตให้ดีบ้างชั่วบ้าง ไม่ดีไม่ชั่วบ้างหรือคุณสมบัติต่างๆของจิตที่มีเจตนาเป็นตัวนำเรียกว่ากองสังขาร วิญญาณขันธ์กองวิญญาณ หมายถึงความรู้อารมณ์ทางอายตนะ๖ คือรู้รูปด้วยตา รู้เสียงด้วยหู รู้กลิ่นด้วยจมูก รู้รสด้วยลิ้น รู้โผฏฐัพพะด้วยกาย รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ รวมแล้วเรียกว่าเบญจขันธ์
ขันธ์ ๕ นี้เมื่อย่อลงมาเป็น ๒ ประการ คือ นามและรูป รูปขันธ์จัดเป็นรูป ๔ขันธ์ที่เหลือนอกนั้นเป็นนามธรรม เมื่อหลวงพ่อสดแนะนำแล้วก็นำหลักคำสอนนั้นมาพิจารณาต่อที่กุฏิอยู่เป็นประจำเพื่อดำเนินรอยตาม
ท่านเล่าว่าในระหว่างที่อยู่กับหลวงพ่อสดที่วัดปากน้ำนั้นช่วงเวลากลางคืนท่านจะทำความเพียรจนถึงห้าทุ่มแล้วตื่นจากจำวัตรตี ๓ หากเป็นวันอุโบสถท่านจะถือเนสัชชิกไม่นอนตลอดคืนยังรุ่งทั้งไม่เคยปล่อยจิตให้อยู่นอกกายเลยไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดจิตก็จะวนอยู่กับการพิจารณากายกับดวงแก้วเป็นอารมณ์ เพราะพื้นฐานที่ท่านปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องและความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวตามวิสัยวาสนาขององค์ท่านที่ทำอะไรก็จะทำอย่างจริงจังจึงทำให้การฝึกวิชาธรรมกายกับหลวงพ่อสดก้าวหน้าอย่างมาก
เพราะจิตขององค์ท่านเกิดความรู้ความเห็นสิ่งต่างๆภายในอย่างมากมายอาจเป็นเพราะมีครูอาจารย์ผู้ฉลาดอย่างหลวงพ่อสดแนะนำจึงทำให้องค์ท่านได้พบกับความรู้พิเศษขึ้นมาอย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อน ณ.วัดปากน้ำภาษีเจริญนั้นเองความรู้พิเศษที่เกิดขึ้นภายในจิตคือ ในวันมาฆบูชาหลังจากฟังธรรมเทศนาของหลวงพ่อสดแล้ว ท่านก็กลับกุฏิแล้วเข้าที่ภาวนาเมื่อกำหนดจิตจนเกิดดวงแก้วสว่างใสแล้วจึงพิจารณาธาตุขันธ์ขณะนั้นสมาธิเกิดความตั้งมั่น จิตรวมลงสู่ภวังค์ถึงเอกัคคตามีอารมณ์เดียว จิตสงบละเอียดอ่อนประณีตเข้าไปโดยลำดับ
ขณะจิตนั้นได้เกิดความรู้ย้อนหลังระลึกถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงสมัยยังเด็กล่วงไปถึงชาติในอดีตได้ว่าเป็นมาอย่างไร ท่านว่าจิตเรานั้นมีอยู่ดวงเดียวจะเกิดกี่ภพกี่ชาติก็จิตดวงเดิมนี่แหละจะเปลี่ยนก็แต่เพียงรูปกายเท่านั้นดังนั้นจิตจึงบันทึกข้อมูลทุกอย่างที่ได้กระทำไว้ทั้งดีและชั่วแต่คนเราไม่รู้เองเพราะ อวิชชามันปิดบังเอาไว้ ต่อเมื่อบุคคลใดขจัดเมฆหมอกคืออวิชชาออกไปเท่าไรยิ่งมากก็ยิ่งรู้เห็นตนเองมากขึ้นจากนั้นจิตก็พิจารณาถึงการเกิดการตายของตนเองและผู้อื่นได้อย่างไม่สงสัยจึงได้เข้าใจในพุทธสุภาษิตข้อที่ว่า
"กมฺมุนา วตตีโลโก คือสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม"
เมื่อพิจารณาถึงกรรมที่ทำให้เวียนว่ายอยู่ในภพชาติของท่าน จิตได้เกิดจึงเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในเรือนคือสังขารที่อาศัยอยู่ จนจิตสงบนิ่งอยู่ในอุเบกขาญาณขณะนั้นธรรมได้ปรากฏขึ้นมาภายในจิตว่า ปุญญัง สุขัง โหนตุ ผู้ใดไกลจากกิเลส ผู้ใดตื่นจากกิเลส ผู้นั้นก็วิเศษประเสริฐสุขสิ้นทุกข์ภัย อายุขัยก็เหลือล้นพ้นประมาณ สมนาม ว่า อรหัง สัมมา สัมพุทโธ เมื่อธรรมปรากฏขึ้นมาอย่างนั้นจิตท่านได้พิจารณาตามว่าในทันทีว่าอะไร คือ ผู้ไกลจากกิเลส
เมื่อไกลจากกิเลสแล้วจะวิเศษประเสริฐสุขอย่างไร เป็นเหตุให้ท่านระลึกถึงประวัติขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่ประสูติจนถึงตรัสรู้และกระทั่งเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานและประวัติของเหล่าสาวกที่บรรลุอรหันต์จนถึงพระนิพพานจึงหมดความสงสัยส่วนที่ว่าอายุขัยก็เหลือล้นพ้นประมาณนั้นหมายความว่าเมื่อจิตถึงพุทธะเป็นจิตที่บริสุทธิ์อันชักนำให้ถึงพระนิพพานได้เมื่อจิตถึงนิพพานแล้วก็พ้นจากการเกิดการตายเป็นอมตะธรรมที่ถึงพุทธะอย่างสมบูรณ์จากนั้นท่านจึงพิจารณาจิตและบุญวาสนาของท่านก็ทราบว่าบารมีที่บำเพ็ญมายังไม่เต็มบริบูรณ์จึงยังไม่สามารถตัดอาสวะให้ขาดได้ในขณะนั้น แต่ท่านก็เห็นความสำเร็จอยู่แค่เอื้อมท่านว่าคืนนั้นท่านนั่งตลอดคืนยังรุ่งไม่อ่อนเพลียหรือหาวนอนเลยครั้นออกจากสมาธิภาวนาจิตก็ยังอิ่มเอิบด้วยปีติที่เกิดจากธรรมรส
จากคำกล่าวของท่านที่แสดงแก่สานุศิษย์ทำให้ทราบได้ว่าท่านน่าจะได้ญาณ ๓ อย่างแน่นอน เพราะญาณ ๓ นั้นหมายถึง ความรู้แจ้งหรือความรู้วิเศษมี ๓ ประการ คือ
๑.อตีตังสญาณ คือ ญาณเป็นเหตุระลึกขันธ์ที่อาศัยอยู่ก่อนได้หรือระลึกชาติในอดีตได้
๒.อนาคตังสญาณ คือ ญาณส่วนอนาคตหมายถึงการหยั่งรู้เรื่องราวในอนาคตสามารถเห็นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
๓.ปัจจุปันนังสญาณ คือ ญาณในส่วนปัจจุบันหมายถึงความหยั่งรู้เรื่องราวในปัจจุบันหรือเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นเฉพาะหน้าสามารถล่วงรู้ได้ว่าควรทำอย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์เหมาะสม และรู้แตกฉานในเหตุและผล มีไหวพริบในการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
แม้องค์ท่านจะไม่ได้บอกโดยตรงว่าได้ขั้นนั้นขั้นนี้เพราะอัธยาศัยของท่านไม่ใช่คนมักอวด อะไรที่ท่านเมตตาเล่าให้ฟังนี้ก็เล่าเป็นการภายในเฉพาะศิษย์ที่ใกล้ชิดเท่านั้นอาจเป็นเพราะองค์ท่านจะส่งเสริมให้เหล่าศิษย์มีกำลังใจในการปฏิบัติธรรมให้ยิ่งขึ้นไปเท่านั้นแต่อรรถธรรมที่ท่านแสดงให้ฟังนั้นก็พอจะสรุปได้ว่า การปฏิบัติของท่านที่วัดปากน้ำนั้น นอกจากจะได้ธรรมกายแล้วยังได้ญาณ ๓ ด้วยเมื่อท่านเกิดความรู้ภายในเช่นนั้น เป็นเหตุให้ท่านระลึกถึงอุปการคุณของหลวงพ่อสดเป็นอย่างยิ่ง ท่านยังเล่าให้ฟังอีกว่าหลวงพ่อสดนั้นท่านมีความรู้ภายในมากสุดคณานับ ท่านมีบารมีที่บำเพ็ญมามากท่านมีเมตตามากใครใฝ่รู้ใฝ่เรียนท่านส่งเสริมทุกอย่างทั้งด้านปริยัติและด้านปฏิบัติและท่านยังมีญาณที่แก่กล้ามากหยั่งรู้ทุกอย่างพระเณรในวัดปากน้ำเป็นร้อยและบรรดาแม่ชีอุบาสิกาอีกท่านเลี้ยงได้ไม่ให้อดอยาก
สมัยนั้นคุณแม่ชีบุญเรือนก็ได้ฝึกปฏิบัติอยู่ที่วัดปากน้ำเช่นกันท่านเล่าว่าแม่ชีบุญเรือนเป็นแม่ชีที่เก่งปฏิบัติภาวนาได้รู้เห็นสิ่งต่างๆทางจิตได้อย่างมากมาย
น่าจะได้อภิญญาด้วย หลวงพ่อสดท่านไม่ใช่พระดุหรือโผงผางแต่ทั้งพระทั้งเณรที่ได้อยู่อบรมกับท่านก็มักเกรงกลัวท่านทั้งนั้นสิ่งใดที่ท่านปารถนาสิ่งนั้นต้องได้แต่สิ่งที่หลวงพ่อท่านปารถนานั้นก็เพื่อสงเคราะห์พระเณรในวัดทั้งสิ้น นี่ตัวอย่างผู้ที่มีบารมีเป็นอย่างนี้ เมื่อมีความชำนาญพอรักษาจิตและสมาธิตนได้แล้วท่านกลับระลึกถึงคุณของบิดามารดาของท่านที่ได้เลี้ยงดูอุ้มชูท่านมาแต่เยาว์วัยเมื่อท่านได้พบดวงแก้วดวงธรรมแล้วท่านก็ปารถนาที่จะให้บิดามารดาท่านได้สัมผัสบ้างจักได้เป็นการตอบแทนพระคุณของท่านได้เป็นอย่างดี เมื่อระลึกได้ดังนั้นท่านจึงขออนุญาตกราบลาหลวงพ่อสดเพื่อกลับไปเยี่ยมบิดาและมารดาที่อยู่สุพรรณบุรีซึ่งหลวงพ่อสดก็อนุญาตแต่เมื่อจะลากลับหลวงพ่อสดได้ให้โอวาทว่า
"เออท่านพยุงนี่มีความตั้งใจดี ถ้าไม่ละความพยายามต่อไปจะ สมปรารถนา หลวงพ่อก็อยู่ที่ใจนี่แหละตราบใดที่รักษาความดีไว้ได้หลวงพ่อก็อยู่กับผู้นั้น ให้รักษาความดีดุจเกลือรักษา ความเค็มนะจะได้ไม่เสียทีที่เกิดมา"
ท่านรับว่า สาธุภันเต แล้วจึงเดินทางกลับสุพรรณบุรีเมื่อสิ้นเดือน ๔ ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ รวมระยะเวลาที่ท่านอยู่กับหลวงพ่อสดเป็นเวลา ๔ เดือน
เรียบเรียงโดย พระอาจารย์วิชัย จริยวรรณณ
ธุดงคสถานธรรมวิชัยต.บ้านเก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี

วันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2560

ทำบุญไปทำไมกัน ???

#ทำบุญไปทำไมกัน ???
ผลจากการประกอบคุณงามความดีหรือกุศลนั้น คือบุญ บุญทั้งหลายเมื่อสะสมรวมกันมากๆเข้า #ก็จะกลั่นตัวเองเป็นบารมี ได้แก่..
ทานบารมี
ศีลบารมี
เนกขัมมบารมี
ปัญญาบารมี
วิริยบารมี
ขันติบารมี
สัจจบารมี
อธิษฐานบารมี
เมตตาบารมี
และอุเบกขาบารมี
รวมสิบทัศ
บารมีแต่ละอย่างนี้ เมื่อถูกสะสมกันมากๆเข้า #ก็จะกลั่นตัวเองเป็นอุปบารมี #และปรมัตถบารมี ตามลำดับ รวมเป็นสามสิบทัศ และจะติดตามให้ผลต่อไปในอนาคตหรือภพหน้า จนกว่าจะบรรลุมรรคผล นิพพาน
#วัตถุประสงค์ของการประกอบการบุญกุศล ก็เพื่อชำระกาย-วาจา-ใจ ของตนให้บริสุทธิ์ โดยการละหรือกำจัดอาสวกิเลสให้สิ้นไป จนถึงหมดโดยสิ้นเชิงนั่นเอง
#ผลที่ได้จากการประกอบบุญกุศลนี้ นอกจากจะให้ผลในทางโลกุตระดังกล่าวแล้ว ยังช่วยให้ผู้ประกอบกรรมดีนั้นได้เสวยผลบุญในทางโลกียะ อันจะเป็นเสบียงเลี้ยงตัวต่อไปจนกว่าจะสิ้นอาสวกิเลส ได้บรรลุมรรคผล นิพพาน อีกด้วย
#ผู้มีปัญญาจึงย่อมรู้จักใช้บุญ อันเกิดแต่การประกอบกรรมดีทั้งหลาย เพื่อการละหรือกำจัดอาสวกิเลส ทั้งของตนเองและผู้อื่น จึงจะตรงเป้าหมายแห่งพระพุทธศาสนา เป็นต้นว่า..
#การบริจาคทาน ก็เพื่อให้ผู้บริจาคละหรือกำจัดอภิชฌา อันเป็นกิเลสหยาบให้หมดไป ให้เป็นผู้มีจิตใจเมตตาอารี เผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน เป็นการชำระกาย-วาจา-ใจ ให้สะอาดได้ทางหนึ่ง และในขณะเดียวกัน ผลบุญจากการบริจาคทาน ก็จะกลับติดตามสนองตนต่อไปในกาลข้างหน้า ให้เป็นผู้เจริญด้วยโภคทรัพย์ มีฐานะเป็นปึกแผ่นมั่นคง
#ท่านคงจะเคยได้พบเห็นมาแล้วว่า เพราะจน จึงไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำบุญเพิ่ม บางรายถึงกับต้องประกอบมิจฉาชีพ หรืออาชีพที่ต้องเบียดเบียนชีวิตสัตว์ เพราะความยากจนข้นแค้น ไม่อาจรักษาศีลให้บริสุทธิ์ได้ จิตใจย่อมหม่นหมองเพราะว้าวุ่นอยู่กับการเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง การจะเจริญสมาธิปัญญาก็ไม่อาจกระทำได้โดยสะดวก เมื่อปัญญายิ่งน้อยลง ความรู้สึกในบาปบุญคุณโทษก็ยิ่งเบาบาง หรือหมดไปเลยก็มี เป็นทางให้อาสวกิเลสอันได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ เข้าครอบคลุมจิตใจให้มืดมนหนักยิ่งขึ้นไปอีก ระดับจิตก็ยิ่งตกต่ำลงไปตามลำดับ จนในที่สุดธรรมสัญญาก็ขาดจากใจ เมื่อจุติหรือตายลงก็ย่อมมีทุคติเป็นที่หวัง ทั้งนี้เป็นเพราะได้สร้างสมทานบารมีไว้น้อยแต่อดีต จึงเปิดโอกาสให้สร้างบาปในปัจจุบันได้มากขึ้น อุปมาดั่งคนจนยอมมีโอกาสที่จะมีหนี้สินพอกพูนมากขึ้น เพราะต้องเสียค่าดอกเบี้ยทบต้นฉะนั้น
#ในทางกลับกัน ท่านก็คงจะได้พบเห็นผู้ที่มีอยู่มีกิน ไม่เดือดร้อน มีฐานะดี มีสัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นชอบในทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค มีจิตใจเมตตาอารีเผื่อแผ่ รู้จักแบ่งทรัพย์ที่มีอยู่หรือทำมาหาได้ เพื่อประโยชน์ตนเองและผู้อื่น ได้ชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ มีจิตใจเป็นกุศล เหล่านี้ ย่อมเป็นผลจากการที่ได้สร้างสมทานบารมีอันประกอบด้วยปัญญามามากแต่อดีต จึงทำให้มีโอกาสได้สร้างสมบุญบารมีเพิ่มมากขึ้นอีกในภพนี้และภพหน้า ประดุจดั่งเศรษฐีมีทรัพย์มาก ก็มีโอกาสเก็บดอกผลทุนทรัพย์ได้มากขึ้น ด้วยเงินต่อเงินหรือบุญต่อบุญนั่นเอง ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ก็มีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข เมื่อจุติย่อมมีสุคติเป็นที่หวัง เพราะรู้จักหาบุญได้ใช้บุญเป็นนั่นเอง
#ยังมีบุคคลอีกประเภทหนึ่ง เป็นคนมีทรัพย์มากแต่มีจิตใจตระหนี่คับแคบ ไม่รู้จักใช้ทรัพย์ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยอภิชฌา จึงได้ชื่อว่าอสัตบุรุษ บุคคลประเภทนี้ เคยประกอบทานกุศลอันประกอบด้วยอวิชชาหรือโมหะ ขณะเมื่อกำลังเสวยผลบุญอยู่ก็ยังมีอวิชชาหรือโมหะที่พกติดตัวมาด้วยมาก ทั้งๆที่มีอยู่มีกินไม่เดือดร้อน หรือรุ่งเรืองด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ ก็ยังมีจิตใจเป็นอกุศล กรปรไปด้วยมิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิดเป็นชอบ เป็นทางให้โลภะ โทสะ โมหะ เข้าครอบงำจิตใจ มีสติปัญญาอันเสื่อมทราม จนไม่พอที่จะรู้เรื่องบาปบุญคุณโทษได้ มีแต่ความประมาทขาดหิริโอตตัปปะ แล้วหันเข้าประกอบมิจฉาชีพ สร้างความเดือดร้อนให้แก่เพื่อนมนุษย์และสัตว์อื่น ห่างจากการบริจาคทาน สมาทานศีล เจริญสมาธิและปัญญา ไม่ช้าก็ถึงซึ่งความเสื่อม เพราะมีใจเป็นอกุศล สร้างบาปพอกพูนมากขึ้น ระดับจิตก็ตกจนถึงขั้นธรรมสัญญาขาดจากใจ เมื่อยังมีชีวิตอยู่แม้จะมีทรัพย์ก็หาความร่มเย็นเป็นสุขมิได้ เมื่อจุติย่อมมีทุกคคติเป็นที่ไป ต่อไปในภพหน้าหรือกาลข้างหน้าก็จะกลับกลายเป็นคนต่ำต้อย หรือยากไร้ทรัพย์อีก
ฉะนั้น #การบริจาคทานหรือประกอบการกุศล #จึงควรกระทำด้วยปัญญา กล่าวคือ เพื่อความหลุดพ้นหรือสิ้นอาสวกิเลสของตนเองและผู้อื่น ก่อนบริจาค ขณะบริจาค และภายหลังบริจาค ก็ควรจะได้กระทำกาย-วาจา-ใจ ให้บริสุทธิ์ ด้วยการสมาทานศีล เจริญสมาธิและปัญญา และควรบริจาคกับผู้บริสุทธิ์ หรือกำลังปฏิบัติเพื่อความบริสุทธิ์ ด้วยทรัพย์อันได้มาโดยบริสุทธิ์ จึงจะได้อานิสงส์เต็มส่วน
#การรักษาศีล ก็เพื่อกำจัดกิเลสอย่างกลาง อันจะเป็นเครื่องส่งเสริมสมาธิได้เป็นอย่างดี
#การเจริญภาวนา หรือการปฏิบัติสมถกัมมัฏฐาน ก็เพื่อให้จิตใจสงบระงับจากความกำหนัดยินดี เป็นอุบายชำระจิตใจให้ปลอดจากนิวรณ์ และเป็นวิชาเบื้องต้นที่จะนำไปสู่วิปัสสนากัมมัฏฐาน เพื่อดับอวิชชาและให้เกิดปัญญา สามารถได้บรรลุมรรคผลนิพพานต่อไป จึงนับเป็นมหากุศลทีเดียว
#การประพฤติถ่อมตนกับผู้ใหญ่ ก็เพื่อทำลายถัมภะ คือความหัวดื้อหัวรั้น ไม่ยอมฟังเสียงหรือเหตุผลของผู้อื่น และกำจัดอติมานะ คือนิสัยชอบดูถูกดูแคลนผู้อื่น ให้หมดไปจากสันดาน
#การช่วยขวนขวายในสิ่งที่ชอบ ก็เพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว นับเป็นกุศลกรรมอีกอย่างหนึ่ง
#การให้ส่วนบุญกุศลอันตนได้กระทำไว้แล้ว ทางกาย วาจาและใจ ให้แก่สัตว์ทั้งหลาย ก็เพื่อกำจัดโทสะ ได้แก่ความโกรธอย่างรุนแรง โกธะคือความโกรธอย่างเบาบาง และ อุปนาทะอันได้แก่ความผูกพยาบาท ความผูกโกรธหรือผูกใจเจ็บ ให้หมดไปจากสันดาน และเป็นการเจริญพรหมวิหารไปในตัวอีกด้วย นับเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่รองลงไปจากภาวนามัยทีเดียว
#การอนุโมทนาส่วนบุญ ก็เพื่อชำระจิตใจตนให้สะอาด สามารถช่วยกำจัดอิสสา คือความริษยา ไม่พอใจในเมื่อเห็นคนอื่นได้ดี และ มานะคือความเย่อหยิ่งจองหอง อวดดี ให้สูญหายไปจากสันดาน
#การฟังธรรมอันพระพุทธเจ้าตรัสดีแล้ว (สวากขาตธรรม) ในที่นี้ หมายความรวมถึงการศึกษาหาความรู้เรื่องธรรม จากการฟังธรรมหรือค้นคว้าเรื่องธรรม ซึ่งจะเป็นเครื่องกำจัดโมหะ ความหลงผิด หรือกำจัดมิจฉาทิฐิ อันได้แก่ความเห็นผิด
#การแสดงธรรมอันพระพุทธเจ้าตรัสดีแล้ว ไม่ว่าจะโดยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม และหากได้กระทำไปโดยมีจิตใจอันบริสุทธิ์ สะอาดผ่องใส ไม่มุ่งหวังลาภสักการะสิ่งใดตอบแทน ก็เป็นการกำจัดโมหะหรือมิจฉาทิฐิ ทั้งของตนเองและผู้อื่น จัดว่าเป็นบุญทั้งผู้แสดงและผู้สดับตรับฟังหรือเรียนรู้
#การทำความเห็นของตนให้ตรงตามความเป็นจริง เป็นต้นว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ใครทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หรือใครทำกรรมอันใดไว้ ก็ต้องเสวยผลแห่งกรรมนั้น ฯลฯ ก็เป็นการกำจัดโมหะหรือมิจฉาทิฐิอีกเช่นเดียวกั
ฉะนั้น
การสร้างบุญกุศลใดๆก็ตาม หากผู้กระทำจะได้มีสติปัญญาระลึกได้ว่า กระทำไปเพื่อละหรือกำจัดอาสวกิเลส มุ่งประโยชน์ในทางโลกุตระอันเป็นทางพ้นทุกข์ด้วยแล้ว ผู้สร้างบุญกุศลนั้นย่อมได้อานิสงส์มากกว่าผู้กระทำไปด้วยความมัวเมาปราศจากปัญญา ซึ่งมุ่งจะให้ได้ประโยชน์ในทางโลกียะแต่อย่างเดียว จึงจะได้ชื่อว่ารู้จักหาบุญได้ใช้บุญเป็น.
_________________
เทศนาธรรมจาก
พระเทพญาณมงคล
หลวงตาเสริมชัย ชยมงฺคโล
วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม
อ.ดำเนินสะดวก
จ.ราชบุรี
_________________
ที่มา
บางตอนจากหนังสื
"ทางสร้างบุญ"
_________________
ที่มาของธรรมะจา
เพจอมตวัชรวจีหลวงป๋า